รีเซต

11 นักวิชาการ-กลุ่มค้านเมืองอุตสาหกรรมจะนะ จี้ศอ.บต. ทบทวนจัดเวที 11ก.ค. หวั่นขัดแย้งรุนแรง

11 นักวิชาการ-กลุ่มค้านเมืองอุตสาหกรรมจะนะ จี้ศอ.บต. ทบทวนจัดเวที 11ก.ค. หวั่นขัดแย้งรุนแรง
มติชน
9 กรกฎาคม 2563 ( 18:14 )
43
11 นักวิชาการ-กลุ่มค้านเมืองอุตสาหกรรมจะนะ จี้ศอ.บต. ทบทวนจัดเวที 11ก.ค. หวั่นขัดแย้งรุนแรง

เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2563 ที่ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์(ม.อ.) วิทยาเขตหาดใหญ่ คณะนักวิชาการจัดเสวนา “มุมมองรอบด้านต่อโครงการนิคมอุตสาหกรรม “จะนะ” ” โดยมีนักวิชาการและผู้นำชุมชน 11 คน ร่วมเสวนา โดยมีเนื้อหาคัดค้านโครงการอุตสาหกรรมจะนะเมืองต้นแบบ เนื่องจากเห็นว่าเป็นการพัฒนาและการเริ่มโครงการใหม่ที่ไม่มีเหตุผล มีการการกระทำไม่ชอบมาพากล เกิดผลกระทบต่อประชาชน ในแง่ทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตวัฒนธรรมและศาสนา เปลี่ยนผังเมืองจากสีเขียวให้เป็นสีม่วง ให้ข้อมูลไม่รอบด้าน โดยใส่ข้อมูลด้านเดียวเอื้อต่อนายทุนใหญ่ ไม่ให้ประโยชน์กับประชาชนท้องถิ่นอย่างแท้จริง โดยล่าสุด โครงการจะจัดเวทีในวันที่ 11 กรกฎาคม โดยเชื่อว่าเวทีดังกล่าวอาจส่งผลให้เกิดความขัดแย้งในอนาคต ทั้งนี้โครงการใหญ่ขนาดนี้ต้องมีการศึกษาให้รอบคอบทุกด้านก่อนผลักดัน ต่อไปมีผู้ได้ส่วนได้ส่วนเสียอย่างไรต้องเปิดให้ชัดเจนนโยบายการพัฒนาอาจนำไปสู่หายนะ หากขาดการปรึกษาแบบประชาธิปไตย

นายเกื้อ ฤทธิบูรณ์ อาจารย์จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.อ.ปัตตานี กล่าวว่า เป็นการอ้างของรัฐ หากจะพัฒนา จะเปลี่ยนธรรมชาติและจ้างแรงงานคนในพื้นที่กว่าแสนตำแหน่งขณะที่บริบทของคนจะนะยังต้องพึ่งพิงธรรมชาติ ความหลากหลายทางชีวภาพ ระบบนิเวศเป็นการให้บริการ คุณภาพชีวิตที่ดีและมากกว่า คือชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนอยู่แล้ว มีมูลค่ามากกว่าทางเศรษฐกิจ ตามที่มนุษย์จะคิดได้ หากเปลี่ยนพื้นที่ให้กลับไปเป็นป่าชายเลนสักแห่งต้องใช้ทรัพยากรมากถึง 3 เท่า

“เราจะพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจ โดยทำลายและเปลี่ยนแปลงธรรมชาติไปเพื่ออะไรหากระบบเสียหายไปแล้ว จะเอาคืนไม่ได้ จึงขอให้ศอ.บต.หยุดการตั้งเวทีวันที่ 11 กรกฎาคมไปก่อน เพื่อเปิดรับฟัง และมีเหตุผล ฟังเสียงประชาชนเพื่อนำมาหาทางออกคุยกันก่อน เพื่อความเป็นธรรมและดีต่อการพัฒนาอย่างแท้จริง ท่าเรือที่เกิดขึ้น จะทำลายชีวิตวิถีชาวประมงดั้งเดิม และ ปัญหาคลื่นกัดเชาะชายฝั่งเป็นปัญหาที่แก้ไขยาก มีโครงการท่าเรือน้ำลึกที่ผ่านมา เกิดแรงลบตามมา สิ่งไม่ดีเกิดขึ้นตามมา มีผลประโยชน์ที่อาจนำมาซึ่งความขัดแย้ง จึงควรให้ทุกคนมีส่วนร่วม ไม่ควรสร้างวาทกรรม ไม่ควรแยกกลุ่มคนออกจากกัน การห้ามคนนอกเข้ามายุ่งเกี่ยวเรื่องนี้ ความรุนแรงและความขัดแย้งครั้งนี้อาจรุนแรงกว่าครั้งที่แล้ว ต้องสร้างการพูดคุยสู่โต๊ะเจรจา ต้องให้ความเชื่อมั่นของข้อมูลของทั้งสองฝ่าย ข้อมูลองค์ความรู้ 2 ฝ่ายเท่าเทียมกัน ความต้องการต้องไม่สร้างความรังเกียจกัน อนาคตจะนำมาสู่ความขัดแย้งไม่รู้จบ ต้องตั้งโจทย์ร่วมกัน มีคำตอบชัดเจน ให้นำไปสู่พลังแห่งการตัดสินใจร่วมกัน  ใครได้ ใครเสีย ต้องให้ข้อมูลที่จริง ให้ผลประโยชน์รัฐต้องคุยให้ชัดเจน มีการให้ความยั่งยืนอย่างไร การตอบแทนด้านทรัพยากร ด้านวัฒนธรรมวิถีชีวิต หาทางปรึกษาหารือเพื่อได้ทางเลือกที่เป็นของพลังทางเลือกทั้งหมดร่วมกัน” นายเกื้อ กล่าว

นายบัณฑิต ไกรวิจิตร อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี เปิดเผยว่า โครงการนี้ดำเนินการผิดตั้งแต่แรก โดยอดีตนายกรัฐมนตรีอนุมัติโครงการตั้งแต่ต้น มาถึงนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ดำเนินการต่อจึงต้องไปแก้กันที่การยกเลิกครม.ฉบับนี้ก่อน ถ้าผลักดันต่อไปโดยศอ.บต.จะนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงต่อไปในอนาคตไม่รู้จบ

“มีการทำไอโอ เชื่อมโยงว่ากลุ่มต่อต้านเป็นกลุ่มต่อต้านรัฐฯ ไปอยู่ในกลุ่มขบวนการ BRN ขณะนี้ถูกนำไปสู่ชาวบ้านจะนะว่ากลุ่มคนต่อต้าน เป็นกลุ่มเดียวกับBRN เมื่อโครงการมันผิดตั้งแต่เริ่ม เราไม่ได้ต่อต้านให้หยุด และขอให้ถอยกลับมา หันกลับมาพิจารณาก่อน มีการอ้างตัวเลขเกินจริง จากบทเรียนโรงไฟฟ้าจะนะ ที่เคยจ้างคนในพื้นที่ทำงานและเอาออกในเวลาต่อมา คนจะนะดั้งเดิมมีการพัฒนาตนเองปรับตัวมาทางธรรมชาติมายาวนานจนถึงปัจจุบัน ไม่ควรไปทำลายวัฒนธรรมท้องถิ่นเขา อาจต้องบัญญัติคำเรียกใหม่ จากชาวประมง ชาวสวนเป็นชาวโรงงานเหมาะสมแล้วหรือ ต่อไปหากมีโครงการนิคมฯจะนะ เราจะมีความสุขเหมือนเดิมไหม จำเป็นไหมที่จะพัฒนาประเทศไปข้างหน้าแล้วมีคนใดคนหนึ่งมีความทุกข์ ขอเรียกร้องศอ.บต.ควรยุติบทบาทหน้าที่ต่อเรื่องนี้ ควรสร้างสันติภาพในพื้นที่ ไม่ควรเป็นผู้สร้างเชื้อไฟก่อให้เกิดความรุนแรงเอง ต้องระงับโครงการนี้และกลับไปศึกษาต่อเรื่องนี้ มาออกแบบ หาทางออกอย่างรอบด้าน ขอร้องให้หยุดการให้ข้อมูลไอโอที่ใส่ใคล้กลุ่มคนที่ต่อต้านด้วย” นายบัณฑิต กล่าว


