เช็ก! เตียงโควิดทั่วไทยครองแล้ว 30% กรมแพทย์ยันยังพอ แต่ขอประเมินอีกครั้งก่อนสิ้น เม.ย.
ข่าววันนี้ (22 เมษายน 2565) ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์เตียงรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ในโรงพยาบาล (รพ.) และสถานพยาบาลอื่นๆ ทั่วประเทศ ในช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์ ว่า ต้องขอขอบคุณบุคลากรที่อยู่หน้างานอย่างมากที่ช่วยกันทำข้อมูล ซึ่งพบว่าอัตราครองเตียงในโรงพยาบาล (รพ.) ภาพรวมลดลงชัดเจน คนติดเชื้อส่วนใหญ่เข้าระบบเจอแจกจบ และรักษาที่บ้าน (HI) ขณะเดียวกัน อัตราครองเตียงระดับ 3 ปอดอักเสบ ใส่ท่อช่วยหายใจและผู้เสียชีวิตยังทรงตัวอยู่ เตียง 2.2 ใช้เครื่องไฮโฟล์ว ลดลงเล็กน้อย เตียง 2.3 ใช้เครื่องออกซิเจน ลดลงชัดเจน และเตียง 1 กับการแยกกักในชุมชน (CI) ลดลงมาก อย่างไรก็ตาม ที่อัตราผู้เสียชีวิตและผู้ป่วยปอดอักเสบยังทรงตัว เนื่องจากหลังการติดเชื้อต้องใช้เวลากว่าจะมีอาการหนัก จึงดีเลย์ราว 1-2 สัปดาห์ ไม่ใช่ว่าวันนี้ยอดติดเชื้อสูงแล้วจะมีตัวเลขผู้ป่วยหนักทันที ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าการติดเชื้อปัจจุบันบางรายไม่มีอาการ ก็ไม่ได้ตรวจ
นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับการใช้เตียงภาพรวมพบว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะครองเตียงสูงกว่าที่อื่นๆ รวมถึงอัตราเสียชีวิตด้วย ซึ่งจะสอดคล้องกับอัตราการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้น (บูสเตอร์ โดส) ที่ฉีดได้น้อย โดยเฉพาะกลุ่ม 608 เช่น ร้อยเอ็ด ครองเตียงรวม ร้อยละ 73.9 ขอนแก่น ร้อยละ 83.34 แต่ก็มีการบริหารเตียงระดับ 3 และ 2 อย่างเช่น อุดรธานี ขยายเตียงเพิ่มด้วยการนำเตียงผู้ป่วยทั่วไปมารองรับ ดังนั้น ภาพรวมทั่วประเทศครองเตียง ร้อยละ 30
“จึงยืนยันว่า เตียงเพียงพอรองรับผู้ป่วย ซึ่งเป็นการประเมินหลังเทศกาลสงกรานต์ 1 สัปดาห์ แต่ก็ยังต้องจับตาอีก 1 สัปดาห์ ช่วงก่อนสิ้นเดือนเมษายนนี้ ซึ่งจะเป็นตัวเลขจริงๆ ที่เกิดขึ้นจากเทศกาลสงกรานต์ หากไม่พุ่งขึ้นมาก ก็จะสามารถรองรับได้ ทั้งนี้ อัตราการครองเตียงใน รพ. จะเป็นกลุ่ม 608 และผู้ที่มีอาการปานกลาง เฉลี่ยรายละ 7 วัน ขึ้นอยู่กับอาการแต่ละราย บางรายที่อาการหนัก ก็ครองเตียงราว 2 สัปดาห์ ส่วนกลุ่มเสี่ยงที่หมอไม่แน่ใจ มีอาการโรคของตัวเองพอสมควรก็ขอให้แอดมิท (Admit) อย่างไรก็ตาม ภาพรวมเตียงกรุงเทพมหานครและปริมณฑลตัวเลขคงตัว การเสียชีวิตมีแนวโน้มลดลง อาจเพราะฉีดวัคซีนกระตุ้นมาก” นพ.สมศักดิ์ กล่าว
อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวด้วยว่า สำหรับสถานการณ์โควิดในเด็กการติดเชื้อเทียบเดือนเมษายน 2564 และ เดือนมกราคม 2565 พบเพิ่ม 2 เท่า แต่อัตราความรุนแรงและอัตราเสียชีวิตไม่ได้สูงมาก โดยเสียชีวิตระลอกเดือนเมษายน 2564 อยู่ที่ ร้อยละ 0.018 ขณะที่เดือนมกราคม 2565 ร้อยละ 0.017 ซึ่งเด็กเสียชีวิตระลอกเดือนมกราคม 2565 พบว่าเสียชีวิตในเด็กน้อยกว่า 5 ปี มากกว่าร้อยละ 50 และทั้งสองระลอก พบเด็กเล็กทุกกลุ่มอายุที่มีโรคร่วมประมาณร้อยละ 32.7 ทั้งนี้ ปัจจัยฉีดวัคซีนค่อนข้างสำคัญ เพราะข้อมูลไม่ได้ฉีดวัคซีนในเด็กเสียชีวิตมีถึงร้อยละ 95 อย่างไรก็ตาม อัตราครองเตียงเด็กอยู่ที่ร้อยละ 46 มีเพียงพอ จำนวนกุมารแพทย์กระจายทั้งประเทศ ทั้งในภาครัฐและเอกชนกว่า 1,900 คน
นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ตามแนวทางเวชปฏิบัติฯ หรือ CPG กรมการแพทย์ จะมี 4 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่ไม่มีอาการหรือสบายดี ไม่ต้องกินยาต้านไวรัส ไม่ต้องกินยาฟาวิพิราเวียร์ ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ 2.กลุ่มที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงพิจารณาให้ฟาวิพิราเวียร์เร็วที่สุด 3.กลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อโรครุนแรง หรือกลุ่มที่มีปอดอกัเสบแต่ยังไม่ต้องให้ออกซิเจน พิจารณาให้ยาต้านไวรัสเร็วที่สุด ตัวใดตัวหนึ่งตาม CPG ของกรมการแพทย์ ได้แก่ ฟาวิพิราเวียร์ หรือเรมเดซิเวียร์ หรือโมลนูพิราเวียร์ หรือแพกซ์โลวิด โดยประเมินจากประวัติวัคซีนและปัจจัยเสี่ยงต่อโรครุนแรง และ 4.กลุ่มที่มีอาการปอดอักเสบต้องได้รับการรักษาด้วยออกซิเจน หรือพิจารณาให้เรมดิซิเวียร์เร็วที่สุด
“อย่างไรก็ตาม ตามแนวทางรักษาการรักษาในผู้ป่วยกลุ่มเด็ก มีแนวทาง 1.ให้ยาฟาวิพิราเวียร์ ชนิดเม็ดหรือน้ำ ในกลุ่มอาการไม่รุนแรง และ 2.เรมเดซิเวียร์ในกลุ่มอาการปานกลางถึงรุนแรง ส่วนการรักษาในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ มีแนวทางให้เรมเดซิเวียร์ และอาจพิจารณาให้ฟาวิพิราเวียร์ ในไตรมาสที่ 2-3 พิจารณาเป็นกรณี” นพ.สมศักดิ์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามถึงเป้าหมายการเตรียมเตียงหลังเทศกาลสงกรานต์ นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า หากดูข้อมูลช่วงนี้ ยังค่อนข้างมั่นใจ ยกเว้นจะติดเชื้อพุ่งกระฉูด แต่หลายๆ ฝ่ายก็ประเมินว่า น่าจะไม่ถึงขั้นพุ่งกระฉูด ซึ่งต้องขอบคุณประชาชนที่สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง