ภาพปกบทความโดยผู้เขียนหลายคนอาจจะเคยเห็นหรือเคยได้ยินชื่อของไม้ประดับที่มีใบหลากสีสันอย่าง “สับปะรดสี” กันมาบ้าง แต่สับปะรดสีที่วางขายตามร้านขายต้นไม้ทั่ว ๆ ไปนั้นจะเป็นสายพันธุ์ที่มีลักษณะใบเป็นใบเรียวยาวชี้ขึ้น ไม่ได้เรียงตัวเป็นช่อสวยงาม และสีสันก็จะไม่มีลวดลายที่ชัดเจน ส่วนใหญ่ก็จะมีสีแดง สีเขียว หรือสีน้ำตาลอยู่กระจัดกระจายกันไปแล้ว แถมต้นก็ค่อนข้างเล็ก จึงทำให้อาจจะไม่ค่อยสะดุดตาคนที่กำลังมองหาไม้ประดับไปตกแต่งบ้านกันเท่าไรนักภาพถ่ายโดยผู้เขียนแต่ความจริงแล้ว สับปะรดสีนั้นเป็นพืชที่มีหลากหลายสายพันธุ์มาก ๆ เลยละค่ะ และตัวอย่างที่เห็นในรูปนั้นก็ถือเป็นสายพันธุ์หนึ่งของสับปะรดสีที่มีลักษณะใบเรียงตัวสลับกันอย่างสวยงาม สีสันก็จะมีลวดลายชัดเจนไม่ได้เป็นลักษณะสีเปรอะอย่างที่เห็นได้ทั่วไป ทว่าสายพันธุ์สวย ๆ แบบนี้มักจะไม่ค่อยมีขายสักเท่าไหร่ จึงทำให้หลายคนที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงนักสะสมต้นไม้ไม่ค่อยมีโอกาสได้เห็นสับปะรดสีสวย ๆ แบบนี้ภาพถ่ายโดยผู้เขียนซึ่งผู้เขียนเองก็เพิ่งได้มีโอกาสเห็นสับปะรดสีสวย ๆ แบบนี้เป็นครั้งแรกเลยเกิดความสนใจและอยากจะลองซื้อมาเลี้ยงดูบ้าง จึงได้เข้าไปเลือกดูและพูดคุยสอบถามกับเจ้าของฟาร์มสับปะรดสีแห่งหนึ่ง ซึ่งก็ได้ความรู้มาพอสมควร จึงอยากจะมาแชร์เรื่องราวให้กับนักอ่านท่านอื่นที่กำลังศึกษาหรือสนใจในไม้ประเภทสับปะรดสีอยู่ภาพถ่ายโดยผู้เขียนจากข้อมูลของเจ้าของฟาร์มสับปะรดสีที่ผู้เขียนไปเลือกซื้อ จึงทำให้ผู้เขียนได้ทราบว่าสับปะรดสีนั้นเป็นพืชที่มีอายุยืนมากพอสมควร ต้นที่วางขายในร้านก็จะมีอายุประมาณ 2 ถึง 5 ปี ดังนั้นหากเราเลี้ยงเขาในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมเราก็จะได้สับปะรดสีหัวใหญ่ ๆ เอาไว้ประดับตกแต่งสวนหย่อมหน้าบ้านอย่างแน่นอนและลักษณะหรือสายพันธุ์ของสับปะรดสีนั้นเขาจะมีทั้งที่เป็นลักษณะใบเรียวยาวชี้ขึ้น ซึ่งแม้ว่าเขาจะอายุมากขึ้นแต่ทรงของเขาก็จะไม่มีการฟอร์มเป็นกอแต่อย่างใดนะคะ ต้นก็จะใหญ่ขึ้นและใบก็จะยาวขึ้นเรื่อย ๆ ตามอายุ กับอีกสายพันธุ์หนึ่งที่จะมีลักษณะใบเรียงตัวกันอย่างเป็นระเบียบ สับปะรดสีประเภทนี้ยิ่งหัวใหญ่ขึ้นก็จะยิ่งมีใบเรียงตัวซ้อนกันหลายชั้นดูสวยงามมาก และถ้ายิ่งเป็นสีด่าง คือสีมีสีอ่อนเช่นสีขาวหรือสีเหลืองอ่อนสลับกับสีเข้มเช่นสีแดง สีส้ม หรือสีเขียว ก็จะยิ่งหายากและมีราคาแพงขึ้นไป ซึ่งนอกจากที่กล่าวไป สับปะรดสีนั้นยังมีอีกมากมายหลายสายพันธุ์เลยละค่ะภาพถ่ายโดยผู้เขียนสำหรับการเลี้ยงสับปะรดสีนั้นก็ไม่ต้องทำอะไรเป็นพิเศษ เพียงแค่จัดวางเขาให้อยู่ในที่ที่ได้รับแสงแดดอย่างเพียงพอ โดยสามารถปลูกหรือวางกระถางไว้กลางแจ้งได้แต่จะต้องไม่โดนแดดแรงเกินไปเพราะจะทำให้ใบไหม้หรือสีซีด ส่วนการรดน้ำก็ไม่จำเป็นต้องรดทุกวัน อาจจะรดคราวละประมาณ 2 วันต่อหนึ่งครั้ง และเมื่อสับปะรดสีหัวเริ่มใหญ่หรือปลูกไปได้สักระยะแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ยเพราะหากเราใส่ปุ๋ยลงไปก็จะทำให้ใบของสับปะรดสีนั้นยืดยาวแล้วเปลี่ยนเป็นสีเขียว กลายเป็นไม้เสียทรงไปได้ภาพถ่ายโดยผู้เขียนส่วนด้านการขยายพันธุ์ โดยทั่วไปนั้นเมื่อถึงเวลาสับปะรดสีก็จะให้หน่อ จากนั้นจึงแยกหน่อออกจากต้นแม่แล้วเอาไปขยายพันธุ์โดยการชำหน่อต่อได้ หรือหากจะรอผสมเกสรแล้วนำไปปลูกโดยการเพาะเมล็ดก็ได้เช่นกัน และยังมีอีกวิธีหนึ่งที่ผู้ขายบอกว่าไม่ค่อยแนะนำให้ทำเท่าไหร่นัก แต่วิธีนี้จะเป็นวิธีลัดที่ทำให้ขยายพันธุ์สับปะรดสีได้เร็ว ก็คือการเสียบยอด โดยเอาสับปะรดสีต้นอื่นมาเสียบแทนยอดของต้นแม่ ซึ่งจะทำให้ต้นแม่ตายในที่สุดแต่ต้นแม่ก็จะให้หน่อออกมาเยอะก่อนตายภาพถ่ายโดยผู้เขียนอ่านมาจนถึงตรงนี้เริ่มตกหลุมรักสับปะรดสีกันบ้างหรือยังคะ และถ้าหากใครกำลังลังเลอยู่ว่าจะลองซื้อสับปะรดสีมาเลี้ยงดูหรือไม่ ผู้เขียนก็ขอแนะนำว่าหากสนใจก็อาจจะลองซื้อต้นเล็ก ๆ มาลองเลี้ยงดูก่อนก็ได้ เพราะวิธีการเลี้ยงก็ง่ายแสนง่าย ไม่ต้องใส่ปุ๋ย เพียงแค่ให้เขาได้รับแดดและน้ำอย่างเพียงพอเท่านั้น แต่ถ้าอยากได้รายละเอียดเพิ่มเติม ก็อาจจะต้องหาเวลาไปเที่ยวฟาร์มไม้ประดับที่เป็นผู้ปลูกและเพาะเลี้ยงโดยตรง รับรองว่าจะได้ความรู้กลับมาอีกมากมายอย่างแน่นอนค่ะสำหรับบทความแนะนำสับปะรดสีก็ต้องขอจบลงเพียงเท่านี้นะคะ และถ้ามีโอกาสผู้เขียนก็จะมาแนะนำให้รู้จักกับไม้ประดับพันธุ์อื่นอีกในบทความหน้าค่ะ