รีเซต

ทน.เชียงใหม่ รับคืน ถ.นิมมานฯ จากแขวงการทาง เตรียมดัน 'ถนนคนเดินแห่งใหม่'

ทน.เชียงใหม่ รับคืน ถ.นิมมานฯ จากแขวงการทาง เตรียมดัน 'ถนนคนเดินแห่งใหม่'
มติชน
10 มิถุนายน 2565 ( 19:10 )
122

“อัศนี” ควง “นิคม” ลงพื้นที่สำรวจ “นิมมานเหมินทร์” หลังรับถ่ายโอนถนนคืน จากแขวงการทางที่ 2 หลังรับดูแล 13 ปี เผยจัดระเบียบ-พัฒนาเป็นเมืองอัจฉริยะ “สมาร์ท นิมมาน” เล็งยกระดับเป็นถนนคนเดินแห่งใหม่ รองรับนักท่องเที่ยว ฟื้นเศรษฐกิจท้องถิ่นกลับมาคึกคักอีกครั้ง 

 

วันที่ 10 มิถุนายน 2565 ที่เทศบาลนครเชียงใหม่ นายอัศนี บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ พร้อม นายนิคม เทพบุตร ผู้อำนวยการแขวง รักษาราชการแทนผู้อำนวยการแขวงทางหลวงเชียงใหม่ที่ 2 ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง หรือเอ็มโอยู การส่งมอบ-รับมอบทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 ตอนอุโมงค์-กองบิน 41 ระหว่าง กม.562+673 – กม.564+355 บรรจบกองบิน 41 (ถนนนิมมานเหมินทร์) ระยะทาง 1.682 กิโลเมตร จากกรมทางหลวงไปยังเทศบาลนครเชียงใหม่ ก่อนบันทึกภาพร่วมกัน โดยใช้เวลากว่า 30 นาที

จากนั้นนายอัศนี และนายนิคม พร้อมเจ้าหน้าที่ ได้ลงพื้นที่สำรวจถนนดังกล่าวร่วมกัน บริเวณสี่แยกรินคำ จนถึงธนาคารไทยพาณิชย์ สาขานิมมานฯ เพื่อจัดระเบียบทางเท้า ป้าย สายไฟฟ้า สายสื่อสาร ท่อระบายน้ำ ระบบแสงสว่าง และปรับภูมิทัศน์ ตามโครงการเชียงใหม่เมืองอัจฉริยะ “Smart Nimman” ให้สอดคล้องตามแผนยุทธศาสตร์ชุมชนอัจฉริยะ (Smart Living) ประชากรอัจฉริยะ (Smart People) พลังงานอัจฉริยะ (Smart Economy) คมนาคมอัจฉริยะ (Smart Mobility) และสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) ตามแผนและโครงการปรับปรุงสาธารณูปโภคบนถนนสายดังกล่าว ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย สวยงาม มีความปลอดภัย และได้มาตรฐานสากล

 

นายอัศนี เผยว่า เทศบาลเตรียมแผนพัฒนาถนนสายดังกล่าวในปีงบประมาณ 2566 อาทิ ทางเท้า รื้อถอนป้ายและสิ่งกีดขวาง พร้อมร่วมการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) นำสายไฟฟ้าลงใต้ดินตลอดสาย เพื่อจัดระเบียบถนนให้สวยงาม น่าอยู่ ปลอดภัย เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่มาเยือนเชียงใหม่ เนื่องจากถนนสายดังกล่าว เป็นย่านธุรกิจ การค้า ร้านอาหาร ร้านกาแฟ สถานบันเทิงหลายแห่ง จึงเป็นชุมชนหนาแน่น เนื่องจากอยู่ใกล้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) เพียง 1-2 กิโลเมตรเท่านั้น

 

“การพัฒนาสาธารณูปโภค โดยนำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน ใช้งบปรุะมาณ กฟภ. โดยเทศบาลได้จัดงบสมทบบางส่วน หลังเข้าแผนพัฒนาในปี 2566 แล้ว เทศบาลพร้อมเริ่มดำเนินการพัฒนาและปรับปรุงถนนดังกล่าว โดยย่อส่วนจากโครงการSmart City เป็น Smart Nimman แทน เพื่อนำร่อง หรือเป็นต้นแบบพัฒนาถนนสายเศรษฐกิจในตัวเมืองเชียงใหม่ พร้อมส่งเสริมการเดินเท้า เพื่อจับจ่ายใช้สอยและเยี่ยมวิถีชีวิตชุมชน โดยติดตั้งกล้องวงจรปิดหรือซีซีทีวี ภายใต้ความสะดวกปลอดภัย มีความสุข เป็นเมืองน่าอยู่แบบยั่งยืน หากร้านค้าและชุมชนที่อยู่สองฝ้่งถนนดังกล่าว ให้ความร่วมมือและสนับสนุนนโยบายดังกล่าว ในอนาคตอาจพัฒนาเป็นถนนคนเดิน ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่งของเชียงใหม่ เพื่อฟื้นเศรษฐกิจท้องถิ่นให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง” นายอัศนี กล่าว

ด้านนายนิคม กล่าวว่า การถ่ายโอนถนนดังกล่าว เป็นนโยบายกรมทางหลวงเพื่อให้ท้องถิ่นรับไปดำเนินการ อาทิ การจัดระเบียบทางเท้า ป้าย การจราจรและระบบขนส่งมวลชน ภายใต้เทศบัญญัติหรือระเบียบกฎหมายท้องถิ่น เนื่องจากมีความคล่องตัวการบริหารจัดการ ที่สำคัญสามารถจัดเก็บภาษีที่ดิน โรงเรือน สิ่งปลูกสร้าง ป้าย เพื่อเป็นรายได้นำไปพัฒนาท้องถิ่นโดยตรง

 

“เดิมถนนสายดังกล่าวเป็นของเทศบาลอยู่แล้ว แต่โอนให้แขวงการทางดูแลเพื่อเชื่อมต่อถนนมหิดล หรือถนนวงแหวนรอบกลาง เมื่อปี 2552 หรือ 13 ปีที่ผ่านมา แต่ติดขัดเรื่องพื้นที่ของกองบิน 41 จึงไม่ได้ดำเนินการ จึงคืนถนนสายดังกล่าวให้เทศบาลดูแลตามเดิม ซึ่งเป็นถนนสายแรก ที่ถ่ายโอนให้เทศบาลและยังไม่มีถนนสายอื่นถ่ายโอนเพิ่ม” นิคม กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง