รีเซต

สธ.ประเมินยอดโควิดยังสูงอีก 1-2 เดือน ห่วงผู้สูงอายุ-โรคเรื้อรัง เสี่ยงเสียชีวิตสูง

สธ.ประเมินยอดโควิดยังสูงอีก 1-2 เดือน ห่วงผู้สูงอายุ-โรคเรื้อรัง เสี่ยงเสียชีวิตสูง
TNN ช่อง16
11 มีนาคม 2565 ( 15:41 )
79
สธ.ประเมินยอดโควิดยังสูงอีก 1-2 เดือน ห่วงผู้สูงอายุ-โรคเรื้อรัง เสี่ยงเสียชีวิตสูง

วันนี้ (11 มี.ค.65) นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ระบุว่า ถึงการจัดทำรายละเอียดจำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ว่า สืบเนื่องมาจากทางปลัดกระทรวงสาธารณสุข อยากให้ทางกรมควบคุมโรคลงรายละเอียดการเสียชีวิตของผู้ป่วยโควิด-19 มากขึ้น

เนื่องจากเมื่อก่อนนี้ ที่มีการรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 นับหมดหากติดเชื้อ แต่ตอนนี้ดูเหมือนสถานการณ์โควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน อาการค่อนข้างน้อย และเสียชีวิตจากโรคอื่นค่อนข้างมาก 

และในช่วงเวลาเดียวกันก็พบการติดเชื้อโควิด-19 ร่วมด้วย โดยไม่ได้แสดงอาการที่เกี่ยวข้องกับทางเดินหายใจ จึงทำให้มีการพูดคุยในการจัดทำรายละเอียดถึงสาเหตุการเสียชีวิตว่าแท้จริงแล้วมาจากโควิด-19 หรือไม่

และในกลุ่มนี้มีจำนวนมากน้อยเท่าไรที่เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 โดยตรง รวมถึงจะได้จัดทำมาตรการในการดูแลผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงในแต่ละกลุ่มให้ชัดเจนขึ้น 

พบว่า ในจำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ที่ผ่านมา ในกลุ่มที่มีโรคประจำตัวร่วมด้วย พบเสียชีวิตเยอะขึ้น บางรายนอนในโรงพยาบาลเพียงไม่กี่วันก็เสียชีวิต ปกติแล้วหากเป็นโควิด-19 เพียงอย่างเดียว นอนรักษาในโรงพยาบาลกว่าจะเสียชีวิตใช้ระยะเวลาหลายวัน

"เช่น รายล่าสุดที่ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก อาการทุกอย่าง คือ ไข้เลือดออก แต่เมื่อเข้ารักษาในโรงพยาบาล มีการตรวจโควิด-19 พบว่า ติดเชื้อโควิด-19 ด้วย  เท่ากับว่าเจอ 2 เชื้อพร้อมกัน ไม่พบอาการที่เกี่ยวข้องกับโควิด แต่เป็นอาการของไข้เลือดออกแล้วก็เสียชีวิต แพทย์จึงต้องสรุปว่ารายนี้เสียชีวิตจากไข้เลือดออก ไม่ใช่โควิด" นพ.จักรรัฐ อธิบาย

อย่างไรก็ตาม การรายงานจำนวนผู้เสียชีวิตโควิด-19 ที่ผ่านมา เป็นการรายงานรวมผู้ที่มีเชื้อโควิด-19 ที่เสียชีวิตร่วมกับโรคอื่นๆ หรือสาเหตุอื่นด้วย

ทั้งนี้ ผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 บางราย อาการของโรคโควิด-19 กับอาการของโรคประจำตัวอาจจะใกล้เคียงกัน เช่น โควิด-19 ทำให้เกิดปอดอักเสบ แต่กับผู้ป่วยที่เป็นโรคปอดอยู่แล้ว จะบ่งบอกยาก เนื่องจากไม่ได้มีการชันสูตรศพ

รวมถึงกลุ่มผู้ป่วยติดเตียง ติดเชื้อโควิด-19 แล้วเสียชีวิต แต่โดยหลักการหากไม่มีภาวะอื่นแทรกซ้อน แล้วมีแต่โควิด-19 ก็ต้องบอกว่าเสียชีวิตจากโควิด-19 ไปก่อน แต่ถ้าหากมีการติดเชื้อของโรคอื่นร่วมด้วยหรือโรคติดต่ออื่นๆ แล้วติดเชื้อโควิด-19 ก็คงต้องบอกได้ว่า เสียชีวิตจากโรคอื่นมากกว่า

