เดินป่าภาวนาทุ่งแสลงหลวง แหล่งเรียนรู้ใจตัวเองเรื่อง/ภาพ: ทนายน้อยหน่าเราได้มีโอกาสไปศึกษาดูจิตดูใจตัวเองผ่านการเดินป่าที่เรียกว่า "เดินป่าภาวนา" จัดโดยกลุ่มบ้านธรรมทาน ซึ่งเป็นศูนย์เรียนรู้ธรรมะโดยการปฏิบัติภาวนาตั้งอยู่ที่ จังหวัดพิษณุโลก บ้านธรรมทานได้จัด "เดินป่าภาวนา" ที่ทุ่งแสลงหลวง ครั้งนี้เป็นการเดินป่าครั้งแรกในชีวิตของเรา เป็นการกินนอนในป่า 4 วัน 3 คืน ตอนที่ไปคือเดือนตุลาคม อากาศกลางคืนจึงค่อนข้างเย็น เดินป่าภาวนาแล้วเรียนรู้ใจตัวเองได้อย่างไรจะเล่าให้ฟังเริ่มจากลงเครื่องบินที่สนามบินพิษณุโลกหน้าตายังสดใสเริงร่า จากนั้นไปรวมตัวกับสมาชิกที่จะเดินทางไปที่บ้านธรรมทานแล้วนั่งรถไปที่อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง ทริปนี้มีเจ้าหน้าที่ป่าไม้ไปดูแล 3 คน, ทีมพราน 6 คน, พระอาจารย์ 1 รูป นำทีมภาวนาความลำบากของการเดินป่าคือการแบกของหนักเพราะต้องแบกเองทุกอย่างทั้งเต๊นท์, ถุงนอน, อุปกรณ์ยังชีพ, น้ำขวด ของเราความที่ไม่มีประสบการณ์แม้จะได้รับคำแนะนำจากคนขายอุปกรณ์เดินป่าแต่สุดท้ายทั้งเต๊นท์ทั้งเป้เปล่าก็ปาเข้าไป 6 กิโลกรัม เบ็ดเสร็จเมื่อแพ็คของแล้วคือ 11 กิโลกรัม คืออยู่บ้านใช้เครื่องชั่งน้ำหนักตัวได้ 9 กิโลกรัม แต่พอไปถึงบ้านธรรมทานใช้ตาชั่งกิโลแม่ค้ากลายเป็น 11 กิโลกรัมแต่ก็ไม่รู้จะเอาอะไรออกแล้วเพราะเสื้อผ้าเอาไปน้อยมาก กางเกงก็ใส่ตัวเดียวทั้ง 4 วัน ก็เลยต้องแบกไปหนัก ๆ แบบนั้นวันแรกต้องเดินปีนขึ้นเขาซึ่งสูงจากระดับพื้นดินประมาณ 700 เมตร (เจ้าหน้าที่ป่าไม้เอาอุปกรณ์ออกมาวัด)จนถึงจุดที่จะเดินเท้าเข้าป่าใช้เวลา 8 ชั่วโมงเต็มคือไปถึงก็มืดพอดี ก็กางเต๊นท์กันมืด ๆ มีทำวัตรเย็นก่อนนอนด้วย (เราคือคนใส่หมวกสีเหลือง)วันแรกไม่กล้าอาบน้ำเพราะมืดและมีแต่ป่ามองอะไรไม่เห็นกลัวตกน้ำก็ซักแห้งไป คืนแรกฝนตกโชคดีที่ใช้ผ้าพลาสติกปูพื้นดินก่อนปูเต๊นท์และปูในเต๊นท์อีกชั้นทำให้ความชื้นไม่ขึ้นมา เทคนิคนี้ได้จากเพื่อนในทริปแนะนำให้เตรียมมา วันนี้ได้ดื่มน้ำจากลำธารเป็นครั้งแรกในชีวิตเช่นกัน ตอนเดินขี้นเขาจะเจอลำธารอยู่ 2 ครั้งทุกครั้งต้องเติมน้ำให้เต็มขวดเสมอเพราะถ้าหมดคืออดส่วนทางขึ้นเขาต้องใช้ปีนหินที่สูง ขาแข้งก็ไม่ยืดหยุ่นเหมือนตอนเด็กนับว่าลำบากแต่ก็ต้องผ่านไปให้ได้ มีช่วงพีคอยู่ 2 ช่วงที่เหนื่อยแทบขาดใจเพราะปีนสูงมากแบกเป้ขึ้นไม่ไหวต้องใช้วิธีโยนเป้ขึ้นไปก่อนแล้วใช้ตัวปีนตามขึ้นไป อีกช่วงตอนจะขึ้นยอดเขาต้องปีนบันไดลิงและมีคนช่วยดึงไม่งั้นตกเขาแน่นอนวันที่สองตื่นเช้ามืดรีบไปอาบน้ำก่อนไม่กลัวเหมือนเมื่อคืนเพราะกะว่ากว่าจะเดินไปถึงลำธารก็สว่างพอมองเห็น แต่เอาเข้าจริงก็ยังมืดอยู่ก็ใช้แสงจากไฟฉายคาดหัว เป็นครั้งแรกในชีวิตที่อาบน้ำกลางแจ้งแบบไม่มีที่กำบัง พอดีเพื่อนที่ร่วมทริปใช้วิธีเอาถุงดำสำหรับใส่ขยะมาใส่ยางยืดเป็นกระโจมอกแทนผ้าถุงก็เลยขอยืมมาใช้พบว่าสะดวกมาก อาบน้ำได้ทั่วถึง ถ้าใครจะไปเดินป่าแนะนำเลยจากนั้นก็ทำวัตรเช้าซึ่งทุกครั้งที่ทำวัตรเช้าเย็นจะนั่งสมาธิภาวนาประมาณครึ่งชั่วโมงแล้วพระอาจารย์จะนำสวดมนต์แผ่เมตตาและมีเทศน์โดยน้อมเรื่องเดินป่าให้กลับมาดูใจดูความคิดขณะเดิน มีเพ่งโทษคนอื่นมั้ยเช่นคนนั้นคนนี้ทำไมไม่มีน้ำใจ คนนั้นเดินช้า คนนี้เดินเร็ว คนนี้อายุเยอะแล้วจะมาทำไม ฯลฯ จากนั้นก็กินข้าวเช้าฝีมือพรานด้วยความรวดเร็วเพราะต้องรีบเก็บเต๊นท์ออกเดินทางต่อไม่เกิน 9 โมง อะไรที่ไม่ใช้เช่นขยะจะเผาทิ้งและดับไฟก่อนออกเดินทางเสมอจะไม่มีการทิ้งเป็นขยะในป่าวันที่สองและสามจะเดินทางราบในป่าก็สบายหน่อยจะมีตื่นเต้นก็คือข้ามลำธารซึ่งน้ำประมาณหน้าอกโดยมีท่อนไม้ขนาดพอดีเท้าให้ข้าม ต้องมีสติมากเพราะแบกเป้หนักโอกาสเสียศูนย์สูงทีเดียว มีคนข้ามตกน้ำเหมือนกัน แต่เรารอให้ทุกคนข้ามไปก่อนไม่ออกันบนท่อนไม้แล้วค่อยข้ามก็ผ่านไปได้ กับอีกตอนหนึ่งต้องลุยน้ำข้ามลำธารซึ่งน้ำสูงประมาณหน้าแข้งต้องระวังลื่นล้มก็จะมีนายพรานกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้มายืนเป็นหลักให้กลางน้ำคอยจับมือช่วยส่งข้ามฝั่งเมื่อถึงที่พักได้มีประสบการณ์ในการปิ้งผ้า หลายคนจะมายืนปิ้งผ้ากันเพราะในป่าแดดส่องไม่ถึงผ้าไม่แห้ง อย่างเราเหงื่อออกเยอะเสื้อผ้าเปียกโชกก็ต้องมาปิ้งให้แห้งไม่งั้นจะหนักและใส่ต่อไม่ไหว เช้ามืดวันที่สามได้มีประสบการณ์ปลดทุกข์กลางป่าและกลบฝัง (นึกถึงแมวขึ้นมาเลย) เป็นอะไรที่ต้องมาเรียนรู้ด้วยตัวเองตั้งแต่การหาทำเลให้ไกลผู้คน หามุมมีต้นไม้บัง ดูแล้วปลอดภัยเพียงพอจึงค่อยปฏิบัติภาระกิจ คืนวันที่สามจะมีพูดคุยแบ่งปันกันว่าเป็นใครมาจากไหนมีประสบการณ์เดินป่าและปฏิบัติธรรมอย่างไรมาบ้าง ส่วนใหญ่มาเป็นครั้งแรกแต่ทุกคนคุ้นเคยกับการปฏิบัติธรรมมาแล้ว มีอายุมากสุด 63 ปีพี่ท่านนี้แข็งแรงมากนับถือจริงๆ มี 53 ปีอยู่หนึ่งคนแล้วก็เรา (อายุ 52 ปี) มีเด็ก 8 ขวบที่พ่อพามาด้วย เด็กนี่เดินเก่งสบายชิว ๆมีหลายคนที่รักการเดินป่าเป็นชีวิตจิตใจเรียกว่าเดินกันมาเป็นสิบ ๆ ครั้งเลย