รีเซต

"หม่อมเต่า" รับข้อเสนอ "เอกชน" เร่งเปิดทางนำเข้าแรงงาน 3 สัญชาติ

"หม่อมเต่า" รับข้อเสนอ "เอกชน" เร่งเปิดทางนำเข้าแรงงาน 3 สัญชาติ
มติชน
17 กรกฎาคม 2563 ( 12:07 )
96
“หม่อมเต่า” รับข้อเสนอ “เอกชน” เร่งเปิดทางนำเข้าแรงงาน 3 สัญชาติ 

เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายหลังร่วมการประชุมหารือผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด – 19 ระหว่าง กกจ.กระทรวงแรงงาน กับ ผู้แทนสมาคมผู้นำเข้าแรงงานต่างด้าว และบริษัทนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศ 9 บริษัท ซึ่งมี ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธาน ว่าจากมาตรการป้องกันและสกัดกั้นการนำเชื้อโควิด-19 เข้าสู่ประเทศไทย และมาตรการยับยั้งการระบาดภายในประเทศ ได้ส่งผลเชื่อมโยงต่อการเคลื่อนย้ายแรงงาน ทำให้นายจ้าง สถานประกอบการขาดแคลนแรงงานเป็นจำนวนมาก เนื่องจากที่ผ่านมาประสบปัญหาไม่สามารถนำเข้าแรงงานต่างด้าวในระบบเอ็มโอยูได้ รวมทั้งการดำเนินการกับกลุ่มแรงงานที่ไม่ได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 20 สิงหาคม 2562

“ดังนั้น เพื่อให้การนำเข้าแรงงานต่างด้าวเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเพื่อให้การแก้ปัญหาเป็นไปด้วยความถูกต้อง ครบถ้วน จึงเชิญสมาคมผู้นำเข้าแรงงานต่างด้าว และบริษัทนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศ มาร่วมให้ข้อมูลสภาพปัญหาการนำเข้าแรงงานต่างด้าว รวมถึงให้ข้อเสนอแนะในการนำเข้าแรงงานต่างด้าว ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จำนวน 9 บริษัท ประกอบด้วย สมาคม ผู้นำเข้าแรงงานต่างด้าว 4 สมาคม ได้แก่ นายกสมาคมการค้าพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการนำเข้าแรงงานต่างด้าว นายกสมาคมการนำเข้าแรงงาน นายกสมาคมการค้าพัฒนาแรงงาน และ นายกสมาคมการค้าผู้นำเข้าและให้บริการแรงงานต่างด้าว และบริษัทนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศ 5 บริษัท ได้แก่ บริษัท ผู้รับอนุญาตบริษัทนำคนต่างด้าวมาทำงาน ในประเทศ ทีดับบลิว เลเบอร์ โซลูชั่นส์ จำกัด บริษัท เดอะเฟิร์ส กูด แมน กรุ๊ป จำกัด บริษัท ที.เอ็ม.จี เอเจนซี่ จำกัด บริษัท จ๊อบส์ เวิร์คเกอร์ เซอร์วิส จำกัด และ บริษัท แอ๊ดวานซ์ เวิร์คเกอร์ จำกัด” นายสุชาติ กล่าว

อธิบดี กกจ.กล่าวว่า ได้เสนอแนะให้กระทรวงแรงงานกำหนดมาตรการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวที่ยังคงอยู่ในราชอาณาจักร ประกอบด้วย แรงงานเอ็มโอยู ครบวาระการจ้างงาน แรงงานที่ไม่ได้ดำเนินการตามมติครม.วันที่ 20 สิงหาคม 2562 และแรงงานเอ็มโอยูที่การอนุญาตทำงานสิ้นสุดด้วยผลของกฎหมาย มาตรา 50, 53 และ 55 พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้รับฟังข้อเสนอ และได้มอบหมายให้ กกจ.เร่งดำเนินการหาแนวทางปฏิบัติต่อไป

นายสุชาติ กล่าวว่า จากการแพร่ระบาดของโควิด–19 ที่ผ่านมา กกจ.ได้ตระหนักถึงความเดือดร้อนจากสถานการณ์ดังกล่าว และไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยได้มีนโยบายและมาตรการต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหา เช่น การผ่อนปรนแนวทาง การบริหารจัดการการทำงานของแรงงานต่างด้าว ปี 2562-2563 โดยอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักร เป็นการชั่วคราวและทำงานได้ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2563 และผ่อนปรนให้แรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ที่เข้ามาทำงานตามเอ็มโอยู และแรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา และเมียนมา ที่ถือบัตรผ่านแดน ซึ่งการอนุญาตทำงานสิ้นสุด (ครบวาระการจ้างงาน) แต่ไม่สามารถเดินทางกลับประเทศต้นทางได้ สามารถอยู่ในราชอาณาจักรและทำงานต่อไปได้จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2563

“นอกจากนี้ ยังได้เข้าร่วมประชุมกับศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ซึ่งได้ดำเนินการผ่อนคลายให้ผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทยที่ต้องการเดินทางเข้ามาในประเทศไทย โดยต้องลงทะเบียนกับสถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ไทย ณ ประเทศต้นทาง เพื่อขอรับหนังสือรับรองการเดินทางก่อนเดินทางเข้าประเทศไทย และต้องแสดงเอกสารใบรับรองแพทย์ กรมธรรม์ประกันสุขภาพ และต้องผ่านการตรวจคัดกรองตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)” นายสุชาติ กล่าวและว่า อย่างไรก็ดี ข้อเสนอดังกล่าวเป็นสาระสำคัญ ส่วนหนึ่งที่ กกจ.จะต้องกำหนดมาตรการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวภายหลังวันที่ 31 กรกฎาคม 2563 ต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง