รีเซต

ความเร่าร้อนที่จะปลดโดนัลด์ ทรัมป์ ออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี

ความเร่าร้อนที่จะปลดโดนัลด์ ทรัมป์ ออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี
มติชน
13 มกราคม 2564 ( 12:15 )
41
ความเร่าร้อนที่จะปลดโดนัลด์ ทรัมป์ ออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ทำการยุยงทุกวิถีทางทั้งการกล่าวคำปราศรัย การให้สัมภาษณ์ และทางโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะทวิตเตอร์ให้บรรดาผู้สนับสนุนตัวประธานาธิบดีทรัมป์เองทั่วประเทศให้เดินทางมาคัดค้านการประชุมรัฐสภาที่จะรับรองผลการเลือกตั้งว่าที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ชนะการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการที่เกิดขึ้นในวันพุธที่ 6 มกราคมที่ผ่านมา เนื่องจากประธานาธิบดีทรัมป์ได้พยายามปลุกกระแสขวาจัด และทำให้คนในสังคมอเมริกันส่วนหนึ่งเชื่อว่า ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาแล้วนั้น เป็นการเลือกตั้งที่สกปรกมีการโกงการเลือกตั้งอย่างโจ๋งครึ่มโดยไม่มีหลักฐานอ้างอิงที่เชื่อถือได้เลย

 

เมื่อฝูงชนผู้สนับสนุนประธานาธิบดีทรัมป์มารวมตัวกันที่อุทยานเนชั่นแนล มอลล์ กลางกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.ราวเที่ยงวันของวันพุธที่ 6 มกราคม พ.ศ.2564 ประธานาธิบดีทรัมป์ก็ได้เปิดปราศรัยกับฝูงชนโดยกล่าวหาว่ามีการโกงการเลือกตั้งอย่างมโหฬารซึ่งตัวประธานาธิบดีทรัมป์นั้นชนะอย่างท่วมท้น พร้อมประกาศว่า “เราจะไม่ยอมแพ้” แล้วก็ยุยงปลุกปั่นให้ฝูงชนเดินขบวนไปยังรัฐสภาเพื่อต่อต้านขัดขวางกระบวนการการรับรองผลการเลือกตั้งว่าที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน อย่างเป็นทางการที่รัฐสภาสหรัฐ โดยกล่าวว่า “เราจะไปที่รัฐสภาด้วยกัน” แล้วจึงกลับเข้าไปในทำเนียบขาว

 

ราวบ่าย 2 โมง ม็อบผู้ถูกยุยงจากประธานาธิบดีทรัมป์จำนวนมากรวมตัวที่บริเวณบันไดฝั่งตะวันออกของอาคารรัฐสภา และเริ่มผลักดันแนวกั้นและเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนเพื่อบุกเข้าไปภายในอาคาร จนเกิดการปะทะกับตำรวจควบคุมฝูงชนซึ่งใช้สเปรย์พริกไทยและยิงแก๊สน้ำตาเพื่อสกัดกั้น
ผู้ชุมนุม โดยทางตำรวจได้รายงานว่า ม็อบบางส่วนสวมชุดป้องกันตัวอย่างดีได้ใช้สารเคมีที่ทำให้ระคายเคืองพ่นใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นการตอบโต้จนกระทั่งราวบ่าย 3 โมง มีฝูงชนบางส่วนเข้าไปในอาคารได้และสามารถยึดรัฐสภาไว้ได้สำเร็จ โดยมีคนหนึ่งได้ขึ้นไปบนบัลลังก์วุฒิสภาและตะโกน “ทรัมป์ชนะเลือกตั้ง” และอีกกลุ่มหนึ่งเข้าไปยึดห้องทำงานของนางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ แบบว่ายึดได้ทั้ง 2 สภาเลยทีเดียว

 

จนกระทั่งราวเกือบ 6 โมงเย็น ตำรวจและหน่วยทหารอาสาสมัครประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. จึงสามารถยึดรัฐสภาสหรัฐกลับคืนมาได้ และนายกเทศมนตรีกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประกาศเคอร์ฟิวโดยมีผลตั้งแต่เวลา
6 โมงเย็น ของวันพุธที่ 6 มกราคม ถึง 6 โมงเช้าของวันพฤหัสบดีที่ 7 มกราคม ปรากฏว่าตำรวจได้จับผู้ก่อการจลาจลได้อย่างน้อย 82 คน ซึ่งเดินทางมาจาก 20 มลรัฐ ยึดระเบิดขวดเป็นจำนวนมาก ปืนพกและปืนยาวได้ 5 กระบอก รวมมีผู้เสียชีวิต 5 คน จากการปะทะกันที่รัฐสภาสหรัฐ

 

ครับ ! ประธานาธิบดีทรัมป์ยังออกมากล่าวขอบคุณและบอกว่ารักฝูงชนที่บุกเข้ายึดและทำลายข้าวของแถมยังทำให้คนบาดเจ็บล้มตายได้อย่างหน้าตาเฉย ดังนั้น ประธานาธิบดีทรัมป์จึงต้องเป็นผู้รับผิดชอบความผิดทางอาญาครั้งยิ่งใหญ่นี้ทั้งหมด จึงเกิดขบวนการที่จะปลดทรัมป์ออกจากตำแหน่งให้เร็วที่สุด 2 ขบวนการ คือการอิมพีชเมนต์ครั้งที่สองและขบวนการเรียกร้องให้นำบทแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 25 ข้อที่ 4 มาใช้โดยด่วน เนื่องจากไม่สามารถที่จะปล่อยให้นายทรัมป์ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีได้อีกถึงแม้ว่าอีกเพียง 1 สัปดาห์เศษทรัมป์จะต้องออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีในวันที่ 20 มกราคมที่จะถึงนี้แล้วก็ตาม เพราะว่าทรัมป์อาจจะใช้อำนาจประธานาธิบดีในทางที่ผิดเช่นสั่งการใช้อาวุธนิวเคลียร์เปิดสงครามกับประเทศคู่อริก็อาจจะเป็นได้ สำหรับการอิมพีชเมนต์ครั้งที่ 2 ได้เริ่มดำเนินการไปแล้วโดยประธานสภาผู้แทนราษฎร นางแนนซี เพโลซี ก็ตาม ซึ่งท่านผู้อ่านที่เคารพก็คงได้รับทราบกระบวนการอิมพีชเมนต์มามากแล้วจึงขออนุญาตข้ามไป

 

แต่จะขออนุญาตชี้แจงกับท่านผู้อ่านบางท่านที่อาจจะยังไม่ทราบถึงบทแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 25 จึงขอนำบทแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 25 ที่แปลเป็นภาษาไทยมาเสนอพอสังเขปดังนี้

 

“บทแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 25

ข้อ 1. ในกรณีที่ประธานาธิบดีถูกถอดออกจากตําแหน่งหรือตายหรือลาออกให้รองประธานาธิบดีดํารงตําแหน่งประธานาธิบดีสืบแทน

ข้อ 2. เมื่อใดตําแหน่งรองประธานาธิบดีว่างลงให้ประธานาธิบดีเลือกรองประธานาธิบดีขึ้นคนหนึ่งเสนอต่อรัฐสภา เมื่อสภาทั้งสองแห่งลงคะแนนเสียงข้างมากอนุมัติจึงให้ดํารงตําแหน่งได้

ข้อ 3. เมื่อใดประธานาธิบดีแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรต่อประธานชั่วคราววุฒิสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎรว่าตนมิสามารถจะใช้อํานาจและปฏิบัติหน้าที่ในตําแหน่งประธานาธิบดีได้ให้รองประธานาธิบดีใช้อํานาจและปฏิบัติหน้าที่ในฐานะรักษาการแทนประธานาธิบดีจนกว่าประธานาธิบดีจักแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรต่อประธานสภาทั้งสองกลับความที่แจ้งไว้ก่อน

ข้อ 4. เมื่อใดรองประธานาธิบดีและเสียงข้างมากของเจ้าหน้าที่ชั้นสูงฝ่ายบริหารหรือของหน่วยงานอื่นที่รัฐสภากําหนดไว้ตามกฎหมายแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรต่อประธานชั่วคราววุฒิสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎรว่าประธานาธิบดีไม่สามารถที่จะใช้อํานาจและปฏิบัติหน้าที่ในตําแหน่งของตนให้รองประธานาธิบดีเข้าใช้อํานาจและปฏิบัติหน้าที่ในฐานะรักษาการในตําแหน่งประธานาธิบดีทันที สืบจากนั้นเมื่อประธานาธิบดีแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรต่อประธานชั่วคราววุฒิสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎรว่าตนไม่มีความสามารถปรากฏอยู่แล้วให้ประธานาธิบดีกลับใช้อํานาจและปฏิบัติหน้าที่ในตําแหน่งของตนอีกจนกว่ารองประธานาธิบดีและเสียงข้างมากของเจ้าหน้าที่ชั้นสูงฝ่ายบริหารหรือหน่วยงานอื่นที่รัฐสภากําหนดไว้ตามกฎหมายแจ้งไว้เป็นลายลักษณ์อักษรต่อประธานชั่วคราวของวุฒิสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎรภายในสี่วัน ว่าประธานาธิบดีไม่สามารถใช้อํานาจและปฏิบัติหน้าที่ในตําแหน่งได้ ให้รัฐสภาวินิจฉัยชี้ขาดในเรื่องนี้โดยเรียกประชุมภายใน 48 ชั่วโมง เพื่อการนี้ถ้าไม่ใช่ในระหว่างสมัยประชุมถ้ารัฐสภามีมติด้วยคะแนนเสียงสองในสามของทั้งสองสภาภายใน 21 วันหลังจากรับแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรจากคณะบุคคลดังกล่าว หรือภายใน 21 วันหลังจากการเรียกประชุมในกรณีที่ไม่อยู่ในระหว่างสมัยประชุมว่าประธานาธิบดีไม่สามารถใช้อํานาจและปฏิบัติหน้าที่ในตําแหน่งของตนได้ให้รองประธานาธิบดีคงปฏิบัติหน้าที่รักษาการในตําแหน่งประธานาธิบดีต่อไป ในกรณีที่เป็นอย่างอื่นให้ประธานาธิบดีกลับใช้อํานาจและปฏิบัติหน้าที่ในตําแหน่งของตนอีก”

 

ตามบทแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 25 นี้สามารถใช้ได้ทันทีถ้าหากรองประธานาธิบดีไมค์ เพนซ์ เอาด้วยพร้อมกับเสียงข้างมากของคณะรัฐมนตรีซึ่งมีผู้ออกมาเรียกร้องรวมทั้งรัฐมนตรี 2-3 คน ได้ออกมา
สนับสนุนแล้ว

 

ต้องรอดูกันต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนคาดว่าเวลาคงไม่อำนวยกับมาตรการอันเร่าร้อนทั้ง 2 แบบนี้ เพราะเหลือเวลาในการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของทรัมป์อีกเพียง 1 สัปดาห์เศษเท่านั้น และประธานาธิบดีทรัมป์อาจจะรีบอภัยโทษให้ตัวเองล่วงหน้าในเวลาที่เหลือในการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีก็ได้

โกวิท วงศ์สุรวัฒน์