รีเซต

‘ตลท.’ หนุน ‘ส.อ.ท.’ ดึงบริษัทยักษ์ 100 อันดับแรก รับซื้อหนี้การค้าดอกเบี้ยต่ำ เสริมสภาพคล่องเอสเอ็มอี

‘ตลท.’ หนุน ‘ส.อ.ท.’ ดึงบริษัทยักษ์ 100 อันดับแรก รับซื้อหนี้การค้าดอกเบี้ยต่ำ เสริมสภาพคล่องเอสเอ็มอี
มติชน
8 มิถุนายน 2564 ( 05:32 )
76
‘ตลท.’ หนุน ‘ส.อ.ท.’ ดึงบริษัทยักษ์ 100 อันดับแรก รับซื้อหนี้การค้าดอกเบี้ยต่ำ เสริมสภาพคล่องเอสเอ็มอี

 

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เตรียมเสนอแนวทางช่วยเหลือเอสเอ็มอี ผ่านการให้บริษัทขนาดใหญ่ 100 อันดับแรกที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เดินหน้าทำโครงการแฟคตอริ่ง หรือการรับซื้อหนี้การค้าเป็นสินเชื่อระยะสั้น ที่สามารถเปลี่ยนบิล หรือเอกสารทางการค้า โดยคิดอัตราดอกเบี้ยระดับต่ำ เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับธุรกิจนั้น เบื้องต้นถือว่าเป็นแนวคิดที่ดี และพร้อมสนับสนุน เนื่องจากสิ่งที่กระทบกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเป็นเรื่องสภาพคล่อง โดยเฉพาะในช่วงการที่ไม่สามารถผลิตสินค้าได้ หรือจำหน่ายสินค้าได้น้อยลง ทำให้เงินทุนที่กิจการใช้หมุนเวียนเพื่อดำเนินกิจการหายไป ทำให้ธนาคารพาณิชย์อาจปรับลดวงเงินสินเชื่อลง เมื่อไม่เห็นกิจกรรมทางการเงินเหล่านี้ สิ่งที่จะทำได้คือ แวลูเชนและซัพพลายเชน หากเป็นเอสเอ็มอีที่ทำธุรกิจร่วมกับบริษัทใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ อาจสามารถลดเวลารอการได้รับเงินชำระสินค้า และสามารถนำใบเสร็จรับเงินมาทำเป็นการรับซื้อหนี้การค้าเป็นสินเชื่อระยะสั้น ซึ่งทำได้ทั้งบริษัทคู่ค้าลดเวลาในการรอรับเงินชำระค่าสินค้า และให้บริษัทเอสเอ็มอีสามารถนำใบเสร็จรับเงินมาขายเป็นส่วนลดได้หรือไม่ ซึ่งตลท.กำลังพิจารณาอยู่ว่า จะสามารถจัดทำแพลตฟอร์มเพื่อสนับสนุนบริษัทเอสเอ็มอี ในการให้บริษัทขนาดใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ รับซื้อหนี้การค้าเป็นสินเชื่อระยะสั้นได้บ้าง

 

 

“ภาวะการลงทุนในขณะนี้ อัตราดอกเบี้ยทั้งของพันธบัตรรัฐบาลและธนาคารพาณิชย์ อยู่ในระดับที่ต่ำมาก ทำให้หากมีทางเลือกในการลงทุนผ่านการนำใบเสร็จรับเงินที่แท้จริง นำมาขายเป็นส่วนลด และเมื่อถือครบตามเวลาที่กำหนดแล้ว สามารถได้รับเงินคืนจากบริษัทขนาดใหญ่ เพียงแค่เปลี่ยนจากการต้องจ่ายให้กับบริษัทเอสเอ็มอี มาจ่ายให้ก้บผู้ลงทุนแทน ซึ่งส่วนนี้มีความน่าสนใจมาก โดยตลท.เองมีการจัดทำกระดานหุ้นที่ 3 หรือกระดานซื้อขายหุ้นเอสเอ็มอี ซึ่งความคืบหน้าในขณะนี้ อยู่ระหว่างการปรับเงื่อนไขให้เป็นไปตามเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งคาดว่าภายในสิ้นปี 2564 จะสามารถจัดทำระบบส่วนกลางและฝึกหัดให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีใช้งานได้ ส่วนกลางปี 2565 คาดว่าจะสามารถเปิดการซื้อขาย เพื่อระดมทุนใหม่ในการสร้างกิจการได้” นายภากร กล่าว

 

 

นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2564 ดัชนีหุ้นไทยปิดที่ระดับ 1,593.59 จุด ปรับเพิ่มขึ้น 0.7% เมื่อเทียบกับสิ้นเดือนเมษายน ที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้น 10% จากสิ้นปี 2563 ถือเป็นการปรับเพิ่มขึ้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยของดัชนีตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ โดยมีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันใน SET และ mai อยู่ที่ 109,446 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 63.8% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยใน 5 เดือนแรกปี 2564 มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 98,859 ล้านบาท ผู้ลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 34,054 ล้านบาท ซึ่งในช่วง 5 เดือนแรกปี 2564 ผู้ลงทุนต่างชาติขายสุทธิรวม 66,870 ล้านบาท ถือเป็นการขายสุทธิ 5 เดือนต่อเนื่อง ส่วนผู้ลงทุนในประเทศมีสถานะเป็นผู้ซื้อสุทธิ 101,236  ล้านบาท โดยนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 ที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 พบว่า ผู้ลงทุนในประเทศมีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายสูงที่สุดอย่างต่อเนื่อง

 

 

นายศรพล กล่าวว่า อุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีกว่าภาพรวมตลาดเมื่อเทียบกับสิ้นปี 2563 ได้แก่กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง กลุ่มเทคโนโลยี และกลุ่มธุรกิจการเงิน โดยในเดือนพฤษภาคม มีบริษัทเข้าจดทะเบียนซื้อขายใหม่ใน SET 3 บริษัท และใน mai 3 บริษัท ซึ่งใน 5 เดือนแรกปีนี้ มีมูลค่าระดมทุน (ไอพีโอ) สูงที่สุดเมื่อเทียบกับตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ ในอาเซียน สาเหตุหลักมาจากการเข้าจดทะเบียนของบมจ. ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก (OR) และ บมจ. เงินติดล้อ (TIDLOR)

 

 

“แนวโน้มครึ่งหลังปีนี้ สิ่งที่ต้องติดตามคือ 1.เศรษฐกิจโลกจะสามารถฟื้นตัวยั่งยืนได้มากน้อยเท่าใด โดยต้องมองมาตรการกระตุ้นของประเทศมหาอำนาจ อาทิ สหรัฐ หากสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีจะลดความเสี่ยงระยะสั้นได้ 2.การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว และ 3.การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน (อีเอสจี)” นายศรพล กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง