ถ้าใครขับรถผ่านแถวทะเลน้อย อ. ควนขนุน จ.พัทลุง จะพบเห็นสินค้ากระจูดโดยเฉพาะกระเป๋าเรียงรายอยู่ทั่วไป ในอดีตชาวบ้านนำกระจูดมาสานเป็นเสื่อไว้ปูในบ้านหรือสานเป็นภาชนะไว้ใส่ของ แต่ด้วยวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป ความนิยมในการใช้เสื่อกระจูดค่อย ๆ ลดลง และเริ่มมีจักรเย็บผ้าเข้ามา ชาวบ้านจึงเริ่มนำเสื่อกระจูดมาตัดเย็บเป็นกระเป๋าและเครื่องใช้ต่าง ๆ แต่ด้วยการออกแบบที่ยังดูไม่ทันสมัย ภาพลักษณ์เป็นสินค้าโอทอปสำหรับผู้สูงวัยเลยยังไม่ได้รับความนิยม แต่ปัจจุบันได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐและคนรุ่นใหม่หันมาพัฒนาของดีของท้องถิ่นตัวเอง คำว่าเชยจึงได้ถูกไอเดียสร้างสรรค์ลบออกไปเรื่อย ๆ จนสามารถขยับกลุ่มลูกค้าไปจนถึงวัยรุ่น โดยลวดลายในการสานส่วนใหญ่ยังเหมือนเดิม แต่เพิ่มเติมลูกเล่นต่าง ๆ เข้าไป เช่น การปักเย็บลวดลายต่าง ๆ ลงบนกระเป๋า, การออกแบบรูปทรงให้ทันสมัย และการสร้างความเป็นยูนีคด้วยการเพ้นท์ภาพหรือชื่อเจ้าของลงไป ให้เป็นกระเป๋าที่มีใบเดียวในโลก แต่กว่าจะมาเป็นกระเป๋าที่สวยงามนั้นขั้นตอนต่าง ๆ ไม่ง่ายเลยเริ่มตั้งแต่ชาวบ้านจะไปถอนต้นกระจูดซึ่งเป็นพืชน้ำจำพวกกก ต้นยาว ๆ เล็ก ๆ ที่ขึ้นอยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำหรือป่าพรุ ซึ่งมีมากในจังหวัดพัทลุง, นครศรีธรรมราช โดยกระจูดอายุ 6-7 เดือนก็สามารถนำไปใช้จักสานได้แล้ว หากไม่ถอนมันจะตายยกกอและกลายเป็นวัชพืช จากนั้นนำไปคลุกน้ำโคลน โคลนจะช่วยให้กระจูดเขียวและไม่กรอบ จากนั้นนำไปตากแดดให้แห้ง นำไปรีดและย้อมสีต่อไป ปัจจุบันมีเครื่องรีดกระจูดที่ช่วยอำนวยความสะดวก แต่ในสมัยก่อนการรีดกระจูดเป็นขั้นตอนที่เรียกเหงื่อได้ไม่น้อย โดยชาวบ้านจะรีด 2 ขั้นตอน ขั้นตอนแรกเรียกว่า "การกลิ้งจูด" คือ การนำกระจูดเป็นมัด ๆ ไปทำให้แบนด้วยลูกกลิ้งที่ทำจากปูนเป็นทรงกระบอกคล้าย ๆ ครกตำข้าว กลิ้งทับไปมาบนกระจูดจนแบน ขั้นตอนนี้คนกลิ้งต้องมีทักษะในการทรงตัวและควบคุมลูกกลิ้ง ไม่งั้นลูกกลิ้งอาจกลิ้งออกไปนอกลู่ได้ ต่อไปเป็นขั้นตอน "การทิ่มจูด" คือ การนำไปทุบต่อด้วยไม้เหมือนสากที่ไว้ตำข้าวซ้อมมือ ทำเหมือนการตำข้าวเพื่อให้กระจูดแบนและนิ่มมากขึ้น ขั้นตอนนี้กล้ามขึ้นกันเลยทีเดียว จากนั้นก็ปอกกาบที่โคนต้นออก เป็นอันเสร็จพร้อมนำไปสานได้การสานจะสานสลับเส้นกันระหว่างโคนกับปลายเพราะส่วนโคนจะใหญ่และค่อย ๆ เรียวเล็กลง โดยลายพื้นฐานที่สาน คือ ลายสอง หยิบสองเส้นเว้นสองเส้น สานไปเรื่อย ๆ เหลือปลายไว้ประมาณ 3-4 นิ้ว ถ้าทำเสื่อจะพับเก็บปลายที่เรียกว่า "การเม้น" เพื่อเป็นการยึดแต่ละเส้นไม่ให้หลุดจากกัน จากนั้นตัดปลายให้เรียบร้อย แต่ถ้านำไปทำกระเป๋าก็ไม่ต้องเม้นแต่จะใช้การเย็บแทน ส่วนการย้อมสีจะนิยมน้อยลงเพราะตลาดนิยมสีธรรมชาติและนิยมนำไปตกแต่งลวดลายภายหลังเมื่อพูดถึงกระจูดคงไม่มีใครไม่รู้จัก "คุณมนัทพงศ์ เซ่งฮวด" แห่งหัตถกรรมกระจูดวรรณี เพราะเขาเป็นคนสร้างมิติใหม่ให้กับกระจูด โดยนำความรู้สมัยใหม่ด้านการออกแบบมาผสมผสานกับภูมิปัญญาดั้งเดิมของท้องถิ่น จนกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่สวยงาม ทันสมัยและทำให้กระจูดเป็นที่รู้จักของต่างชาติ ปัจจุบันหัตถกรรมกระจูดวรรณีจัดตั้งเป็นโฮมสเตย์ อยู่ที่ ต.พนางตุง อ.ควนขนุน จ.พัทลุง ให้นักท่องเที่ยวได้มาดื่มด่ำกับบรรยากาศที่รายล้อมไปด้วยกระจูดและเป็นแหล่งเรียนรู้ในการทำผลิตภัณฑ์กระจูดครบวงจร มีกิจกรรมตั้งแต่พาไปถอนต้นกระจูดจนถึงการลงมือสานกระเป๋า และได้ผลงานของตัวเองติดไม้ติดมือกลับไปด้วย ใครสนใจก็เข้าไปดูรายละเอียดได้ในเพจ "VARNI CRAFT" ส่วนใครอยากท่องเที่ยวสัมผัสวิถีชีวิตชาวบ้านแบบแท้จริง ได้ช่วยอุดหนุนสินค้าชุมชน ก็สามารถมาเที่ยวได้ที่บ้านทะเลน้อย ต.ทะเลน้อย อ.ควนขนุน ซึ่งมีกลุ่มผลิตภัณฑ์กระจูดมากมาย หรือจะเป็นกลุ่มหัตถกรรมกระจูดที่บ้านท่าสำเภา ต.ชัยบุรี อ.เมือง ซึ่งอยู่ไม่ไกลกัน นอกจากจะได้เต็มอิ่มกับวิถีการทำกระจูดแล้วยังมีธรรมชาติสวย ๆ รอให้ทุกคนมาสัมผัสอีกมากมาย เที่ยวเมืองไทย ไม่ไปไม่รู้ จริง ๆ ค่ะ ภาพโดยผู้เขียน รูป 1-9ขอบคุณภาพจากเพจ VARNI CRAFT ภาพปก, รูป 10, รูป 11, รูป 12