หากคุณชอบไปเดินเตร่อยู่แถวเจริญกรุง ย่านเมืองเก่าที่เต็มไปด้วยอาคารโบราณเก่าแก่ ในรูปแบบสถาปัตยกรรมตะวันตกอย่างโบสถ์คริส หรือแนวจีนอย่างศาลเจ้า หรือกลิ่นแบบไทยย้อนยุคก็มีไม่น้อยเช่นกัน แต่ถ้าชอบแนวพิพิธภัณฑ์ แนะนำให้ไปที่เจริญกรุงซอย 43 ที่นั่นคุณจะได้พบกับแหล่งเรียนรู้ที่รวบรวมประวัติศาสตร์ไว้มากมายของชาวบางกอกสมัยก่อน นั่นคือ "พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก" พิพิธภัณฑ์ที่อนุรักษ์ของเก่าเอาไว้เพื่อคนรุ่นหลังได้ศึกษาพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ตั้งอยู่ในย่านเจริญกรุง อยู่ภายในซอย 43 ซึ่งเป็นสถานที่รวบรวมข้าวของเครื่องใช้ในอดีตของครอบครัวสุรวดี ดำเนินการโดย อาจารย์วราพร สุรวดี ผู้เป็นเจ้าของบ้านหลังนี้ โดยได้รับมรดกมาจาก นางสอาง สุรวดี ตันบุนเต็ก ผู้เป็นมารดา ภายในบ้านได้จัดแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนบางกอกในช่วงก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 คือระหว่างปี พ.ศ.2480-2500 ซึ่งข้าวของที่จัดแสดงทั้งหมดนั้นล้วนสะท้อนแนวคิดสังคมของคนไทยในสมัยนั้นได้เป็นอย่างดีพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 1 ไร่เศษ ได้แบ่งพื้นที่จัดแสดงออกเป็นสามอาคารด้วยกัน ดังนี้อาคารหลังแรก เป็นอาคารที่ครอบครัวสุรวดีเคยใช้เป็นที่พำนักอาศัยมาก่อน โดยนางสอาง มารดาของอาจารย์วราพร ได้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2480 ลักษณะทางสถาปัตยกรรมออกเป็นแนวตะวันตกซึ่งเป็นที่นิยมกันในสมัยนั้น รูปแบบเป็นเรือนไม้สองชั้น หลังคาเป็นทรงปั้นหยา มุงกระเบื้องว่าวสีแดง ในส่วนของผนังทำด้วยไม้ ช่างที่ทำการก่อสร้างบ้านหลังนี้เป็นชาวจีน โดยใช้งบประมาณในการสร้างบ้านทั้งสิ้นประมาณ 2,400 บาท และได้มีการต่อเติมเสริมบ้านอีกในปี พ.ศ.2503อาคารหลังที่สอง เป็นอาคารไม้สองชั้น เดิมทีถูกสร้างอยู่ที่ทุ่งมหาเมฆเมื่อปี พ.ศ.2472 แต่ต่อมาได้ถูกรื้อและย้ายมาสร้างอยู่รวมกันในพื้นที่เดียวกับอาคารหลังแรก แต่ย่อส่วนให้มีขนาดเล็กลง ลักษณะคล้ายอาคารหลังแรก แรกเริ่มเดิมที นายแพทย์ฟรานซิส คริสเตียน (สามีคนแรกของนางสอาง สุรวดี) ตั้งใจสร้างบ้านหลังนี้ขึ้นเพื่อใช้เป็นที่รักษาคนป่วยไข้ตรงชั้นล่าง ส่วนชั้นบนใช้เป็นที่อยู่อาศัย แต่สร้างยังไม่ทันเสร็จ นายแพทย์ฟรานซิสมาเสียชีวิตไปเสียก่อน บ้านหลังนี้จึงทำเป็นบ้านเช่าเรื่อยมา จนกระทั่งอาจารย์วราพรได้ทำการรื้อบ้านและย้ายมาสร้างในบริเวณเดียวกับบ้านหลังแรก และจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ เพื่อทำเป็นที่จัดแสดงประวัติความเป็นมาของนายแพทย์ฟรานซิส และเป็นอนุสรณ์รำลึกถึงคุณหมอผู้ล่วงลับอีกด้วยอาคารหลังที่สาม เดิมทีเป็นตึกแถวจำนวนแปดห้อง ซึ่งนางสอาง มารดาของอาจารย์วราพร ได้สร้างขึ้นเพื่อให้เช่า ต่อมาอาจารย์วราพรได้ยกเลิกสัญญาเช่าและปรับปรุงอาคารให้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ จัดแสดงเครื่องใช้ต่างๆ ที่บอกถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนบางกอกในสมัยก่อนปัจจุบัน อาจารย์วราพรได้เสียชีวิตแล้วเมื่อ 25 มกราคม 2560 เนื่องจากประสบอุบัติเหตุตกจากชั้นสองของบ้านพัก หลังจากเอื้อมมือจับแมวเพื่อให้ลงมากินอาหารในช่วงค่ำของวันที่ 15 มกราคม ปีเดียวกัน ทำให้อาการสาหัสและพักรักษาตัวที่ห้องไอซียู สถาบันประสาทวิทยา เป็นเวลากว่าหนึ่งสัปดาห์ ในที่สุดท่านก็ได้จากไปอย่างสงบ แต่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ก็ยังคงยืนหยัดเพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนต่อไป และเพื่อเป็นการรักษาคุณค่าทางประวัติศาสตร์ที่ชาวบางกอกทุกคนภาคภูมิใจจนทุกวันนี้พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก เปิดให้เข้าชมทุกวัน เว้นวันจันทร์ เวลา 9.00 - 16.00 น. ปล.ทุกภาพในรีวิวนี้ถ่ายโดย เอ๋จัง ลากแตะ (ผู้เขียน)