ว่าด้วยเรื่องสิทธิของผู้พิการ ต้องบอกก่อนว่าเรื่องนี้ใกล้ตัวเรามาก เรียกว่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เพราะในบ้านมีผู้ถือบัตรผู้พิการอยู่ถึง 2 คน คนแรกคือพ่อ พิการเป็นอัมพฤกษ์ ด้วยอาการของเส้นเลือดสมองแตก ทำให้ซีกซ้ายเสีย 80% และสามารถเดินเองได้ด้วยการใช้ไม้เท้า 3 ขา คนที่ 2 คือน้องสาว เข้าข่ายพิการด้วยอาการของโรคกระดูกมาแต่กำเนิด ดังนั้นในช่วงที่เชื้อไวรัสโควิด-19 ระบาด ทางรัฐบาลก็กรุณาให้ความช่วยเหลือผู้พิการด้วยเช่นกัน เราไปดูว่า ก่อนหน้านี้ได้รับความช่วยเหลืออะไรมาแล้วบ้าง และปัจจุบันจะได้รับความช่วยเหลืออะไรเพิ่มเติม รวมถึงการบริหารจัดการต่าง ๆ ในครอบครัวของเราเป็นอย่างไร? เราจะมาแชร์ให้ทราบกันค่ะ เครดิตภาพ : pxby666 ก่อนหน้านี้ทั้งพ่อและน้องสาว จะได้รับเงินช่วยเหลือเดือนละ 800 บาท ทุกเดือน โดยโอนเข้าบัญชีของแม่ บัญชีนี้ไม่มีการเปิด ATM เพราะเราเห็นว่าสิ้นเปลือง คือ “งก” ไม่อยากเสียค่าธรรมเนียม และด้วยความที่ครอบครัวเราไม่จำเป็นต้องใช้เงินส่วนนี้ทุกเดือน ก็เลยสะสมเอาไว้ คล้ายกับเป็นเงินเก็บอีกหนึ่งก้อน หากจำเป็นต้องใช้ เราจะมีหน้าที่พาแม่ไปเขียนเบิกที่เคาท์เตอร์ ดังนั้นจึงพูดหยอกกันในครอบครัวว่า ไม่ต้องห่วงว่าใครจะโกงแม่ได้เด็ดขาด เพราะแม่จัดการเองทุกขั้นตอน ส่วนพ่อกับน้อง ก็แล้วแต่แม่เช่นกัน ข่าวดีอีกหนึ่งเรื่องคือ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 นี้เป็นต้นไป ผู้พิการจะได้รับเงินช่วยเหลือเพิ่มเป็น 1,000 บาท (ตามมติ ครม.) เครดิตภาพ : nattanan23 ในช่วงที่ เชื้อไวรัสโควิด-19 ระบาด เราจะติดตามความช่วยเหลือด้านการเงินตลอด ซึ่งแต่ละคนก็ได้รับความช่วยเหลือที่แตกต่างกันไป สำหรับผู้พิการมีการประกาศว่า จะมีการจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาคนพิการ แต่ให้เฉพาะคนพิการที่มีบัตรประจำตัวเท่านั้น คนละ 1,000 บาทถ้วน (จ่ายเพียงครั้งเดียว) พอไปบอกแม่แค่นั้นแหละ “ยิ้มไม่หุบ” กันเลยทีเดียว เอาจริง ๆ แล้วพ่อกับน้อง ก็ไม่ได้ทำงานอะไร ถือว่าไม่ได้รับความเดือดร้อน แต่ยังคงได้รับความช่วยเหลือ ก็ต้องขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ และแน่นอนว่า แม่จะใช้เงินในส่วนนี้ไปในทางที่ถูกที่ควรแน่นอน เครดิตภาพ : Picsues ยังไม่จบที่เงิน 1,000 บาท เพราะสามารถกู้เงินได้อีกคนละ 10,000 บาท โดยไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน ไม่มีดอกเบี้ย และผ่อนชำระภายใน 5 ปี และปีแรกไม่ต้องจ่ายคืนเลยสักบาท เราบอกแม่ว่า เป็นเงื่อนไขที่ดีมากเลยนะแม่ พอได้ยินแค่นี้แหละ เจ้าน้องสาวตัวดี รีบตะโกนบอกทันทีว่า