ในกลุ่มที่เสียชีวิตจากโควิด-19 พบว่า เป็นผู้สูงอายุที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไปค่อนข้างเยอะ มีโรคประจำตัวร่วมด้วย กลุ่มนี้อาจจะต้องมีการพิจารณาในรายละเอียดมากขึ้น 

ขณะที่กลุ่มผู้ป่วยอายุไม่มากแต่มีโรคเรื้อรัง ในช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไปที่ต้องเฝ้าระวัง เช่น ผู้ป่วยโรคไตที่ต้องล้างไตเป็นประจำ แต่ในช่วงโควิด-19 ทำให้การเดินทางไปล้างไตไม่สะดวก 

รวมถึงที่ผ่านมาพบผู้ป่วยไตติดโควิดร่วมด้วย และเสียชีวิตเยอะมาก ตั้งแต่ช่วงเดลต้า คิดเป็นร้อยละ10-20 ของจำนวนผู้เสียชีวิตโควิด-19 รวมถึงกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งอยู่แล้ว ซึ่งผู้ป่วยมีภูมิที่ต่ำอยู่แล้ว 

" เนื่องจากคนที่ไตวายต้องทำการล้างไต หรือฟอกไต สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง มีทั้งทางเส้นเลือด และหน้าท้อง ซึ่งทางหน้าท้องผู้ป่วยสามารถล้างไตที่บ้านได้ไม่มีปัญหา

แต่ที่มีปัญหา คือ การฟอกไตที่คลินิกเอกชน เนื่องจากคลินิกจะไม่รับผู้ป่วยไตที่ติดเชื้อโควิด เมื่อฟอกไตไม่ได้ ทำให้ 2-3 สัปดาห์ผู้ป่วยเสียชีวิตได้

ขณะที่คิวล้างไตของผู้ป่วยในโรงพยาบาลรัฐ มีจำนวนเยอะมาก ซึ่งเป็นไปตามคิวที่จองมา ทำให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคไตวาย และติดเชื้อโควิด ซึ่งจะต้องทำการล้างไต มีความเสี่ยงสูงมาก ที่ไม่ได้ล้างไตติดต่อเป็นสัปดาห์ ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตในอนาคต" นพ.จักรรัฐ ระบุ

กรณีผู้เสียชีวิตโควิด-19 ส่วนใหญ่ร้อยละ 70-80 มีการระบุว่า มีภาวะอาการปอดอักเสบ กับอีกส่วนระบุว่า ไม่มีอาการปอดอักเสบ แสดงว่าต้องมีภาวะอื่นร่วมด้วยในการเสียชีวิต ซึ่งโควิด-19 มีโอกาสเป็นไปได้ที่จะมีภาวะอื่นร่วมด้วย ซึ่งอาจจะเสียชีวิตจากโรคประจำตัว

ขณะที่ การรับวัคซีน พบว่า ผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ร้อยละ 70-80 ไม่ได้รับวัคซีนโควิด ร้อยละ 5-10 ฉีดวัคซีนโควิดเพียงเข็มเดียว ร้อยละ 99 ไม่ได้รับวัคซีนโควิดเข็มกระตุ้น

นพ.จักรรัฐ อธิบาย ถึงจำนวนผู้เสียชีวิตที่สูงขึ้นในช่วงนี้ว่า มาจากอัตราการติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้น  แต่ความรุนแรงของสายพันธุ์โอมิครอนไม่ได้เพิ่มขึ้น ทั้งนี้สัดส่วนผู้ป่วยหนักและสัดส่วนการเสียชีวิตเป็นไปตามจำนวนผู้ติดเชื้ออยู่แล้ว 

คาดการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ไม่ว่าจะมาจาก RT-PCR หรือมาจาก ATK จังหวัดใหญ่ๆ จะเริ่มทรงตัว แต่จะกระจายไปยังต่างจังหวัดมากขึ้น โดยเฉพาะจังหวัดเล็กๆ รวมถึง จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย จะทำให้สถานการณ์ยอดผู้ติดเชื้อยังคงสูงแบบนี้ไปอีกสักระยะ 1-2 เดือน แต่เนื่องจากไทยไม่ได้มีการผ่อนคลายมาตรการมาก เหมือนยังต่างประเทศในหลายประเทศ อาจทำให้ผู้ติดเชื้อในไทยไม่ขึ้นไปยังหลักหลายแสนคนต่อวัน ซึ่งก่อนหน้านี้ ได้วางแผนในการควบคุมโรค เพื่อให้จำนวนผู้ติดเชื้อลดลงก่อนสงกรานต์  แต่ตอนนี้สถานการณ์เปลี่ยนไปทำได้เพียงประคองสถานการณ์การแพร่ระบาดไม่ให้สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

ส่วนการนับจํานวนผู้ติดเชื้อที่มีการรายงาน โดยเฉพาะยอดผู้ป่วย ATK ที่สูงนั้น นพ.จักรรัฐ ระบุว่า เป็นจำนวนที่นับจากการตรวจในโรงพยาบาล และยอดบางส่วน เป็นยอดซ้ำจาก RT-PCR เช่น เมื่อตรวจ ATK แล้วพบผลบวก ก็ไปทำการตรวจ RT-PCR ต่อ เพื่อยืนยัน กับการตรวจ ATK ซ้ำหลายครั้ง เพื่อความแน่ใจ

เช่น บางคนตรวจ 3 ครั้ง 3 โรงพยาบาล ซึ่งที่ผ่านมานับจํานวนผู้ติดเชื้อไม่ได้ดูเป็นรายชื่อ แต่นับเป็นรายครั้งที่ตรวจ แต่ต่อจากนี้จะเริ่มนับผลตรวจเชื้อโดยดูเป็นรายชื่อแล้ว

ด้าน นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุถึงความคืบหน้าการจำแนกรายละเอียดพูดเสียชีวิตจากโควิด-19 ว่าขณะนี้ กรมควบคุมโรค อยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียด ซึ่งกลุ่มผู้สูงอายุ ยังคงเป็นกลุ่มช่วงอายุสูงสุดที่เสียชีวิตจากโควิด-19 และส่วนหนึ่งพบว่ายังไม่ได้รับวัคซีนโควิด-19

ปัจจัยที่ทำให้กระทรวงสาธารณสุขต้องจัดทำข้อมูลสาเหตุผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 อย่างละเอียดนั้น เพื่อหาสาเหตุการเสียชีวิตว่ามาจากโควิด-19 หรือไม่ หรือมาจากปัจจัยโรคอื่นๆ ร่วมด้วยของผู้เสียชีวิต 

เนื่องจากที่ผ่านมามีข้อมูลพบว่า ผู้เสียชีวิตโควิด-19 บางส่วนไม่ได้เสียจาก โรคโควิด-19 โดยตรง หากเป็นเมื่อก่อน การเสียชีวิตจากโควิด-19 จะพบว่า ผู้เสียชีวิต มีภาวะปอดอักเสบ แต่ช่วงหลังพบว่า ผู้สูงอายุหลายรายที่เสียชีวิต ไม่มีภาวะปอดอักเสบ แต่เสียชีวิตด้วยโรคประจำตัวที่กำเริบ แล้วพบเชื้อโควิด-19 ด้วยในช่วงหลัง 

เช่น ในกรณีผู้ป่วยที่ติดบ้านติดเตียง ที่พบเสียชีวิตมากขึ้น  เนื่องจากอาการที่เป็นอยู่มีอาการหนัก เมื่อเข้าทำการรักษาอาการป่วยยังโรงพยาบาลด้วยโรคประจำตัว และเสียชีวิตภายหลัง เจ้าหน้าที่จะมีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 จึงพบว่ามีเชื้อโควิดด้วย แต่ที่ผ่านมา ไม่แสดงอาการและไม่มีภาวะปอดบวม หรือปอดอักเสบ ซึ่งตอนนี้ไม่เพียงแต่จะดูยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพียงอย่างเดียว แต่ตอนนี้จะเน้นเฝ้าระวังในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง เพื่อจะได้บริหารจัดการให้สัมพันธ์กับเตียง.


ภาพจาก แฟ้มภาพ TNN ONLINE , สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง