การทำงานสำหรับน้องใหม่ที่เพิ่งเรียนจบ การสื่อสารสำคัญมาก แม้คนที่ทำงานนานแล้ว เก่งแล้ว แต่การสื่อสารไม่เป็น ประสานงานกับคนต่างแผนกหรือกับคนที่เข้ามาใหม่ได้ไม่ดี ก็อาจเป็นปัญหาได้ ไม่ว่าเราจะอยู่สถานะอะไรก็ตาม การสื่อสาร หรือเรียกง่ายๆการพูดคุยจึงยังเป็นสิ่งจำเป็น และเป็นสิ่งที่คนไทยส่วนใหญ่ยังมองข้ามจนกว่ามันจะเกิดเรื่องกลายมาเป็นปัญหาของตัวเอง ผลงานการเขียนของยาซุดะ ทาดาชิ จะแผ้วถางทางให้เราได้เรียนรู้ทักษะการพูด เพื่อนำไปสู่การเป็นคนชั้นแนวหน้าให้ได้ เพราะการพูดคุยเล่นเปรียบกับประตูสู่ความสัมพันธ์ต่างๆที่ทำให้อีกฝ่ายยอมรับในตัวเรา ความรู้ความประทับใจในมุมมองของครีเอเตอร์ได้เรียนรู้ว่าบรรดานักธุรกิจเก่งๆ พนักงานขายที่มีลูกค้าประจำอยู่มาก นักแสดงที่โด่งดังล้วนมีเทคนิคในการเป็นที่ชื่นชอบของคนอื่น ซึ่งอาศัยการพูดคุยไม่กี่นาที เช่น อรุณสวัสดิ์ครับ ขอบคุณครับ ฝากตัวด้วยครับ เพียงเอ่ยคำพูดสั้นๆเหล่านี้ก็สามารถแสดงถึงความสุภาพนอบน้อมและสร้างความประทับใจให้อีกฝ่ายได้แล้ว ได้เรียนรู้ว่าพนักงานขายที่ไปหาลูกค้าหลายครั้งแล้วถูกปฏิเสธเมินใส่ คนที่อยู่ในสภาพแบบนี้มักมีจุดร่วมที่เหมือนกันหลายอย่าง ได้แก่ พูดเสียงเบา เสียงต่ำไป คุยไม่สนุก คิดแต่เรื่องที่ตัวเองอยากจะพูด ไม่แสดงปฏิกิริยาตอบกลับ หรือพูดแต่เรื่องเดิมๆ ไม่ถามคำถาม หรือ ถามไม่ตรงประเด็น เป็นต้น ได้เรียนรู้ว่าหากลูกค้าเมินใส่ ลองเปลี่ยนวิธีพูดด้วยการพูดเสียงชัดขึ้น เล่าสิ่งที่อีกฝ่ายอยากฟัง ทำความเข้าใจสิ่งที่อีกฝ่ายอยากบอกก่อนแล้วค่อยพูด ถามคำถามเพื่อต่อยอดบทสนทนา ได้เรียนรู้ว่าคนเราจะประเมินอีกฝ่ายแบบคร่าวๆ ตั้งแต่นาทีแรกที่เริ่มสนทนา เต็มที่ไม่เกิน 4 นาที ถ้าเราสามารถทำให้อีกฝ่ายประทับใจในตัวเราตั้งแต่ครั้งแรกที่เจอกัน ความสัมพันธ์หลังจากนั้นจะแน่นแฟ้นขึ้น ทำให้อีกฝ่ายยอมรับคำขอร้อง หรือข้อเสนอของเราได้ง่ายขึ้น ได้เรียนรู้ว่าการนำเสนอตัวเองอย่างพอเหมาะช่วยลดระยะห่างระหว่างกันดีรวดเร็ว ทั้งนี้เราต้องไม่โอ้อวดตัวเอง หรือบ่นความผิดพลาดเล็กน้อยของตัวเองจนทำให้เราดูเป็นคนไม่เอาไหน เช่น เมื่อวานดื่มหนักไปหน่อย วันนี้ยังเมาค้างอยู่เลย ผมทำงานไม่รอบคอบ เจ้านายจึงตำหนิ หรือบ่นกับการดูแลพ่อแม่ของตัวเองให้ฟัง ได้เรียนรู้ว่าเมื่อบอกข้อมูลที่เหนือความคาดหมาย หรือฟังดูขัดแย้ง เช่น ท่าทางดูเป็นคนสบายๆแท้จริงแล้วเป็นคนจริงจัง