รีเซต

หมอประสิทธิ์ ยันโควิดยังไม่เข้าโรคประจำถิ่น เตือนคุมไม่ดีพุ่งอีก ย้ำต้องบูสต์วัคซีนไม่ต่ำกว่า 50%

หมอประสิทธิ์ ยันโควิดยังไม่เข้าโรคประจำถิ่น เตือนคุมไม่ดีพุ่งอีก ย้ำต้องบูสต์วัคซีนไม่ต่ำกว่า 50%
มติชน
25 เมษายน 2565 ( 12:29 )
65
หมอประสิทธิ์ ยันโควิดยังไม่เข้าโรคประจำถิ่น เตือนคุมไม่ดีพุ่งอีก ย้ำต้องบูสต์วัคซีนไม่ต่ำกว่า 50%

เมื่อวันที่ 25 เมษายน ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ถึงวิเคราะห์สถานการณ์โรคโควิด-19 ในต่างประเทศและในประเทศไทย พร้อมแนวโน้มการเดินเข้าสู่โรคประจำถิ่นว่า ปัจจุบันองค์การอนามัยโลกระบุว่าโควิด-19 สายพันธุ์ที่ถูกจับตามอง ณ ขณะนี้มี 2 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์เดลต้า และ สายพันธุ์โอมิครอน แต่อีกไม่นานเชื่อว่าเดลต้าจะถูกกลืนเหลือแต่โอมิครอน ซึ่งโอมิครอนจะรวมสายพันธุ์ย่อยต่างๆ รวมทั้ง X ซีรีส์ เนื่องจากมีข้อมูลว่ามีแนวโน้มเชื้อแพร่กระจายเร็วกว่า BA.2 ประมาณร้อยละ 10 แต่ความรุนแรงไม่ได้มากกว่า

 

ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดทั่วโลก ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อ 505,817,953 ราย เสียชีวิตสะสม 6213876 คน แต่หากพิจารณาการเสียชีวิตรายวันพบว่าเริ่มลดลงจาก 2 ปัจจัย คือ ตัวไวรัส และ ทั่วโลกมีการฉีดวัคซีนป้องกันมากแล้วจำนวนหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน 2565 อัตราการติดเชื้อของยุโรปยังลดลงค่อนข้างช้า แต่ทวีปอเมริกาลดลงอย่างรวดเร็ว ขณะที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทวีปแปซิฟิกตะวันตก (Western Pacific) ก็เริ่มลดลง สรุปคือ หลายพื้นที่เริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง

 

“ข้อมูลเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2565 ทั่วโลกฉีดวัคซีนแล้ว 11,544,346,261 โดส ฉีดวันละกว่า 13 ล้านโดส เฉลี่ยประชากรโลก 100 คน ได้รับวัคซีน 147 โดส แต่ยังมีคนทั่วโลกไม่ได้รับวัคซีนครบ 2 โดสอยู่ จึงต้องเร่งดำเนินการฉีดให้มากขึ้น สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อแต่ละประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา ขณะนี้อัตราการติดเชื้อเป็นขาลง ตัวเลข 4-5 หมื่นราย แม้จะยังมากแต่น้อยกว่าเดิม เสียชีวิตเลข 3 หลัก

 

“ล่าสุดวันที่ 23 เมษายน เสียชีวิต 77 คน ซึ่งอเมริกามีการฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 571 ล้านโดส จากประชากรกว่า 334 ล้านคน ฉีดวันละ 5 แสนคน โดยคนอเมริกันประมาณร้อยละ 76.7 ได้รับวัคซีน 1 เข็ม ร้อยละ 65.4 ได้รับ 2 เข็ม และร้อยละ 29.7 ได้รับเข็มกระตุ้น (บูสเตอร์ โดส) เห็นว่าคนอเมริกันส่วนหนึ่งก็ไม่รับวัคซีนครบ 2 เข็ม” ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าว

 

ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวว่า สหราชอาณาจักร ก็เป็นอีกประเทศที่มีการทดสอบระบบหลายๆ อย่าง มีการเปิดฟรีดอม เดย์ เลิกสวมหน้ากากอนามัย แต่สุดท้ายก็ต้องกลับมาควบคุม เพราะมีการแพร่ระบาดของโอมิครอน อัตราการเสียชีวิตยังไม่ได้ลดเหมือนสหรัฐ ขณะที่ฉีดวัคซีนแล้วกว่า 141 ล้านโดส จากประชากรกว่า 68 ล้านคน และร้อยละ 79.1 ได้รับ 1 เข็ม โดยร้อยละ 74 ได้รับ 2 เข็ม และร้อยละ 58.2 ได้รับเข็มกระตุ้นแล้ว ญี่ปุ่น เป็นประเทศที่มีคนสูงวัยมาก ขณะนี้ดีขึ้น จากเดิมติดเชื้อเป็นแสนราย แต่ปัจจุบันติดเชื้อครึ่งแสน อย่างไรก็ตาม เป็นประเทศที่ฉีดวัคซีนแล้วกว่า 267 ล้านโดส ในประชากรกว่า 125 ล้านคน โดยฉีดวัคซีนกระตุ้นร้อยละ 50.2 ซึ่งขณะนี้ญี่ปุ่นกำลังเร่งฉีดวัคซีนสูงมาก

เกาหลีใต้ เคยเป็นประเทศที่ได้รับการยกย่องว่าควบคุมโควิดได้ดี โดยเฉพาะปีแรกๆ แต่หลังจากมีโอมิครอน สถานการณ์เกาหลีใต้เปลี่ยนไป ทำให้การติดเชื้อเพิ่มอย่างมาก โดยช่วงติดเชื้อมากๆ ถึงวันละ 2-3 แสนคน และเสียชีวิตเกือบ 500 คนต่อวัน แต่ขณะนี้ลดลง โดยฉีดวัคซีนแล้วกว่า 122 ล้านโดส จากประชากร 51 ล้านคน ซึ่งถือว่าฉีดกันมาก การฉีดเข็มกระตุ้นไปแล้วร้อยละ 63.8 ส่วน เวียดนาม ขณะนี้ติดเชื้อเฉลี่ยน้อยกว่าไทย โดยอัตราการเสียชีวิตน้อยมาก บางวันเหลือเลข 1 หลัก ซึ่งฉีดวัคซีนแล้วกว่า 208 ล้านโดส จากประชากร 98 ล้านคน” ศ.นพ.ประสิทธิ์ระบุ

ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวว่า ด้าน มาเลเซีย เป็นประเทศที่คู่ขนานกับไทยมาตลอด และการเกิดโอมิครอน ขณะนั้นในมาเลเซียเดลต้ายังไม่สิ้นสุด ตัวเลขติดเชื้อจึงสูงวันละ 3 หมื่นราย แต่วันนี้น้อยลง และเสียชีวิตลดลงบางวันเหลือเลข 1 หลัก ซึ่งคล้ายกับเวียดนาม โดยฉีดวัคซีนแล้วกว่า 69 ล้านโดส ในประชากร 33 ล้านคน มีการฉีดเข็มกระตุ้นแล้วร้อยละ 48.6 สิงคโปร์ มีการติดเชื้อประมาณ 2-3 พันรายต่อวัน แต่อยู่ในช่วงขาลง รวมทั้งอัตราการเสียชีวิตด้วย บางวันไม่มีคนเสียชีวิต โดยฉีดวัคซีนแล้วกว่า 13 ล้านโดส จากประชากรกว่า 5 ล้านคน เกือบร้อยละ 70 ได้รับการฉีดเข็มกระตุ้นแล้ว

“สิ่งที่จะย้ำคือมาตรการวัคซีนมีความสำคัญ แต่อาจไม่พอ หากใช้วัคซีนอย่างเดียว ต้องมีมาตรการอย่างอื่นด้วย แต่การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นยังสำคัญ โดยต้องตั้งเป้าหมายให้ได้อย่างน้อยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 เพราะประเทศที่คุมได้ดีจะฉีดวัคซีนกระตุ้นเกินร้อยละ 50” ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าว และว่า สำหรับ ประเทศไทย ติดเชื้อวันละกว่า 2 หมื่นราย เสียชีวิตยังเลข 3 หลัก ฉีดวัคซีนโควิดแล้วกว่า 132 ล้านโดส จากประชากรกว่า 70 ล้านคน ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นร้อยละ 36.6 ยังห่างไกลจากร้อยละ 50 จึงจำเป็นต้องเร่งฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น หากต้องการให้ตัวเลขเสียชีวิตเหลือ 2 หลัก ขณะนี้ยังเลข 3 หลัก อย่างไรก็ตาม 3-4 วันที่ผ่านมา เริ่มเห็นตัวเลขไม่ค่อยขึ้นในผู้ป่วยปอดอักเสบ หากนิ่งแบบนี้เรื่อยๆ ภายใน 1-2 สัปดาห์ คาดว่าจะเห็นตัวเลขเสียชีวิตลดลง

ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวถึงทิศทางนำโควิด-19 เป็นโรคประจำท้องถิ่นว่า จากข้อมูลคือการเกิดขึ้นของโอมิครอนเกือบ 5 เดือนแล้วที่โลกได้รู้จัก และข้อมูลยังเหมือนกันคือความรุนแรงต่ำกว่าสายพันธุ์เดลต้า แต่สายพันธุ์นี้แพร่เร็วกว่าเดลต้า อย่างไรก็ตาม โอมิครอนมีคุณลักษณะแพร่กระจายเร็วและไม่รุนแรง จึงทำให้นักวิชาการจำนวนไม่น้อยมองว่าน่าจะถึงเส้นที่โควิด-19 จะเดินทางไปสู่โรคประจำถิ่น ทั้งนี้ ความเหนื่อยล้าจากการที่ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีการล็อกดาวน์เป็นครั้งคราว มีการรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล สังคมไม่ได้ใกล้ชิดเหมือนเดิม ต้องสวมหน้ากากอนามัย ต้องทำงาน ต้องเรียนทางไกล ซึ่งทุกคนอยากเห็นโควิด-19 ไปสู่ปลายทางการแพร่ระบาด และนำไปสู่โรคประจำท้องถิ่น

“สำหรับนิยามกว้างๆ ของโรคประจำท้องถิ่น เป็นโรคที่พบได้สม่ำเสมอในกลุ่มคน กลุ่มพื้นที่ หรือช่วงเวลาที่คาดการณ์ได้ อาจมีการระบาดมากบ้าง เป็นครั้งคราว แต่มักไม่เกินระดับที่คาดหมาย โดยทั่วไปเป็นโรคที่มีมาตรการ หรือวิธีการควบคุม ที่สำคัญที่ต้องย้ำคือ โรคประจำถิ่นยังมีอัตราการเสียชีวิตได้ อย่างโรคมาลาเรีย หรือไข้ป่า จนถึงตอนนี้ยังคร่าชีวิตคนปีละกว่า 4 แสนราย หรือบางโรคเริ่มเป็นการติดเชื้อ Herpes ซึ่งอาจพบได้มากถึงครึ่งหนึ่งของประชากรบางพื้นที่ แต่เพียงมีอาการไม่มาก

สถานการณ์เวลานี้ การติดเชื้อโควิด-19 ยังไม่เข้าข่ายของโรคประจำท้องถิ่น และยังมีโอกาส แม้จะดูไม่มากที่กลับเกิดการแพร่ระบาดใหญ่อีก จึงยังไม่อยากให้ประมาท ที่สำคัญนิยามโรคประจำท้องถิ่นก็ไม่ได้เหมือนกันหมด” ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวย้ำ

ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวต่อไปว่า หลากหลายประเทศก็เริ่มมีนโยบายให้เกิดสมดุลระหว่างสุขภาพและเศรษฐกิจ ประเทศไทยก็เช่นกัน ซึ่งทั้งหมดมองให้ดีก็อาจเป็นปัจจัยความเสี่ยงให้โควิด-19 กลับมาแพร่ระบาด แต่ก็ต้องวิ่งไปให้เศรษฐกิจดีขึ้น แต่ยังต้องบริหารความเสี่ยงของโควิด-19 โดยเน้นการป้องกันและการรักษา สำหรับไวรัสที่แพร่กระจายมากมาย จะป้องกันไม่ให้ติดเชื้อค่อนข้างยาก แต่ลดการติดเชื้อได้ และหากติดเชื้อแล้วและไม่รุนแรง และไม่เสียชีวิตจะเป็นเป้าหมายที่ดี

ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวว่า การป้องกันความเสียหายของโควิด-19 วิธีดีที่สุด ณ เวลานี้ คือการฉีดวัคซีน 2 เข็มหลัก และเข็มกระตุ้น ซึ่ง 2 เข็มหลักไม่พอ ต้องมีเข็มกระตุ้น และคู่ขนานกับการสวมหน้ากากอนามัย โดยโควิด-19 เมื่อมีการกลายพันธุ์ประสิทธิภาพวัคซีนจะลดลง ยิ่งเจอโอมิครอน ดังนั้น มาตรการการป้องกันตัวเอง อย่างการสวมหน้ากากอนามัยจึงสำคัญ รวมทั้งการตรวจ ATK เมื่อจำเป็น อย่างไรก็ตาม สำหรับสมดุลการรักษาโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ขณะนี้ไม่เน้นการรักษาในโรงพยาบาล (รพ.) เพราะอาการไม่รุนแรง ซึ่งเมื่อไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง จึงมีแนวโน้มให้รักษานอก รพ. และมีการเฝ้าติดตามผ่านระบบการลงทะเบียน เพื่อให้เตียงใน รพ.ว่างพอดูแลผู้ป่วยโรคอื่นๆ ที่ไม่ใช่โควิด-19 แต่จำเป็นต้องรักษาใน รพ.

“สำหรับคนกลุ่มเสี่ยงที่สำคัญ ไม่ใช่แค่ 608 แต่คนไม่ได้ฉีดวัคซีน หรือฉีดครบ 2 เข็มแล้ว แต่เกิน 3 เดือนขึ้นไป คนเหล่านี้ หากมีอาการ แม้เล็กน้อยก็ต้องรีบเข้า รพ. โดยจากการติดตามข้อมูล 6-8 สัปดาห์ ในแต่ละวันที่มีคนเสียชีวิตพบว่าประมาณร้อยละ 50-60 ไม่ได้ฉีดวัคซีน และประเทศไทยเรายังมีคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนอีกกว่า 2 ล้านคน และพบว่าร้อยละ 30 หรือ 1 ใน 3 คน คือ คนที่ฉีดวัคซีนไปแล้ว 2 เข็ม และเข็มที่ 2 เกิน 3 เดือนแล้ว และไม่ได้กลับมาฉีด อีกทั้งยังมีร้อยละ 10 ฉีดไปแล้ว 1 เข็ม แต่ไม่ฉีดต่อ รวมๆ 3 ตัวเลขนี้ เกือบร้อยละ 90 ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ฉีดวัคซีนไม่สมบูรณ์จะเสี่ยงด้วย

เมื่อวันที่ 14 เมษายนที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลกเตือนอย่างเป็นทางการว่าโควิด-19 ยังไม่ได้เข้าสู่สถานการณ์เป็นโรคประจำท้องถิ่น แม้มีแนวโน้ม แต่ยังไม่ถึง และอาจเกิดการกลายพันธุ์ และในบางประเทศอาจเกิดการระบาดใหญ่ได้อีก สรุปคืออย่าด่วนตัดสิน จนละเลยสิ่งต่างๆ ที่เราทำกันมาร่วม 2 ปี ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าว

ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวว่า ความสำเร็จจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของ 3 ฝ่าย คือฝ่ายที่กำหนดมาตรการและนโยบาย ต้องมีความรอบคอบในการกำหนดมาตรการ ต้องชัดเจนเพื่อเอาไปปฏิบัติ ฝ่ายที่ดำเนินการตามมาตรการและนโยบายก็ต้องมุ่งมั่น มีความรับผิดชอบ ซึ่งไม่ใช่บุคลากรสุขภาพ แต่ผู้ประกอบการด้วย และฝ่ายที่ได้รับผลจากมาตรการและนโยบาย ต้องได้รับความร่วมมือและมีวิจัยในการดูแลตัวเอง อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญของช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ คือการฉีดวัคซีนจำเป็นต้องฉีดเข็มกระตุ้น และการเตรียมความพร้อมของระบบการดูแลสุขภาพคือ “คน ของ เตียง” และการมีส่วนร่วมของประชาชนที่จะช่วยกันป้องกันการรับและแพร่เชื้อ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง