รีเซต

เปิดข้อกำหนด-คำสั่งมหาดไทย คุมเข้า-ออกจังหวัดสกัด‘โควิด’

เปิดข้อกำหนด-คำสั่งมหาดไทย คุมเข้า-ออกจังหวัดสกัด‘โควิด’
มติชน
8 มกราคม 2564 ( 11:15 )
92

หมายเหตุรายละเอียดข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 17) กำหนดมาตรการการยับยั้งในการระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รวมทั้งประกาศของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงมหาดไทย (ศบค.มท.) ออกโดยนายฉัตรชัยพรหมเลิศ ปลัด มท. ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับการสั่งการและประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ถึงแนวทางปฏิบัติและมาตรการการเดินทางเข้า-ออกพื้นที่ควบคุมสูงสุดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่

 

⦁ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 17) ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี


ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไปเป็นคราวๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อกำหนดมาตรการต่างๆ ที่จำเป็นในการระงับยับยั้งการระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งระบาดแบบกลุ่มก้อนในหลายเขตพื้นที่ของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดที่จำเป็นต้องมีมาตรการที่เข้มงวดเพื่อการสกัดและยับยั้งการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วและเด็ดขาด

 

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกำหนดและข้อปฏิบัติแก่ส่วนราชการทั้งหลาย ดังนี้

 

1.การยกระดับการบังคับใช้มาตรการป้องกันโรค ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ และผู้ดูแลรับผิดชอบสถานที่ กิจกรรม หรือกิจการต่างๆ ดำเนินการเพื่อให้ผู้ใช้บริการ ผู้เดินทาง และประชาชนทั่วไปปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด ด้วยการรักษาระยะห่าง การสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย การล้างมือ การตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย การติดตั้งแอพพลิเคชั่น “หมอชนะ” และ “ไทยชนะ” ตลอดจนยอมรับการกักกันตัวตามระยะเวลาในสถานที่ที่กำหนด หากอยู่ในข่ายที่ต้องรับการกักกัน

 

2.การยกระดับพื้นที่ควบคุมสูงสุดที่จำเป็นต้องมีมาตรการเข้มงวดอย่างยิ่ง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบและควบคุมการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะของประชาชนในการเดินทางเข้าออกเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ได้แก่ จ.จันทบุรี ชลบุรี ตราด ระยอง และสมุทรสาคร เพื่อสกัดและยับยั้งการระบาดของโรคอย่างรวดเร็วและเด็ดขาด โดยให้ตั้งจุดตรวจหรือจุดสกัด เพื่อคัดกรอง การเดินทางเข้าออกพื้นที่อย่างเข้มข้น และให้ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวติดตั้งและใช้ระบบแอพพลิเคชั่น “หมอชนะ” นอกจากนี้ บุคคลที่ประสงค์จะเดินทางออกนอกพื้นที่ดังกล่าว ต้องแสดงเหตุผลความจำเป็นโดยแสดงบัตรประชาชนหรือบัตรแสดงตนอื่นๆ ควบคู่กับเอกสารรับรองความจำเป็นที่ออกโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องหรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองในพื้นที่ เว้นแต่เป็นบุคคลซึ่งได้รับยกเว้น ทั้งนี้ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กระทรวงมหาดไทย กำหนด

 

