'อธิบดีพช.' ทำบุญอาคารศูนย์พัฒนาอาชีพยั่งยืน อ.ลาดบัวหลวง ชวนปลูกผักสวนครัวเฟส 2 สร้างความมั่นคงอาหาร
‘อธิบดีพช.’ ทำบุญอาคารศูนย์พัฒนาอาชีพยั่งยืน อ.ลาดบัวหลวง ชวนปลูกผักสวนครัวเฟส 2 ดีเดย์ 1 ก.ค. สร้างความมั่นคงอาหาร
เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลพระยาบันลือ อำเภอลาดบัวหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) กระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีทำบุญเพื่อความเป็นสิริมงคล อาคารศูนย์การเรียนรู้การพัฒนาอาชีพอย่างยั่งยืนในพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยมีนายจักรกฤษณ์ ทองทับ เจ้าหน้าที่งานในพระองค์ นายชวลิต ธูปตาก้อง ที่ปรึกษาผู้ตรวจการแผ่นดิน นางสาวเรไร แย้มสะอาด ผู้อำนวยการสำนักเครือข่ายและการมีส่วนร่วม นางสาวนุชนาถ ประทีปธีรานันต์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายชนาธิป โคกมณี นายอำเภอลาดบัวหลวง พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนจำนวนมากเข้าร่วมพิธี โดยมีอาจารย์โสภณ สืบสม ประธานมูลนิธิบ้านจิตธรรมดี ทำพิธีบวงสรวง และอาจารย์ประดิษฐ์ รัตนโกมล ประธานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทำพิธีดุอา
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ผู้แทนภาคส่วนต่าง ๆ และประชาชน ชาวตำบลพระยาบันลือ ได้พร้อมใจกันจัดงานพิธีทำบุญอาคารศูนย์การเรียนรู้ การพัฒนาอาชีพอย่างยั่งยืนในพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงห่วงใยและทรงคำนึงถึงความอยู่ดีมีสุขของประชาชนเป็นสำคัญ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ดำเนินโครงการพัฒนาอาชีพอย่างยั่งยืนในพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อช่วยเหลือประชาชนซึ่งมีฐานะยากจนในพื้นที่ตำบลพระยาบันลือ
“พช.กระทรวงมหาดไทยได้น้อมนำแนวทางที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงพระราชทานไว้ เพื่อพัฒนาอาชีพประชาชนอย่างยั่งยืน โดยผมได้นำทีมงานจากกรมการพัฒนาชุมชน ไปศึกษาเรียนรู้ที่ อบต.โก่งธนู จังหวัดลพบุรี ซึ่งเป็นต้นแบบในการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร ที่พระองค์พระราชทานผ่านมูลนิธิชัยพัฒนา และศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ อีกทั้งยังทรงเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมด้วยพระองค์เอง จึงขอเชิญชวนให้พี่น้องทุกคนร่วมกันปลูกพืชผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหาร โดยในขณะนี้เราดำเนินการมาได้ 89 วัน และมีเปอร์เซ็นต์การร่วมปลูกผักทั้งหมดคือ 95.6 % จาก 12,976,932 ครัวเรือนทั่วประเทศ ทำให้เรามีอาหารปลอดภัยไว้รับประทาน อาหารที่ไม่มีสารพิษ ไม่มียาฆ่าแมลง และทำให้ครัวเรือนประหยัดรายจ่าย คิดเป็นครัวเรือนละ 50 บาทต่อวัน หากทำได้ครบตามเป้าหมาย กว่า 12 ล้านครัวเรือนนั้น จะลดรายจ่ายได้กว่า 600 ล้านบาท ผู้ที่ทำจะต้องทำด้วยจิตใจที่แน่วแน่ มุ่งมั่น และเชื่อมั่นในสิ่งที่ทำ โดยกรมการพัฒนาชุมชนชักชวนผู้นำในแต่ละจังหวัด รวมถึงข้าราชการกรมการพัฒนาชุมชน มาช่วยกันปลูกและช่วยเชิญชวนพี่น้องประชาชน ซึ่งปลูกกันได้ถึงครัวเรือนละกว่า 20 ประเภท และความสำเร็จนี้ก็เกิดขึ้นได้เพราะเราทุกคนร่วมมือกัน โดยในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ผ่านมา นอกจากจะสามารถนำผลผลิตมารับประทานในครัวเรือนแล้ว ยังแปรเป็นรายได้ได้ด้วย อาทิ ชาวตำบลโก่งธนู ที่ได้นำพืชผักสวนครัวจำนวนมาก ไปขายให้ผู้คนในอำเภอเมืองฯ จังหวัดลพบุรี เป็นเครื่องยืนยันว่าถ้าปลูกกันทุกบ้าน ก็สามารถนำมาแบ่งปัน ขาย และแปรรูปได้”อธิบดี พช. กล่าว
