เลิกจ้างอย่างไรให้ถูกกฎหมายเรื่อง/ภาพ: ทนายน้อยหน่าขอบคุณภาพปกจาก pexelsในฐานะที่ผู้เขียนเป็นทนายความมีพนักงานมาปรึกษากฎหมายแรงงานว่าทำงานกับบริษัทมาหลายปีแบบไม่มีกำหนดระยะเวลาในสัญญาจ้างคือทำไปได้เรื่อย ๆ จนกว่าจะเกษียณอายุซึ่งบริษัทได้มีข้อบังคับกำหนดไว้ที่ 55 ปี แต่เมื่อไม่กี่วันนี้บริษัทแจ้งว่าขาดทุนจะจ้างออกแต่ไม่อยากออกจะทำอะไรได้บ้าง เพราะบริษัทไม่ได้เลิกจ้างทุกคนและที่ผ่านมาผลการประเมินการทำงานก็ผ่านตลอด ผู้เขียนได้ให้คำแนะนำไปและเห็นว่ามีประโยชน์จึงอยากแบ่งปันกับผู้อ่านนำมาบอกเล่าในบทความนี้ โดยการจะเลิกจ้างพนักงานโดยไม่มีความผิดจะต้อง1. จ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย (อ้างอิง พรบ.คุ้มครองแรงงาน มาตรา 118)🔹ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 30 วัน🔹ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 90 วัน 🔹ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 180 วัน🔹ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 240 วัน🔹ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 10 ปี แต่ไม่ครบ 20 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 300 วัน🔹ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 20 ปี ขึ้นไป จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 400 วันขอบคุณภาพจาก pexels2. ต้องบอกกล่าวการเลิกจ้างล่วงหน้าก่อนจะถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวหนึ่งคราวใดเช่น รายนี้เป็นพนักงานรายเดือนต้องบอกกล่าวล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 1 เดือน มิฉะนั้นต้องจ่ายเงินแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงินเดือนจำนวน 1 เดือน (อ้างอิง พรบ.คุ้มครองแรงงาน มาตรา 17)3. ต้องเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรม (อ้างอิง พรบ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน มาตรา 49) คือบริษัทไม่เลือกปฏิบัติ ถ้าขาดทุนก็ต้องมีหลักฐานว่าขาดทุนจริง ถ้าจะจ้างออกก็ต้องมีเงินช่วยเหลือพิเศษให้ ถ้าบริษัทไม่มีเงินช่วยเหลือพิเศษให้ หรือพนักงานรู้สึกว่าตนเองถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรมก็สามารถไปฟ้องศาลแรงงานด้วยวาจาได้ไม่มีค่าใช้จ่าย ส่วนใหญ่จะจบที่การไกล่เกลี่ย ในทำนองเดียวกันผู้เขียนก็เคยให้คำแนะนำทางกฎหมายกับบริษัทที่จะเลิกจ้างพนักงาน ก็ได้อธิบายถึงข้อ 3 ไปด้วยว่าไม่ใช่จ่ายแค่ข้อ 1 หรือข้อ 2 จะจบ ถ้าพนักงานไม่พอใจแล้วไปฟ้องศาลแรงงาน หากบริษัทไม่สามารถแสดงให้ศาลเห็นได้ว่าบริษัทเลิกจ้างเป็นธรรมศาลก็จะสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าเสียหายให้ลูกจ้างฐานเลิกจ้างไม่เป็นธรรมได้ที่สำคัญหากบริษัทจะบอกกล่าวล่วงหน้าเรื่องเลิกจ้างต้องแจ้งเป็นหนังสือจะได้ไม่ต้องมาถกเถียงกันว่าแจ้งหรือยัง ในวันเลิกจ้างนายจ้างต้องจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมายให้ครบด้วย ถ้าไม่มีการบอกกล่าวล่วงหน้า เงินแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าก็ต้องจ่ายในวันเลิกจ้างเช่นกัน มิฉะนั้นทั้งเงินชดเชยทั้งเงินแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าต้องเสียดอกเบี้ย 15% ต่อปีนับแต่วันผิดนัด (อ้างอิง พรบ.คุ้มครองแรงงาน มาตรา 9)แต่ดีที่สุดคือนายจ้างต้องไม่เลือกปฏิบัติ ถ้าขาดทุนจริงก็ต้องอธิบายให้พนักงานเข้าใจ เอางบการเงินที่ขาดทุนให้ลูกจ้างดูว่าพยายามลดต้นทุนทุกวิถีทางแล้วแต่ไปต่อไม่ไหวจริง ๆ จึงต้องใช้วิธีเลิกจ้าง อย่างน้อยนายจ้างกับลูกจ้างจะได้จากกันด้วยความรู้สึกดี ๆ ต่อกัน ไม่แน่ที่วันไหนนายจ้างพลิกสถานการณ์กลับมาเข้มแข็งได้การจ้างลูกจ้างเดิมที่มีประสบการณ์และมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมาก่อนก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจทีเดียวขอบคุณภาพจาก pixabayสำหรับลูกจ้างต้องตระหนักด้วยว่าเงินชดเชยตามข้อ 1 และข้อ 2 นายจ้างไม่ต้องจ่ายหากลูกจ้างกระทำความผิดอย่างร้ายแรงตาม พรบ.คุ้มครองแรงงาน มาตรา 119 ได้แก่(1) ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง(2) จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย (3) ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง(4) ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้วเว้นแต่กรณีที่ร้ายแรงนายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือนหนังสือเตือนให้มีผลบังคับได้ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทำผิด(5) ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตามโดยไม่มีเหตุอันสมควร(6) ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษที่ไม่เป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายดังนั้นลูกจ้างก็ต้องประพฤติตนให้ดีไม่ให้เข้าข่ายกระทำความผิดอย่างร้ายแรง ส่วนนายจ้างก็ต้องเลิกจ้างให้ถูกกฎหมายเพราะอย่างน้อยพนักงานที่ยังทำงานอยู่จะได้มีขวัญกำลังใจทำงานต่อไปขอบคุณภาพจาก pexels