ด้านนายธีรวัฒน์ ขวัญใจ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.อ. กล่าวว่า ได้ตั้งไว้ 3 ประเด็นคือ 1.การวางกฎหมายวางผังเมือง จากเอกสารที่ศอ.บต.ให้ไว้ น.62-90 เป็นเอกสารที่เรียกว่า การวางผังเมืองและการคมนาคมขนส่ง ภายใต้กฎหมายผังเมือง ผู้รับผิดชอบ คือ กรมโยธาธิการและผังเมือง กับศอ.บต. มันเกี่ยวข้องอย่างไร แท้จริงแล้วคือการกำหนดผังเมืองใหม่ ที่ถูกกำหนดไว้แล้ว แอยากทราบว่าเป็นแบบร่างหรือถูกกำหนดประกาศมาใช้แล้วหรือยัง ถ้าเป็นไปตามผังเมืองเดิมแล้ว ไม่สามารถเป็นเขตอุตสาหกรรมได้ แต่มีข้อยกเว้นว่า หากมีข้อพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเฉพาะกิจ สามารถเปลี่ยนแปลงได้ การดำเนินการเรื่องนี้แสดงข้อมูลวิชาการไม่สอดคล้องกับวิชาการผังเมืองพื้นที่ถูกกันไว้ 50% ถูกปรับเป็นสีม่วง พื้นที่ที่เหลือถูกมองข้ามไป

ประเด็นที่ 2 ภายใต้ขอบข่ายสิ่งแวดล้อม ทำไมไม่ใช้คำกำหนดนิคมอุตสาหกรรม เพราะการพัฒนาจะอยู่ภายใต้กรอบกฎหมายการพัฒนาของการสร้างนิคม อยู่ภายใต้พ.ร.บ.นิคมฯ การสร้างประชาคม EIA และ EHIA หรือการทำเฉพาะไม่มีการมองผลกระทบในภาพรวมว่าเป็นอย่างไร

“ใครมีส่วนร่วม ใครได้ใครเสีย ตั้งอยู่บนพื้นฐานความคิดแบบไหน การมองที่ผลประโยชน์การมองเรื่องสิทธิชุมชน ทุกคนควรมีสิทธิ์ในการร่วมกันตั้งข้อสังเกตุและหาทางออกให้ครบถ้วนรอบด้าน ถ้ามีแล้วดีอย่างไร เสียอย่างไร การแก้ปัญหา มีมาตรการแก้ปัญหาที่ตั้งไว้แล้ว เวทีวันที่11 นี้ ทำไมไม่เปิดให้คนจะนะในพื้นที่อื่นเข้าด้วย ให้เพียงคนในชุมชน 3 ตำบลเท่านั้น ถ้าเป็นเช่นนั้นหากมีการตั้งเวทีคู่ขนานได้หรือไม่ ภายใต้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นอกจากนี้ยังมีมิติทางกฎหมายอีกหลายจุดที่ดูทะแม่ง ศอ.บต. ยังแยกตัวให้ออกจากบริบททางการเมืองไม่ได้ ต้องทำหน้าที่รับใช้อำนาจของรัฐบาลโดยไม่ฟังเหตุผลแท้จริง” นายธีรวัฒน์ กล่าว