3.การปราบปรามและลงโทษผู้กระทำผิดอันเป็นเหตุให้เกิดการระบาดของโรค รัฐบาลมีเจตจำนงที่ชัดเจนและเด็ดขาดในการปราบปรามและลงโทษพนักงานเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมทั้งบุคคลใดก็ตามที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการลักลอบขนย้ายแรงงานต่างประเทศโดยไม่ได้ผ่านกระบวนการตรวจสอบ การคัดกรองโรค และการกักกันตัวตามมาตรการทางสาธารณสุข รวมทั้งการปล่อยปละละเลย เอื้ออำนวย หรือสมรู้ร่วมคิดให้มีการเปิดบ่อนการพนันในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งเป็นต้นตอของการระบาดของโรคแบบกลุ่มก้อนจนส่งผลกระทบอย่างรุนแรง จึงสั่งการให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจเร่งตรวจสอบเพื่อดำเนินการนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษตามขั้นตอนกฎหมาย และแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อกำกับดูแลการดำเนินการดังกล่าว และเสนอมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์นี้อีกต่อไป นอกจากนี้ ให้ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) และเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ ปฏิบัติการกวดขัน สอดส่องและเฝ้าระวัง เพื่อป้องกันการลักลอบเข้าเมือง และการเปิดให้มีการมั่วสุมลักลอบเล่นการพนัน โดยให้ดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายทั้งทางวินัยและทางอาญา รวมถึงให้รัฐบาลสนับสนุนการมีส่วนร่วมตรวจสอบของภาคประชาชน หากพบเห็นการกระทำหรือการปล่อยปละละเว้นการกระทำซึ่งเป็นความผิดตามกฎหมายและส่งผลกระทบที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคอย่างรุนแรง สามารถแจ้งเบาะแสมาได้ที่นายกรัฐมนตรีผ่าน ศบค. ทำเนียบรัฐบาล

 

4.ผู้ฝ่าฝืนข้อกำหนดดังกล่าว อาจต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีผู้ติดเชื้อที่จงใจปกปิดข้อมูลการเดินทาง หรือแจ้งข้อมูลเท็จต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ อาจเข้าข่ายเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ด้วย ทั้งนี้ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม 2564 เป็นต้นไป

 

⦁คำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงมหาดไทย (ศบค.มท.)


ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงมหาดไทย (ศบค.มท.) ความว่า ตามที่นายกรัฐมนตรีได้ออกข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 17) มีสาระสำคัญเกี่ยวกับการยกระดับการบังคับใช้มาตรการป้องกันโรค การยกระดับพื้นที่ควบคุมสูงสุดที่จำเป็นต้องมีมาตรการเข้มงวดอย่างยิ่ง และการปราบปรามและลงโทษผู้กระทำผิดอันเป็นเหตุให้เกิดการระบาดของโรค

 

ทั้งนี้ เพื่อให้การตรวจคัดกรองการเดินทางข้ามจังหวัดเป็นไปตามข้อกำหนด รวมทั้งมาตรการที่ศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) กำหนด นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับการสั่งการและประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้สั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด จัดตั้งจุดตรวจ/ด่านตรวจในเส้นทางคมนาคมที่เป็นเส้นทางหลักในพื้นที่รอยต่อระหว่างจังหวัด โดยใช้อำนาจในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดบูรณาการและประสานการปฏิบัติกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงและตำรวจ

 

ขณะที่ในการจัดตั้งจุดตรวจ/ด่านตรวจในเส้นทางคมนาคมที่เป็นเส้นทางรอง ให้มอบหมายนายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บูรณาการทุกภาคส่วนจัดตั้งจุดตรวจคัดกรองในเส้นทางรองตามความจำเป็นและเหมาะสม และให้ประชาสัมพันธ์ทุกช่องทางโดยเฉพาะอย่างยิ่งให้นายอำเภอประชาสัมพันธ์ผ่านหอกระจายข่าวประจำหมู่บ้าน ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ เพื่อขอความร่วมมือประชาชนงดหรือชะลอการเดินทางข้ามเขตพื้นที่จังหวัด เว้นแต่กรณีมีเหตุจำเป็น ต้องแสดงเหตุผลและหลักฐานต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ และเข้ารับการตรวจคัดกรองและปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดอันอาจทำให้ไม่ได้รับความสะดวกในการเดินทางและทำให้ต้องใช้ระยะเวลาการเดินทางมากกว่าปกติ ส่วนการตรวจคัดกรองการเดินทางข้ามจังหวัดแบ่งเป็น 3 กรณี ดังนี้

 

-กรณีเดินทางออกนอกพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 5 จังหวัด (จันทบุรี ชลบุรี ตราด ระยอง และสมุทรสาคร) เน้นการตรวจคัดกรองใน 5 ประเด็น


1) ตรวจวัดอุณหภูมิและสังเกตอาการผู้เดินทาง
2) สอบถามเหตุผลความจำเป็นและสถานที่ปลายทางจากผู้เดินทางให้ชัดเจน
3) ตรวจสอบการติดตั้งและใช้ระบบแอพพลิเคชั่น “หมอชนะ” ของผู้เดินทาง
4) ตรวจสอบเอกสารการรับรองความจำเป็น/การปฏิบัติหน้าที่/การติดต่อราชการ
5) บันทึกข้อมูลผู้เดินทาง

 

-กรณีเดินทางออกนอกพื้นที่ควบคุมสูงสุด 23 จังหวัด เน้นการตรวจคัดกรองใน 4 ประเด็น


1) ตรวจวัดอุณหภูมิและสังเกตอาการผู้เดินทาง
2) สอบถามเหตุผลความจำเป็นและสถานที่ปลายทางจากผู้เดินทางให้ชัดเจน
3) ตรวจสอบการติดตั้งและใช้ระบบแอพพลิเคชั่น “หมอชนะ” ของผู้เดินทาง
4) บันทึกข้อมูลผู้เดินทาง

 

-กรณีเดินทางออกนอกพื้นที่ควบคุมและเฝ้าระวังสูง 49 จังหวัด เน้นการตรวจคัดกรองใน 2 ประเด็น


1) ตรวจวัดอุณหภูมิและสังเกตอาการผู้เดินทาง
2) สอบถามเหตุผลความจำเป็นและสถานที่ปลายทางจากผู้เดินทางให้ชัดเจน

 

-แนวปฏิบัติผู้ประสงค์จะเดินทางออกนอกพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด


1) ผู้ประสงค์จะเดินทางทั่วไปให้แสดง “เอกสารรับรองความจำเป็น” โดยยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องหรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองในพื้นที่ ได้แก่ นายอำเภอ ปลัดอำเภอ หรือข้าราชการที่นายอำเภอมอบหมาย กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน
2) ผู้ที่ประสงค์จะเดินทางปฏิบัติหน้าที่ ผู้ขนส่งสินค้าเพื่อประโยชน์และการดำรงชีวิตของประชาชน และสินค้าเพื่อการนำเข้าหรือส่งออก ผู้ปฏิบัติงานในกิจการกิจกรรมเพื่อประโยชน์ด้านสาธารณูปโภค ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์ การธนาคาร การศึกษา การขนส่งประชาชน/บุคคลไปสู่ที่เอกเทศเพื่อกักกันตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานตามข้อกำหนด ประกาศ หรือคำสั่งต่างๆ ของทางราชการ ให้แสดง “เอกสารรับรองการปฏิบัติหน้าที่” โดยยื่นคำขอต่อผู้ประกอบการ นายจ้าง บริษัท หัวหน้าหน่วยงานของรัฐ แล้วแต่กรณี
3) บุคคลที่มีความจำเป็นต้องติดต่อราชการ ให้แสดง “เอกสารรับรองการติดต่อราชการ” ซึ่งออกโดยหัวหน้าส่วนราชการหรือหน่วยงานที่บุคคลได้ไปติดต่อราชการ ทั้งนี้ ในกรณีบุคคลซึ่งมีความจำเป็นเร่งด่วน หากมีความล่าช้าอาจจะเกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตหรือเกิดความเสียหายร้ายแรง ให้มีการบันทึกข้อมูลการปฏิบัติไว้เป็นหลักฐาน

 

ขอเน้นย้ำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดกำชับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกระดับให้ปฏิบัติงานด้วยความถูกต้อง โปร่งใส โดยมุ่งหวังผลต่อการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคเป็นสำคัญ