นายสุทธิพงษ์กล่าวด้วยว่า ในวันที่ 1 กรกฎาคม เป็นเดือนมหามงคล เป็นเดือนเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 กรมการพัฒนาชุมชนขอความกรุณาทุกภาคส่วนของจังหวัด ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ ตลอดจนผู้นำทางศาสนา ช่วยกันขับเคลื่อนให้โครงการปลูกพืชผักสวนครัวสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร ให้มีความมั่นคงอย่างแท้จริง ซึ่งการจะมีความมั่นคงอย่างแท้จริง ต้องมีการทำอย่างต่อเนื่อง เพราะการต่อเนื่องจะกลายเป็นพลัง และขอให้ช่วยกันรณรงค์ต่อไป ซึ่งเป็นเฟสที่ 2 ของโครงการปลูกผักสวนครัวนี้
“เฟสที่ 2 นี้ มีการดำเนินงานเพิ่มเติม อันดับแรก คือ ปลูกผักสวนครัวจาก 5 อย่างเป็น 10 อย่าง อันดับ 2 คือ ร่วมกันสร้างวัฒนธรรมสีเขียว คือร่วมการแยกขยะ ทำบ้านเมืองของเราให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี นำขยะเปียกไปทำปุ๋ยหมัก นำปุ๋ยหมักนั้นไปใส่ต้นไม้ อันดับที่ 3 การปลูกพืชผักสวนครัวคราวนี้ ให้มุ่งเน้นในการต่อยอดให้เป็นอาชีพได้ ตอบรับกับอาคารที่เรา กำลังจะทำพิธี เพื่อความเป็นสิริมงคล คืออาคารศูนย์การเรียนรู้ พัฒนาอาชีพอย่างยั่งยืน ในพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพราะฉะนั้นในเฟสที่ 2 นี้ กรมการพัฒนาชุมชนขอร้องให้ผู้นำทั้งหลาย ช่วยกันชวนชาวบ้าน ปลูกพืชผักสวนครัวอย่างน้อย 2 ประเภท คือ
1. พืชผักสวนครัวที่เราใช้กินในชีวิตประจำวัน ซึ่งช่วยลดรายจ่ายในครอบครัวได้ 2.พืชผักสวนครัวคู่ชีวิตหรือคู่บ้าน ความหมายคือ ปลูกทีเดียวจะอยู่กับเราตลอดชีวิต ประกอบไปด้วย กล้วยน้ำว้า กล้วยไข่ กล้วยหอม มะกรูด มะนาว หัวข่า ตะไคร้ อยากให้ปลูกกันทุกบ้าน ปลูกครั้งเดียวลูกหลานมีกินมีใช้ยาวนาน ไว้แบ่งปัน และสามารถนำมาแปรรูปได้
นอกจากนี้ในเฟส 2 ขอเชิญชวนให้ทุกคนน้อมนำโครงการพระราชดำริฯ เรื่องการตั้งธนาคารเมล็ดพันธุ์พืช เพื่อแจกจ่ายให้สำหรับคนที่ไม่มีพันธุ์พืช และปรับปรุงข้อมูลผลิตภัณฑ์แปรรูปต่างๆ รวมถึงข้อมูลทางโภชนาการ ให้เป็นภาษาอังกฤษด้วย เพื่อเผยแพร่สู่สากล
สิ่งต่างๆที่เรียนรู้มาจากโครงการพระราชดำริที่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชทานไว้นั้น ถ้าทำอย่างนี้ชีวิตของเรามีความยั่งยืนแน่นอน และสามารถรวมกันเป็นกลุ่มก้อน อาทิ กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ซึ่งเสมือนไม้ไผ่หลายกิ่งมารวมกันทำให้หักไม่ได้ เพราะฉะนั้นชาวพระยาบันลือจะช่วยเป็นแหล่งอาหารของประเทศเราได้
“หวังเป็นอย่างยิ่งว่าประชาชนตำบลพระยาบันลือ จะได้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าจากอาคารศูนย์การเรียนรู้การพัฒนาอาชีพอย่างยั่งยืนในพระราชดำริสมเด็จ พระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีนี้ เพื่อเสริมสร้าง พัฒนาคุณภาพชีวิต และส่งเสริมการมีอาชีพให้กับพี่น้องประชาชนในตำบลพระยาบันลือ นำไปสู่การสร้างประโยชน์การพัฒนาประเทศชาติต่อไป”นายสุทธิพงษ์ กล่าวและว่า ทั้งนี้องค์การบริหารส่วนตำบลพระยาบันลือ ได้ขอรับงบประมาณจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเพื่อก่อสร้างอาคารศูนย์การเรียนรู้การพัฒนาอาชีพอย่างยั่งยืนในพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้น ขนาดความกว้าง 45 เมตร ยาว 55 เมตร งบประมาณ 31,500,000 บาท เพื่อเป็นแหล่งรวบรวม และเผยแพร่องค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี พร้อมนวัตกรรมต่างๆ ที่เหมาะสม