เขาดูผอม แต่กลับกินเก่ง ท่าทางดูจริงจัง แต่เขากลับมีอารมณ์ขัน อีกฝ่ายฟังจะรู้สึกถึงเสน่ห์ของเราง่ายขึ้น แต่ก็ต้องระวังข้อมูลขัดแย้งบางเรื่องก็ไม่น่าเปิดเผย เพราะเป็นเรื่องเชิงลบ อย่างเขาดูท่าทางเป็นคนจริงจัง จริงๆแล้วเป็นคนทำอะไรแบบขอไปที ได้เรียนรู้ว่าการนำเสนอตัวเองหรือเล่าเรื่องอะไรสักอย่างต้องพูดสรุปสั้นๆ ภายใน 30 วิ หรือ 1 นาที เพื่อเปิดให้อีกฝ่ายได้พูดคุยด้วย การที่อีกฝ่ายรู้จักเราเบื้องต้นช่วยคลายความระแวงได้ส่วนหนึ่ง ได้เรียนรู้ว่าเพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจเรื่องที่เรากำลังเล่าให้ฟัง เราต้องพูดแบบให้แบ่งประโยคสั้นๆและพูดอย่างมีจังหวะจะโคน ได้เรียนรู้ว่าคนที่พูดมาก ยืดเยื้อ ไม่จบเรื่องสักที เพราะไม่มีการวางแผนมาก่อนว่าจะพูดคุยเพื่อเป้าหมายอะไร ผู้ฟังก็จะจำอะไรไม่ได้กับเรื่องที่พูดคุย คนที่พูดเก่ง (สื่อสารเก่ง) จะคำนึงถึงเป้าหมายการพูด แล้วจึงพูดได้กระชับ มีสาระสำคัญทั้งประโยค แม้แต่การคุยเล่นก็ต้องมีเป้าหมาย เช่น อยากรู้สถานการณ์ความเป็นไปของอีกฝ่าย อยากรู้เรื่องส่วนตัวของอีกฝ่าย แล้วการพูดคุยจะต่อยอดได้ ได้เรียนรู้ว่าการพูดเสียงสูงจะทำให้ผู้ฟังเกิดความรู้สึกว่าผู้พูดเป็นคนชอบเข้าสังคม การพูดเสียงต่ำ ก็ช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับเรื่องที่พูด ข้อเสียคือทำให้ผู้พูดดูเป็นคนที่มีความกดดันสูง หม่นหมอง คบด้วยยาก ได้เรียนรู้ว่าคำว่า “ขอฝากเนื้อฝากตัวด้วย” ใครที่พูดประโยคนี้ เราจะรู้สึกดีกับอีกฝ่าย และถือเป็นการสร้างโอกาสที่ช่วยให้พูดคุยกับอีกฝ่ายในภายหลังได้ ฟังดูเป็นเรื่องเล็กน้อยแต่เป็นก้าวที่สำคัญมาก ได้เรียนรู้ว่าหัวข้อต้องห้ามในการคุยเล่นที่ไม่ควรนำมาใช้ เช่น การเมือง ศาสนา เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดส่วนตัว หากคุยเรื่องเหล่านี้แบบลงลึกอาจไม่ใช่การคุยเล่นแล้ว แต่เป็นการถกเถียงแทน ได้เรียนรู้ว่าแสดงการตอบรับการฟังอย่างตั้งใจด้วยการมองตาคู่สนทนาอยู่ตลอดเวลา ถ้าเราไม่กล้าสบตา ให้มองหว่างคิ้วของเขาแทนก็ได้ แต่ต้องระวังอย่าจ้องเขม็งจนอีกฝ่ายเขารู้สึกไม่ดี ควรมองคู่สนทนาอย่างอ่อนโยนราวกับยายนั่งฟังหลานเล่าเรื่อง ได้เรียนรู้ว่าการตั้งคำถามที่ผิดพลาด อีกฝ่ายจะตัดสินภาพลักษณ์ของเราในทางที่แย่ได้ เช่น มองว่าเราเป็นคนที่ไม่มีเหตุผล คนที่หัวไม่ดี หรือ คนที่อ่านบรรยากาศไม่ออก ได้เรียนรู้ว่าถ้าไม่รู้....