ให้ซื้อพิซซ่าถาดใหญ่มา 1 ถาด แลกกับการอนุมัติให้กู้เงิน เพราะเค้าคือผู้พิการตัวจริง ๆ คนอื่นห้ามทึกทักเอาเอง (ฮา.. ขำกันไป) แต่จะกู้เงินส่วนนี้หรือไม่ เราก็ไม่รู้เหมือนกัน ค่อยว่ากันอีกที แต่หากเป็นช่วงเวลาปกติ จะสามารถกู้ยืมเงินกองทุนคนพิการได้ 60,000 บาท / คน ไม่เสียดอกเบี้ย ในระยะเวลา 5 ปี แต่ต้องมีบุคคลค้ำประกัน ซึ่งส่วนนี้ครอบครัวเราไม่เคยใช้สิทธิ เคยมีญาติมาชวนให้กู้อยู่เหมือนกัน แต่ขอปฏิเสธดีกว่า ด้วยเหตุผลของเครดิตทางการเงินของอีกฝ่าย เครดิตภาพ : stevepb ในส่วนของผู้ดูแลผู้พิการ ครอบครัวเราจะยกสิทธิเรื่องการลดหย่อนภาษี ให้กับพี่สาวที่ทำงานประจำ รวมถึงสิทธิลดหย่อนในการดูแลแม่ด้วย ดังนั้นสรุปแล้ว พี่สาวเราจะได้สิทธิลดหย่อนภาษี คือ 1.ดูแลผู้พิการ 1 คน (น้องสาว) 60,000 บาท / 2.ดูแลแม่ 60,000 บาท ในส่วนของพ่อไม่ได้สิทธิ เพราะพ่อรับเงินบำนาญ ... ถามว่าทำไมเรา (ผู้เขียน) ไม่เอาอะไรเลย ก็เพราะเราทำงานฟรีแลนซ์ รายได้ไม่ได้มากอะไร ยื่นภาษีทุกปี และได้คืนจำนวนหนึ่ง แต่พี่สาวเราจะใช้ประโยชน์จากการลดหย่อนได้มากกว่า ซึ่งก็ได้เงินคืนจำนวนหนึ่งด้วยเหมือนกัน แม่บอกว่าเอาไว้เป็นค่าใช้จ่าย เพราะทำงานอยู่ในกรุงเทพ เปลืองเงินหลายอย่าง ให้ยกให้พี่เค้าไป เครดิตภาพ : stevepb จะเห็นว่า แม้บ้านเราจะมีคนพิการถึง 2 คน แต่โชคดีที่พ่อมีบำนาญ ส่วนน้องสาว ก็ทำงานเล็ก ๆ น้อย ๆ ในบ้านได้ ทั้ง 2 คน ไม่มีค่าใช้จ่ายในการดูแลความพิการมากนัก เพราะใช้สิทธิของรัฐบาลได้ทั้งหมด และทั้ง 2 คนก็ไม่มีโรคแทรกซ้อนใด ๆ นอกจากโรคที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเราถือว่าเป็นความร่วมมือของทุกคนในบ้าน ที่พยายามคัดกรองในเรื่องการกินอย่างมาก จนหมอสั่งให้พ่อลดยาได้ แต่ต้องเข้มงวดเรื่องการออกกำลังกายกันให้มากหน่อย เพราะผู้ที่เป็นโรคนี้จะขี้เกียจแรงมาก ... (มาจบที่สุขภาพได้ยังไงเนี้ยะ!) สรุปว่าทั้งหมดนี้ แม้จะไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุด แต่ก็ไม่ได้เลวร้ายจนเกินไป ในเมื่อ “เงิน” เป็นสิ่งสำคัญในการดำเนินชีวิต เราและครอบครัว ก็ต้องหาทางใช้ประโยชน์จากสิ่งที่เป็นอยู่ให้มากที่สุด ก็เท่านั้นเอง ส่วนจะกู้เงินจากโควต้าของคนพิการหรือไม่ ก็ต้องมีมติครอบครัวกันอีกที กดที่รูปโปรไฟล์ แล้วกด “ติดตาม” เอาไว้นะคะ เรามีประสบการณ์เรื่องการจัดการหนี้สินและการเงินมาแชร์อีกเยอะเลยค่ะ เครดิตภาพปก : klimkin บทความน่าอ่าน : - หนี้สินก็อยากจ่าย ส่วนลดก็อยากได้ ทำไงดี? - จ่ายชำระหนี้ขั้นต่ำไม่ไหว เก็บเงินก้อนไม่ได้ ทำยังไงดี? - หนี้เสียต้องใส่ใจ ระวัง!! ถูกอายัดเงินเดือนและเงินฝากแบบไม่รู้ตัว