ได้ทราบว่าถ้าให้ความยากของการเดินป่าซึ่งรวมถึงการปีนเขา ของที่คณะเราเดินนี่คือ 2 จาก 10 ถ้าระดับยากนี่คือต้องปีนหน้าผากันเลยทีเดียววันที่สี่ต้องออกเดินทาง 7 โมงนิด ๆ เลยต้องรีบตื่นตั้งแต่ตี 4 ครึ่งไม่งั้นเก็บเต๊นท์ไม่ทัน วันนี้ลงเขาซึ่งยากกว่าตอนขึ้นก็จะมีหลาย ๆ คนจ้างลูกหาบซึ่งรวมทั้งเราด้วย ตอนเดินลงเขาหลาย ๆ ช่วงชันมากปีนไม่ได้จะลื่นล้มและเข่ารับน้ำหนักไม่ไหวก็ใช้วิธีสไลด์ตัวลงมาแทน เราใส่ยีนกะมาสไลด์อยู่แล้ว ขนาดเราใส่ผ้ายืดสนับเข่าเพื่อรองรับการกระแทกยังรู้สึกว่าเข่าถูกใช้งานหนักทีเดียววันที่สี่นี้มีเรื่องตื่นเต้นคือมีช้างป่านำหน้าคณะเราอยู่ระยะหนึ่งซึ่งอันตรายมาก หัวหน้าคณะเล่าให้ฟังว่าเคยพาทีมเดินป่าแล้วเจอช้าง พรานต้องให้ทุกคนไปปีนหลบที่หน้าผาเพราะช้างป่าจะดุ ครั้งนี้ก็จะหยุดรอเป็นระยะให้ช้างนำไปไกลก่อนแต่จะมีขี้ช้างสดให้เราเดินหลบตลอดทาง กว่าจะลงเขามาถึงทางเข้าอุทยานก็ใช้เวลาไปทั้งหมด 4 ชั่วโมง สรุปว่าเดินป่าภาวนาแล้วได้เรียนรู้อะไรได้รู้ว่าคนเราแท้จริงอยู่ง่ายกินง่ายไม่ต้องมีอะไรมาก หากอยากมีความสุขก็อย่าแบกของหนักให้เป็นภาระของชีวิต ของหนักก็เช่นของฉัน (ego) ได้รู้ว่าอายุเท่าไหร่ก็เดินป่าได้ถ้ากำลังกายยังดีอยู่ แต่ข้อนี้ถ้าคนไม่ออกกำลังกายเลยแนะนำว่าให้ฝึกเดินวันละ 5-10 กิโลเมตร ทุกวันสัก 2 สัปดาห์ก่อนเดินทางเพื่อฟิตร่างกายก่อน ได้เห็นดวงดาวที่สุกสกาวกลางฟ้ายามค่ำคืนพร้อมดวงจันทร์ที่ส่องแสงสวยงาม (อยู่ในเมืองไม่มีโอกาสเห็นดาวเลย) ได้เห็นน้ำใจของเพื่อนร่วมทางที่คอยช่วยเหลือกัน ได้กลับคืนสู่อ้อมกอดธรรมชาติบ้านที่แท้จริงของเรา ที่เรามาและเราต้องกลับไปสุดท้ายได้เรียนรู้ใจตัวเอง เห็นใจที่กำลังท้อ, เพ่งโทษผู้อื่นตอนเหนื่อยมาก, เห็นใจที่กลัวความมืด, เห็นใจที่สับสนลังเล (ขณะอุทานในใจกับตัวเองว่า "ฉันมาทำอะไรที่นี่" "ทำไมต้องมาลำบากแบบนี้ด้วยวะ") ในขณะเดียวกันก็เห็นการดับของความคิดเหล่านั้น ซึ่งในภาวะปกติที่สุขสบายเราแทบจะไม่เห็นความคิดเหล่านี้เลย ทำให้เข้าใจเป็นอย่างดีถึงคำว่า "สุขก็อยู่ไม่นาน ทุกข์ก็อยู่ไม่นาน" นับว่าคุ้มค่ามากกับการเดินป่าภาวนาในครั้งนี้ ถ้ามีโอกาสก็ตั้งใจที่จะมีครั้งต่อไปและต่อ ๆ ไปหากสนใจเดินป่าภาวนาติดตามได้จากเฟสบุ๊กบ้านธรรมทาน https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=2966003210098488&id=100000665158546ขอบคุณภาพจากเพื่อน ๆ ร่วมทริปที่ถ่ายรูปแบ่งปันกันในไลน์กลุ่มและในเฟสบุ๊กบ้านธรรมทาน