เคยสงสัยไหมว่าการล่าอาณานิคมของชาติตะวันตกนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร ทำไมต้องล่า และมันส่งผลอะไรต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเราบ้าง? วันนี้เราจะมาหาคำตอบกันภาพจาก Pixabay สาเหตุที่ทำให้รัฐต่าง ๆ ในโลกตะวันตกต้องล่าอาณานิคม นั่นก็คือ ผลสืบเนื่องจากการสร้างความมั่งคั่งให้แก่ชาติด้วยการค้าหรือลัทธิพาณิชยนิยม (Mercantilism) กล่าวคือ รัฐต่าง ๆ ในโลกตะวันตกต้องการใช้อาณานิคมเป็นแหล่งวัตถุดิบและเป็นตลาดระบายสินค้า เนื่องจากนโยบายทางเศษฐกิจดังกล่าวที่เน้นให้รัฐสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจทุกวิถีทาง เพื่อให้ชาติมีความเข้มแข็งทางด้านเศรษฐกิจและการเมือง การดำเนินนโยบายจึงเน้นหนักไปในด้านการค้าและการเดินเรือ เพื่อให้ประเทศสามารถพึ่งพาตนเองได้โดยอาศัยประเทศอื่นน้อยที่สุด ดังนั้นประเทศเหล่านี้จึงต้องการมีแหล่งทรัพยากรและตลาดสินค้าเป็นของตัวเอง กอปรกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมในเวลาต่อมาก็ส่งผลทำให้เกิดการขยายตัวทางการค้าซึ่งต้องมีการแสวงหาดินแดนเพื่อเป็นแหล่งวัตถุดิบและตลาดสินค้าเช่นเดียวกัน นี่จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้รัฐต่าง ๆ ในโลกตะวันตกต้องล่าอาณานิคมนั่นเองดังนั้นการล่าอาณานิคมของรัฐในโลกตะวันตกดังกล่าวย่อมส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างมากทั้งด้านโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเรา ตั้งแต่การพิชิตมะละกาในปี ค.ศ.1511 ของโปรตุเกส ซึ่งในช่วงศตวรรษที่ 14 และ 15 มะละกาเป็นหนึ่งในอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในภูมิภาค ซึ่งการพิชิตมะละกาของโปรตุเกสได้ทำลายความเป็นศูนย์กลางทางการค้าที่รุ่งเรืองที่สุดในศตวรรษที่ 15 ของมะละกาลง ทำให้เครือข่ายการค้าของมะละกาแตกกระจายไม่ได้รวมศูนย์อย่างชัดเจนเหมือนในอดีต จึงนำมาสู่การเกิดศูนย์อำนาจทางการเมืองใหม่ ๆ และนำมาสู่การปรากฏตัวของชาติตะวันตกอื่น ๆ ที่หมายจะยึดครองดินแดนและเข้ามามีบทบาทในภูมิภาคนี้ในเวลาต่อมาภาพเมืองพุกาม ประเทศพม่า จาก Pixabay ตัวอย่างประเทศในภูมิภาคเราที่ถูกล่าอาณานิคมในที่นี้จะขอยกตัวอย่างกรณี ประเทศพม่า ว่าการล่าอาณานิคมนั้นส่งผลอย่างไรต่อประเทศนี้บ้าง เริ่มต้นด้วยผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมือง ตั้งแต่สิ้นสุดสงครามอังกฤษ-พม่าครั้งที่สามในปี ค.ศ.1885 ที่อังกฤษเป็นฝ่ายชนะสงคราม ส่งผลให้ดินแดนพม่าทั้งหมดถูกผนวกรวมเป็นส่วนหนึ่งของบริติชอินเดีย หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวพม่าได้มีโครงสร้างทางการเมืองที่เปลี่ยนไป กล่าวคือ สถาบันกษัตริย์ในพม่าถูกยกเลิก กษัตริย์พม่าองค์สุดท้ายและครอบครัวของพระองค์ถูกเนรเทศไปยังอินเดีย ส่งผลให้พม่ามีระบบการปกครองที่เปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่กษัตริย์เป็นศูนย์กลางในการปกครองอาณาจักรเป็นการปกครองแบบรัฐบาล 2 ระดับแทน คือรัฐบาลที่ขึ้นตรงต่ออังกฤษเจ้าอาณานิคมและรัฐบาลตามเขตชายแดนที่อังกฤษให้อำนาจบางส่วนในการปกครอง อาทิ รัฐชิน รัฐฉาน รัฐกะยา เป็นต้น การกระทำดังกล่าวเรียกว่า การแบ่งแยกแล้วปกครอง (Divide and Rule) ซึ่งการกระทำนี้จะส่งผลต่อการเมืองพม่าในยุคเอกราชที่มีความขัดแย้งเรื่องการรวมอำนาจและชาติพันธุ์ในเวลาต่อมาผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ อังกฤษได้เปลี่ยนแปลงนโยบายทางด้านเศรษฐกิจหลายด้าน โดยหนึ่งในนั้นคือการปรับปรุงระบบเศรษฐกิจให้เป็นแบบทุนนิยมและยกเลิกการผูกขาดสินค้าโดยรัฐ ซึ่งในอดีตสินค้าบางชนิดต้องทำการค้าผ่านส่วนกลางเท่านั้นและปรับปรุงระบบการเก็บภาษีให้รัดกุมมากขึ้นนโยบายด้านเกษตรกรรม เป็นอีกหนึ่งนโยบายที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างทางเศรษฐกิจโดยรวมของพม่าในช่วงการปกครองของอังกฤษ เห็นได้จากการที่รัฐบาลอังกฤษมีนโยบายเน้นการเพาะปลูกส่งเสริมการทำเกษตรกรรม โดยสนับสนุนให้ประชาชนอพยพลงมาในพม่าตอนล่างเพื่อทำการเกษตร รวมถึงในดินแดนยะไข่อันมีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การทำเกษตรกรรม ก็ทำให้แขกในเมืองจิตตะกองเข้ามาตั้งรกรากทำมาหากินเพื่อสนองนโยบายดังกล่าว ส่งผลให้กำลังการผลิตข้าวขยายตัวสูงขึ้นกว่าในยุคกษัตริย์อย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปริมาณการผลิตข้าวได้เพิ่มขึ้นหลายเท่าและสามารถส่งออกข้าวในปริมาณที่สูงมาก ขณะที่ภาคการเกษตรมีการเติบโต เกษตรกรชาวพม่าซึ่งมีความจำเป็นต้องอาศัยเงินทุนในการทำเกษตรกรรม มักต้องกู้เงินด้วยอัตราดอกเบี้ยที่สูงจากพวกแขกเชตตีซึ่งเป็นผู้ปล่อยเงินกู้รายใหญ่ แต่บางครั้งเกษตรกรมักจะพบเจอกับภัยธรรมชาติทำให้เกษตรกรปลูกข้าวได้น้อย อีกทั้งจำนวนข้าวที่ผลิตได้ยังถูกกดราคาโดยนายทุนต่างชาติ ดังนั้นเกษตรกรจึงไม่อาจใช้หนี้คืนได้จนต้องถูกยึดที่นาในที่สุดภาพพระสงฆ์พม่า จาก Pixabay โดยผลของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ จากการล่าอาณานิคมดังที่ได้กล่าวไป ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมที่สำคัญ ประการแรกการปกครองของอังกฤษนั้นห้ามพระสงฆ์เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองและไม่มีนโยบายแทรกแซงทางศาสนาทำให้พม่าขาดผู้อุปถัมภ์ศาสนา พุทธศาสนาไม่ได้รับเงินอุดหนุนและพระสงฆ์ก็หย่อนยานในพระธรรมวินัย การที่อังกฤษไม่ควบคุมดูแลพุทธศาสนาส่งให้ชาวพม่าโดยรวมมีความคับข้องใจต่ออังกฤษเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากสิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อจิตใจของชาวพม่าอย่าลึกซึ้งเนื่องจากชาวพม่ามีความศรัทธาอย่างแรงกล้าต่อพุทธศาสนาประการถัดมาการแบ่งแยกแล้วปกครอง เป็นการแบ่งแยกกลุ่มพม่าแท้ที่อยู่บริเวณส่วนกลางและกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่อยู่บริเวณชายแดนออกจากกัน โดยกลุ่มพม่าแท้ถูกปกครองโดยตรงอย่างเข้มงวดจากรัฐบาลอังกฤษแต่กลุ่มชาติพันธุ์ อังกฤษยังคงให้สิทธิ์บางส่วนในการปกครองตัวเองอยู่ ทำให้การแบ่งแยกคนในสังคมพม่ามีความเด่นชัดขึ้น เนื่องจากกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ยังคงรักษาไว้ซึ่งภาษาและวัฒนธรรมของตนเองอีกทั้งยังเกิดการผสมผสานระหว่างชาวพม่ากับชาวอินเดีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกแขกในเมืองจิตตะกองที่เข้ามาตั้งรกรากในยะไข่เป็นจำนวนมากเนื่องจากนโยบายด้านเกษตรกรรมของอังกฤษดังที่ได้กล่าวไว้และด้วยพื้นที่ระหว่างยะไข่กับเบงกอล (อินเดีย) ไม่มีเส้นเขตแดนที่ชัดเจนการข้ามพรมแดนจึงเป็นไปอย่างอย่างอิสระ ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้ได้ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างชาวพุทธพม่ากับชาวมุสลิมโรฮิงญาในปัจจุบัน กอปรกับความคับข้องใจที่มีอยู่เดิมต่อเชตตีแขกผู้ปล่อยเงินกู้ ทำให้ความขัดแย้งระหว่างชาติพันธุ์ฝังรากลึกในสังคมพม่าเป็นระยะเวลายาวนานท้ายสุดนี้ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้อ่านจะพอเข้าใจที่มาที่ไปของการล่าอาณานิคมรวมทั้งได้รู้ถึงผลที่เกิดขึ้นจากการล่าอาณานิคมของรัฐในโลกตะวันตกไม่มากก็น้อย และถ้าหากผู้อ่านสนใจในตัวทฤษฎีลัทธิพาณิชยนิยม (Mercantilism) หรือ ประเด็นเรื่องโรฮิงญา ผู้อ่านสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากหนังสือดังต่อไปนี้ประวัติและลัทธิเศรษฐกิจ. โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.ดุลยภาค ปรีชารัชช. โรฮิงญา รัฐ ชาติพันธุ์ ประวัติศาสตร์ และความขัดแย้ง. สำนักพิมพ์มติชน ขอบคุณภาพหน้าปกจาก Pixabay