นับเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับคนไทยมาช้านาน สำหรับประเพณีท้องถิ่นในพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งมีความแตกต่างและหลากหลายกันไปตามความเชื่อ ความศรัทธา รวมถึงสภาพภูมิศาสตร์ของแต่ละภูมิภาค ซึ่งสะท้อนอัตลักษณ์ของผู้คนในแต่ละพื้นที่ได้เป็นอย่างดี ทั้งในมิติของศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม ดังเช่นประเพณีที่เชื่อว่าคนไทยหลายคน อาจคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี อย่าง "ประเพณีอุ้มพระดำน้ำำ" ของจังหวัดเพชรบูรณ์ตามตำนานของจังหวัดเพชรบูรณ์ที่มีต่อประเพณีอุ้มพระดำน้ำดังกล่าว ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายตำนานหลายความเชื่อ แต่ความเชื่อโดยส่วนใหญ่ของชาวบ้านในพื้นที่ดังกล่าวเชื่อว่าประเพณีอุ้มพระดำน้ำเกิดขึ้นในบริเวณแม่น้ำป่าสักของจังหวัดเพชรบูรณ์มาแล้วหลายร้อยปี ด้วยในครั้งนั้น ได้มีชาวบ้าน ไปหาปลาในแม่น้ำเพื่อยังชีพ (ปัจจุบันคือแม่น้ำป่าสัก) แต่ไม่พบปลา หรือสัตว์น้ำชนิดใด ๆ เลย ชาวบ้านเหล่านั้นจึงหมดหวัง และนั่งหมดแรงลงพักอยู่บริเวณริมแม่น้ำ ทันใดนั้นก็สังเกตเห็นว่า บริเวณกลางแม่น้ำ มีพระพุทธรูปกำลังลอยขึ้นอยู่เหนือบริเวณพื้นผิวของแม่น้ำ ภาพที่ปรากฏได้สร้างความแปลกใจให้กับผู้พบเห็นเป็นอย่างยิ่ง กระทั่งมีชาวบ้านคนหนึ่งได้ว่ายไปยังกลางแม่น้ำและอัญเชิญพระพุทธรูปองค์ดังกล่าวมาประดิษฐานไว้ภายในวัดบริเวณใกล้เคียงซึ่งก็คือวัดไตรภูมิ แต่หลังจากนั้นประมาณหนึ่งปีก็พบว่าพระพุทธรูปองค์ดังกล่าวได้หายไปจากแท่นประดิษฐาน และต่อมามีผู้พบว่าพระพุทธรูปองค์ดังกล่าวลอยอยู่เหนือแม่น้ำ ในจุดเดิมที่เจอพุทธรูปองค์ดังกล่าวเป็นครั้งแรกหลังจากนั้นเรื่อยมา ทุกวันแรม 15 ค่ำเดือน 10 หรือในช่วงเดือนกันยายน - ตุลาคม ของทุกปีจึงได้มีการนำพระพุทธรูปองค์ดังกล่าวลงไปใต้น้ำโดยการอุ้มลงดำน้ำ โดยผู้ทำหน้าที่นี้จะต้องเป็นระดับเจ้าเมืองเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันก็คือระดับผู้ว่าราชการจังหวัดของเพชรบูรณ์ เป็นผู้ทำหน้าที่ดังกล่าวต่อเนื่องกันเป็นประจำทุกปีตั้งแต่ยุคโบราณเป็นต้นมา และพระพุทธรูปองค์ที่ว่านี้ก็คือ " พระพุทธมหาธรรมราชา" การประกอบพิธีอุ้มพระดำน้ำเป็นประจำทุกปีนี้ ส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่โดยรอบรวมถึงประชาชนชาวจังหวัดเพชรบูรณ์เชื่อว่าจะทำให้มีแต่ความสงบสุข บ้านเมืองอุดมสมบูรณ์ ประชาชนอยู่ดีกินดี จึงถือเป็นอีกหนึ่งประเพณีที่มีความสำคัญที่สร้างความเป็นสิริมงคลและความอุ่นใจให้กับประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างยิ่งประเพณีอุ้มพระดำน้ำ ของจังหวัดเพชรบูรณ์ เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งประเพณีของประเทศไทย ที่นอกจากจะเกี่ยวโยงกับความเชื่อ เรื่องลี้ลับอันเป็นตำนานของผู้คนในพื้นที่แล้ว ยังมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับสิ่งที่เรียกว่าภูมิปัญญาท้องถิ่นได้อย่างลงตัว ซึ่งนอกจากจุดหมายปลายทางเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา และรำลึกถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ยังเป็นการสืบสาน ทำนุ บำรุงพระพุทธศาสนาให้คงอยู่ไปตราบนาน รวมทั้งเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันผ่านพิธีกรรมหรือประเพณีที่สำคัญยิ่งนี้สำหรับใครที่สนใจเข้าร่วมชมงานประเพณีอุ้มพระดำน้ำหนึ่งเดียวของไทยนี้ ก็สามารถเข้าไปชมได้ทุกปีโดยปีนี้มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15 - 20 กันยายน 2563 ณ บริเวณวัดไตรภูมิ อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ ที่มาของข้อมูลและภาพประกอบ ประเพณีอุ้มพระดำน้ำ Official Page