ควรถาม การรับมือคนอื่นด้วยการแสร้งทำเป็นรู้ แสร้งทำเป็นเข้าใจ การพูดคุยต่อไปจะทำให้อีกฝ่ายรับรู้ภายหลัง และอีกฝ่ายจะตัดสินใจตัวเราว่า “เป็นคนที่ทำอะไรแบบขอไปที เป็นคนไม่ใส่ใจ” ได้เรียนรู้ว่าเวลามีความคิดเห็นขัดแย้งกัน การยอมรับความคิดเห็นของอีกฝ่ายด้วยการพูดว่า “ผมไม่ทันคิดให้รอบคอบเอง ขอโทษด้วยนะครับ” เป็นวิธีรับมือที่ถูกต้อง แม้ในสถานการณ์ที่เราน่าจะเป็นฝ่ายถูกก็ตาม โดยเฉพาะตอนเจรจาธุรกิจที่ต้องพูดอย่างประนีประนอม ได้เรียนรู้ว่าหากเราเอ่ยถึงเรื่องที่อีกฝ่ายเคยบอกเมื่อครั้งก่อน แล้วเรานำสิ่งที่เขาบอกไปทำอะไรต่อ จะทำให้อีกฝ่ายประทับใจว่าเราใส่ใจเรื่องที่เขาพูด แม้ว่าบางครั้งเขาอาจจะลืมไปแล้ว มันช่วยแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจว่าเราอยากเชื่อมความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนกับอีกฝ่าย ได้เรียนรู้ว่าการมอบของฝากเล็กๆน้อยๆสามารถลดระยะห่างได้ง่ายขึ้น แต่การให้ของฝากในราคาแพงกับคนที่เพิ่งรู้จักกันเป็นเรื่องที่ไม่ควร เพราะอาจทำให้ผู้รับลำบากใจและอาจถูกมองว่าเป็นการติดสินบนได้ จะสังเกตและตระหนักได้ว่าการพูดได้ดีจำเป็นต้องมีการพัฒนาไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ไหน คู่สนทนาใด เราจะต้องคอยคิดว่าต้องทำอย่างไรถึงจะถ่ายทอดสื่อสารได้ดี สังเกตปฏิกิริยาของอีกฝ่าย ทั้งหมดนี้เป็นการฝึกฝนและปรับปรุงวิธีพูดของตัวเอง นี่จะเป็นประสบการณ์ของเราว่าต้องเรียงลำดับการพูดอย่างไรจึงจะเข้าใจง่าย อีกทั้งเมื่อเราได้เจอผู้คนมากๆก็จะเริ่มคุ้นเคยกับคนอื่น เราจะมีแรงบันดาลใจในการพัฒนาตัวเองทำให้เราสื่อสารเก่งขึ้น เครดิตภาพภาพปก โดย vecstock จาก freepik.comภาพที่ 1 และ 2 โดยผู้เขียนภาพที่ 3 โดย pressfoto จาก freepik.comภาพที่ 4 โดย pressfoto จาก freepik.com บทความอื่นๆที่น่าสนใจรีวิวหนังสือ คู่มือคนทำงานฉบับสมบูรณ์ ตั้งแต่วันแรกที่เริ่มงานจนขึ้นเป็นซีอีโอรีวิวหนังสือ ทำงานยังไงให้คุณมีมูลค่าสูงสุดในองค์กรรีวิวหนังสือ อย่าเอาใจไปติดกับอดีต อย่าโยนชีวิตไปอยู่ในอนาคต ทุ่มเทชีวิตให้กับสิ่งที่คุณเลือกรีวิวหนังสือ THE BETTER ME MODEL ฮาวทู เกลา ชีวิตให้ดีกว่าเดิมรีวิวหนังสือ ไม่ต้องเลิกขี้อายก็ได้สิ่งที่ต้องการ เปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !