รีเซต

ทำงานไม่ได้ ไร้ค่าครองชีพ พิษโควิด 'คนตาบอด'

ทำงานไม่ได้ ไร้ค่าครองชีพ พิษโควิด 'คนตาบอด'
มติชน
27 เมษายน 2563 ( 10:27 )
256
ทำงานไม่ได้ ไร้ค่าครองชีพ พิษโควิด 'คนตาบอด'

ทำงานไม่ได้ ไร้ค่าครองชีพ พิษโควิด ‘คนตาบอด’

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบและสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า แต่กับกลุ่มผู้พิการทางสายตา หรือกลุ่มคนตาบอดนั้น ดูเหมือนว่าจะได้รับผลกระทบมากเป็น 2 เท่า

ศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ประธานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ เปิดเผยว่า กลุ่มผู้พิการทางสายตา หรือคนตาบอด น่าจะเดือดร้อนมากกว่ากลุ่มอื่น ที่นอกจากจะมีอุปสรรคด้านการมองเห็นแล้ว คนตาบอดมีอาชีพที่นิยมทำกันอย่างแพร่หลายอยู่ 2 อาชีพหลักๆ คือค้าขายสลาก และนวดแผนไทย แต่ ณ ตอนนี้ 2 อาชีพนี้ทำไม่ได้ เพราะร้านนวดก็ให้ปิด สลากก็เลื่อนออกไป จึงทำให้ขาดรายได้ ประกอบกับมาตรการป้องกันโควิด รณรงค์ให้อยู่บ้าน ทุกคนก็หยุดอยู่บ้าน ประกอบอาชีพอะไรก็ไม่ได้อีก

แต่กระนั้น คนตาบอดก็มีความหวาดกลัวต่อเชื้อร้ายไม่ต่างจากคนทั่วไป แถมยังมีความเสี่ยงมากกว่าด้วย

“ผมว่าใครๆ ก็ต่างกลัวเชื้อโรคโควิด-19 ทั้งนั้น แต่พวกเราคนตาบอดอาจจะมีความกลัวที่มากกว่า เพราะมีโอกาสติดเชื้อมากกว่าใคร ด้วยเวลาเดินทางเราคลำไปทั่ว สมมุติว่าจำเป็นต้องออกเดินทางไปข้างนอก ที่สาธารณะก็ต้องสัมผัสกับสิ่งต่างๆ เช่น ราวทางเดิน ประตู ที่ผ่านการสัมผัสมาแล้ว”

“คนทั่วไปที่มองเห็นอาจจะเลือกที่จะหลีกเลี่ยงการสัมผัสได้ แต่สำหรับคนตาบอด การหลีกเลี่ยงทำได้ยาก หลบไม่ได้ ต้องคลำหาประตู เช่นเดียวกับการขึ้นลิฟต์ คนตาดีก็อาจจะใช้ไม้จิ้มฟันจิ้มลิฟต์ แต่สำหรับคนตาบอดทำไม่ได้ เราต้องคลำเพื่ออ่านอักษรเบรลของแต่ละชั้น” ศาสตราจารย์วิริยะกล่าว

เพราะฉะนั้นในส่วนของการแก้ปัญหาในเรื่องนี้ จึงต้องเผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับวิธีป้องกันตัวเองจากโควิด-19 ไปถึงกลุ่มคนตาบอดและผู้พิการอื่นๆ พร้อมทั้งกำชับให้ปฏิบัติตามวิธีเหล่านี้อย่างเคร่งครัด เช่น หมั่นล้างมือบ่อยๆ พกสเปรย์แอลกอฮอลล์ สวมแมสก์ กินร้อน ช้อนเรา เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม “ปัญหาเร่งด่วน” ตอนนี้คือเมื่อประกอบอาชีพอะไรไม่ได้ ก็มีปัญหาเรื่องอาหารการกินตามมา ออกไปซื้อเองลำบากอยู่แล้ว แม้แต่การจะสั่งดิลิเวอรีให้มาส่ง ก็ยังต้องมี “เงิน”

ประธานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ เผยว่าถึงการบรรเทาความเดือดร้อนในตอนนี้ว่า ทางสมาคมคนตาบอดฯ ได้เข้าไปช่วยผู้พิการตาบอดแล้ว รวมถึงมีเอกชนเข้ามาสนับสนุน โอนเงินค่าอาหารการกินไปช่วยแต่ละครอบครัว ทั้งนี้เราพยายามที่จะบอกไปยังผู้ใจบุญว่าถ้าอยากช่วย สามารถบริจาคเป็นเงินได้ เพราะทางสมาคมจะโอนไปยังครอบครัวของคนตาบอดให้ได้นำไปใช้ได้เลย เพราะในตอนนี้ที่กำลังขาดแคลนมีมากกว่าพันครอบครัวแต่ถ้ามีข้าวของบริจาคมาแล้วเราสามารถหารถไปส่งให้ในราคาไม่แพง อันนี้เราก็ทำ

“จากที่ผ่านมา เรามองว่าการกระจายสิ่งของไปช่วยเหลือผู้พิการมีต้นทุนสูง สู้กระจายเงินไม่ได้ ต้นทุนต่ำกว่า ซึ่งส่วนมากคนเขาก็จะนิยมบริจาคเป็นของมา เราก็ต้องพยายามกระจายไป แต่จะให้ทั่วถึงมันลำบาก ขณะที่กระจายเงินให้ทั่วถึง ทำได้ง่ายกว่า เพราะมีเลขบัญชีเราก็โอนให้เขาไปเลย” ศาสตราจารย์วิริยะกล่าว

และหากสถานการณ์โควิด-19 ยังไม่คลี่คลายในเร็ววันนี้

ศาสตราจารย์วิริยะเผยว่า ต้องพึ่งงบประมาณช่วยเหลือจากทางภาครัฐ หรือเงินเยียวยา 5 พันบาท “เราไม่ทิ้งกัน” แต่สำหรับคนตาบอดนั้น ก็ยังต้องประสบกับ “ปัญหา” เรื่องการคีย์ข้อมูลลงทะเบียน ทำให้เข้าไม่ถึงสิทธิ ยิ่งผู้พิการที่อยู่ในพื้นที่ชนบททั่วประเทศ ไม่รู้ว่าพวกเขาเหล่านั้นจะได้รับการช่วยเหลืออย่างไรบ้าง และใครจะช่วยเหลือพวกเขา

“หากคนในสังคม พบเห็น หรือมีกำลังความสามารถที่พอจะช่วยเหลือกันได้ ก็อยากให้ช่วยเหลือกัน”

ศาสตราจารย์วิริยะยังกล่าวถึง “ข้อเสนอ” เกี่ยวกับการช่วยเหลือผู้พิการในห้วงโควิด-19 นี้ว่า ในเบื้องต้นทางหน่วยงานสามารถโอนเงินช่วยเหลือเข้าบัญชีธนาคารที่คนพิการเปิดไว้สำหรับรับเบี้ยคนพิการอยู่แล้วได้เลย คนพิการก็ไม่ต้องมานั่งคีย์ข้อมูลเอง และหวังว่าทางกระทรวง พม.จะมีนโยบายช่วยเหลือคนพิการ นี่คือ “ปัญหาเร่งด่วน” ที่อยากจะเสนอให้ไปถึงกรมส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง