รีเซต

ฟุ้งราคายางพุ่ง-ทั่วโลกต้องการใช้สูง พาณิชย์เร่งส่งมอบอีก 5 แสนตัน มูลค่า 48,000 ล้าน

ฟุ้งราคายางพุ่ง-ทั่วโลกต้องการใช้สูง พาณิชย์เร่งส่งมอบอีก 5 แสนตัน มูลค่า 48,000 ล้าน
ข่าวสด
1 ตุลาคม 2563 ( 15:02 )
60

ฟุ้งราคายางพุ่ง-ทั่วโลกต้องการใช้สูง พาณิชย์เร่งส่งมอบอีก 5 แสนตัน มูลค่า 48,000 ล้าน ที่ทำสัญญาซื้อขายกับผู้นำเข้าไว้ก่อนที่โควิด-19 ระบาด

 

ฟุ้งราคายางพุ่ง - นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ กล่าวการส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางในช่วง 8 เดือน (ม.ค.-ส.ค. 2563) ว่า มีการส่งออกแล้วประมาณ 300,000 ล้านบาท โดยเป้าหมายทั้งปีคาดว่าจะส่งออกไปได้มูลค่า 350,000 ล้านบาท โดยผลผลิตในปีนี้คาดว่าผลผลิตจะได้ 4.91 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1.45% ผลผลิตยางไทยคิดเป็น 35-40% ของผลผลิตโลก เดือนก.ย.-ธ.ค. จะเป็นช่วงที่ผลผลิตออกมามาก แต่ปัจจุบันออกมาน้อยเพราะมีฝนตกชุกและขาดแคลนแรงงานต่างด้าว ประกอบกับราคายางในประเทศไทยสูงกว่าประเทศคู่แข่ง เช่น เวียดนาม ซึ่งต่อไปการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ต้องเร่งประชาสัมพันธ์คุณภาพยางไทยให้เป็นที่รับรู้ของโลกว่าคุณภาพของเราเหนือกว่าประเทศคู่แข่งเกือบทุกประเทศ

 

ขณะที่ด้านการตลาด 85% ของผลผลิตยางไทยส่งออกไปต่างประเทศในปีที่ผ่านมา ส่งออกไปจำนวน 4.53 ล้านตัน ความต้องการใช้ของตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะตลาดจีน ทั้งในส่วนของอุตสาหกรรมถุงมือยางและยางรถยนต์ และความต้องการใช้ในประเทศกระเตื้องขึ้น จากมาตรการส่งเริมการใช้ยางพาราในประเทศ เช่น โครงการคอนกรีตหุ้มแผ่นยางและเหล็กนำทาง ซึ่งในอนาคตตั้งเป้าจะใช้ยางในประเทศให้มากขึ้นเป็น 20% จากเดิมใช้เพียง 15%

 

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ร่วมมือกับกยท. และภาคเอกชนในการจับคู่ธุรกิจเพื่อเร่งรัดการส่งออกยางของไทย โดยดำเนินการมาตั้งแต่ 23 ก.ย.-1 ต.ค. 2563 ได้มีการจับคู่ธุรกิจไปแล้ว ถึง 69 คู่ มีการเจรจาระหว่างประเทศผู้นำเข้าทั้งหมด 20 ประเทศ และผู้ส่งออกของไทย 42 ราย 20 ประเทศประกอบด้วย จีน เกาหลี ไต้หวัน อินเดีย เช็ก ฝรั่งเศส ฮังการี รัสเซีย สหราชอาณาจักร มาเลเซีย กัมพูชา เวียดนาม เมียนมา อินโดนีเซีย ตุรกี อียิปต์ ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐ และอาร์เจนตินา มียอดการเซ็นสัญญาซื้อขาย 23,000 ตัน มูลค่า 1,450 ล้านบาท และยังเหลือเวลาการจัดงานอีก 1 วัน คือวันที่ 2 ต.ค. คาดว่าจะทำยอดขายได้เพิ่มเติมอีก นอกจากนี้ ยังจะเร่งรัดให้มีการส่งมอบยางที่ได้ทำสัญญาซื้อขายกับผู้นำเข้าไว้ก่อนที่โควิด-19 ระบาดที่ยังค้างส่งมอบอยู่ 500,000 ตัน มูลค่า 48,000 ล้านบาท

 

สำหรับราคายางในประเทศสำหรับยางแผ่นดิบท้องถิ่นในเดือนก.ย. 2563 ราคา 51.27 บาท/ก.ก. เพิ่มขึ้น 13.08 บาท จากปีที่แล้วในช่วงเดียวกันที่ราคา 38.19 บาท/ก.ก. ราคาน้ำยางสด ณ โรงงาน 47.25 บาท/ก.ก. เพิ่มขึ้น 7.54 บาท/ก.ก. จากปีที่แล้วในช่วงเดียวกันที่ราคา 39.71 บาท/ก.ก. ราคาประมูล ณ ตลาดกลางยางพารา อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา แบ่งเป็นยางแผ่นดิบ 53.96 บาท/ก.ก. เพิ่มขึ้น 14.38 บาท/ก.ก. จากปีที่แล้วในช่วงเดียวกันที่ราคา 39.58 บาท/ก.ก. ส่วนราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 ราคา 56.91 บาท/ก.ก. เพิ่มขึ้น 15.19 บาท/ก.ก. จากปีที่แล้วที่ราคา 41.72 บาท/ก.ก.

 

“โดยเหตุผลที่ราคายางช่วงนี้สูงขึ้นมาจากสาเหตุ 1. มาตรการเชิงรุกของรัฐบาล 2. ตลาดโลกมีความต้องการอย่างมากขึ้น สำหรับตลาดโลกนั้นเพราะเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวขึ้นมาบ้าง จากการผ่อนคลายมาตรการโควิด-19 ความต้องการรถยนต์และยางรถยนต์ก็เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการยางแผ่นและยางแท่งเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ส่วนสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้ความต้องการถุงมือยางธรรมชาติเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ความต้องการน้ำยางที่เอาไปทำถุงมือยางธรรมชาติเพิ่มสูงขึ้นไปด้วย” นายจุรินทร์ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง