ทรายอะเบท กำจัดยุงยังไง ใส่ในถังอาบน้ำได้ไหม | บทความโดย Pchalisaดูเหมือนว่าช่วงนี้โรคไข้เลือดออกจะระบาดหนักนะคะ เพราะล่าสุดนี้หลานสาวของผู้เขียน ลูกของคนข้างบ้านและอีกหลายๆ คนในหมูบ้าน ก็พากันเป็นไข้เลือดออก ที่บางคนก็เป็นหนัก แต่บางคนก็เป็นแบบรักษาตัวโดยไม่ต้องนอนโรงพยาบาล โรคไข้เลือดออกสามารถป้องกันได้ค่ะ โดยหลายครั้งเราอาจจะเคยได้ยินคำว่า “ทรายอะเบท” ที่เป็นหนึ่งทางเลือกที่สามารถเอามาใช้ในการป้องกันโรคไข้เลือดเลือกได้ซึ่งผู้เขียนเองก็มีส่วนได้มีประสบการณ์เกี่ยวกับทรายอะเบทมาบ้างเหมือนกันค่ะ คือล่าสุดเลยก็คือมีอาสาสมัครสาธารณสุขได้ออกหยอดทรายอะเบทที่บ้านให้ และอีกหลายๆ พื้นที่ก็จะได้รับทรายอะเบท เลยทำให้หลายคนก็อาจจะอยากรู้มากขึ้นเกี่ยวกับเรื่องนี้ จริงไหมคะ? จึงเป็นโอกาสดีที่บทความนี้ผู้เขียนขอส่งต่อเนื้อหาเกี่ยวกับทรายชนิดนี้ ไว้เป็นบทเรียนออนไลน์ให้ทุกคนได้อ่านทำความเข้าใจ จนมองภาพออกมากขึ้นว่าทำไมเราถึงใช้ทรายอะเบทนะคะ งั้นอ่านต่อกันเลยดีกว่าคุณผู้อ่านรู้ไหมคะว่า? แหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายส่วนใหญ่นั้น จะพบได้ในภาชนะที่มีน้ำขัง ไม่ว่าจะเป็นในบ้านหรือบริเวณรอบๆ บ้าน สิ่งที่สำคัญคือ น้ำในแหล่งเพาะพันธุ์ไม่จำเป็นต้องสะอาด เพราะยุงลายสามารถวางไข่ได้ในน้ำใส น้ำขุ่น หรือแม้แต่น้ำสกปรกค่ะ ดังนั้นหากมีภาชนะที่มีน้ำขัง ความจำเป็นในการใช้ทรายอะเบทก็จะตามมา แบบไม่ควรหาทางหลีกเลี่ยงอะเบท (Abate) จริงๆ แล้วคำนี้เป็นชื่อทางการค้าของสารเคมีชนิดหนึ่งที่ใช้ในการกำจัดลูกน้ำยุงลายค่ะ โดยสารเคมีชนิดนี้มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า เทมีฟอส (Temephos) ซึ่งเป็นสารประกอบออร์แกโนฟอสฟอรัส ทรายอะเบทเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผ่านกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรม โดยนำทรายมาเคลือบด้วยสารเคมีดังกล่าว ในการผลิตทรายอะเบทจำเป็นต้องควบคุมปริมาณสารเคมีอย่างแม่นยำและปลอดภัย เพื่อให้ได้ผลในการกำจัดลูกน้ำยุงลายและไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อคนและสัตว์เลี้ยงค่ะ และเหตุผลที่ไม่เรียกชื่อทางวิทยาศาสตร์ ก็เพราะชื่อจำยากสำหรับคนทั่วไป เลยเรียกว่า "ทรายอะเบท" กันจนติดปาก เพราะเป็นชื่อสั้น กระชับและจำง่ายกว่า จึงเป็นที่นิยมใช้คำนี้ค่ะสารเคมีหลักที่เป็นองค์ประกอบสำคัญในทรายอะเบท คือ เทมีฟอส (temephos) ค่ะ เทมีฟอสจัดอยู่ในกลุ่มสารเคมีออร์แกโนฟอสเฟต (Organophosphate) ซึ่งมีฤทธิ์ในการทำลายระบบประสาทของแมลง โดยเฉพาะลูกน้ำยุงลาย ซึ่งเป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออก เมื่อเทมีฟอสสัมผัสกับลูกน้ำยุงลาย สารเคมีตัวนี้จะแทรกซึมเข้าไปในร่างกายและทำให้ลูกน้ำยุงลายตายในที่สุด จากกลไกดังต่อไปนี้• เมื่อลูกน้ำยุงลายสัมผัสหรือกินสารอะเบทเข้าไป สารนี้จะเข้าไปรบกวนระบบประสาทของลูกน้ำโดยตรง ทำให้ลูกน้ำไม่สามารถควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อได้ ส่งผลให้ไม่สามารถหายใจและเคลื่อนไหวได้ตามปกติ และในที่สุดก็ตายไป• การยับยั้งเอนไซม์ สารเคมีในทรายอะเบทจะไปยับยั้งเอนไซม์ที่สำคัญในการทำงานของระบบประสาทของลูกน้ำ ทำให้ระบบประสาทของลูกน้ำทำงานผิดปกติและขัดข้อง• เกิดการสะสมในร่างกาย เมื่อลูกน้ำได้รับสารเทมีฟอสเข้าไป สารนี้จะค่อยๆ สะสมอยู่ในร่างกายของลูกน้ำเรื่อยๆ จนถึงระดับที่เป็นอันตรายต่อชีวิต ทำให้ลูกน้ำตายในที่สุดค่ะทำไมต้องใช้เทมีฟอสในทรายอะเบท?• มีประสิทธิภาพสูง เทมีฟอสมีประสิทธิภาพในการกำจัดลูกน้ำยุงลายได้ดีเยี่ยม และยังสามารถควบคุมแมลงชนิดอื่นๆ เช่น ริ้นน้ำจืด ริ้นน้ำเค็มและแมลงหวี่ได้อีกด้วย• มีความคงทน เทมีฟอสที่เคลือบบนเม็ดทราย จะค่อยๆ ปล่อยสารออกฤทธิ์ออกมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีฤทธิ์ในการกำจัดลูกน้ำยุงลายได้นานหลายสัปดาห์ค่ะ• ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม เมื่อเทียบกับสารเคมีกำจัดแมลงชนิดอื่นๆ เทมีฟอสถือว่ามีความเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า และย่อยสลายได้ตามธรรมชาติค่ะการใช้งานทรายอะเบททรายอะเบทใช้สำหรับกำจัดลูกน้ำยุงลายในภาชนะที่กักเก็บน้ำ เช่น กะละมังแจกัน โอ่ง และภาชนะอื่นๆ ที่มีน้ำขัง โดยให้โรยทรายอะเบทลงในน้ำตามอัตราส่วนที่ระบุบนฉลากผลิตภัณฑ์ และไม่ควรใช้ทรายอะเบทในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ เช่น สระว่ายน้ำหรือบ่อปลา และถึงแม้ว่าทรายอะเบทจะปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม แต่การใช้สารเคมีใดๆ ก็ตาม ควรใช้อย่างระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำบนฉลากผลิตภัณฑ์อย่างเคร่งครัด และห้ามใช้ทรายอะเบทกับภาชนะที่ใช้ดื่มน้ำ หรือแหล่งน้ำที่ใช้สำหรับการเลี้ยงสัตว์น้ำ ที่ก็ควรมีการเปลี่ยนทรายอะเบททุก 1-2 เดือนค่ะปกติผู้เขียนมีเฉพาะถังน้ำรองน้ำฝนเอาไว้รดต้นไม้เป็นหลัก ที่สามารถเป็นแหล่งเพาะพันธ์ของยุงลายได้ โดยถังนั้นมีขนาด 100 ลิตร โดยได้ใส่ทรายอะ เบท ที่มีอยู่ลงไปครึ่งถุงค่ะ เพราะว่าปริมาณทรายอะ เบท ที่ผู้เขียนมีคือ 20 กรัม โดยข้างถึงบอกเอาไว้ว่าสำหรับใส่ในน้ำ 200 ลิตร ซึ่งจะได้ใส่ทรายนี้ก็เฉพาะตอนที่มีการรณรงค์และนำมาแจกค่ะ ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วยังไม่ได้หาซื้อทรายอะ เบท เอามาไว้ใช้เองทรายอะเบทเป็นสารเคมีที่ออกแบบมาเพื่อกำจัดลูกน้ำยุงลาย ซึ่งเป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออก เมื่อใช้ตามอัตราส่วนที่กำหนดไว้จะมีความปลอดภัยต่อคนและสัตว์เลี้ยง แต่หากใช้ไม่ถูกวิธี เช่น ใช้ในปริมาณที่มากเกินไป หรือสัมผัสโดยตรงกับสารเคมีเป็นเวลานาน อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ ดังนี้• ระคายเคืองผิวหนัง การสัมผัสกับทรายอะเบทโดยตรง อาจทำให้เกิดอาการระคายเคือง ผื่นแดง หรือคัน• ระคายเคืองตา หากทรายอะเบทเข้าตา อาจทำให้ตาแดงระคายเคืองหรือแสบตา• หากกลืนกินเข้าไป อาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง หรือมีอาการทางระบบประสาท เช่น ปวดหัว มึนงงการใส่ทรายอะเบทในถังอาบน้ำไม่ควรใส่ทรายอะเบทในถังน้ำอาบที่ใช้สำหรับอาบน้ำโดยเด็ดขาดค่ะ เพราะอาจเป็นอันตรายต่อผิวหนัง ถึงแม้ว่าทรายอะเบทจะเจือจางในน้ำ แต่การสัมผัสกับผิวหนังเป็นเวลานานอาจก่อให้เกิดอาการระคายเคือง ผื่น หรือปัญหาผิวหนังอื่นๆ ได้ ตลอดจนอันตรายต่อดวงตา หากน้ำที่มีทรายอะเบทเข้าตา อาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองตาอย่างรุนแรงได้ ซึ่งทรายอะเบทถูกออกแบบมาเพื่อกำจัดลูกน้ำยุงลายในภาชนะที่อยู่นิ่ง โดยเฉพาะภาชนะที่ไม่สามารถเปลี่ยนน้ำได้บ่อยๆ เช่น โอ่งน้ำ หรือภาชนะรองรับน้ำฝน การนำไปใช้ในที่อื่นนอกเหนือจากนี้ อาจไม่ได้ผลตามที่ต้องการ และอาจก่อให้เกิดอันตรายได้นะคะ สำหรับผู้เขียนใช้ฝักบัวอาบน้ำค่ะ เลยไม่ได้มีประเด็นนี้ที่ต้องนำมาคิดการปฐมพยาบาลเบื้องต้น• หากสัมผัสกับผิวหนัง ล้างผิวหนังด้วยน้ำสะอาดและสบู่หลายๆครั้ง• หากเข้าตา ล้างตาด้วยน้ำสะอาดปริมาณมาก ๆ อย่างน้อย 15 นาที และรีบไปพบแพทย์• หากสูดดม ย้ายผู้ป่วยไปยังที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก และหากมีอาการหายใจลำบากให้รีบนำส่งโรงพยาบาล• หากกลืนกิน ให้ดื่มน้ำสะอาดมากๆ และรีบนำส่งโรงพยาบาลพร้อมทั้งนำภาชนะบรรจุทรายอะเบทไปด้วยและจากที่ผู้เขียนมีประสบการณ์มานั้น ยังไม่เคยเจอคนที่แพ้ทรายอะเบทค่ะ ตอนนี้ที่บ้านก็มีทรายอะเบท โดยเก็บไว้ในถุงพลาสติกและมัดปากไว้ วางไว้ที่สูงห่างจากมือเด็กค่ะ และตั้งแต่รู้จักทรายอะเบทมายังไม่เคยเจอเหตุการณ์ที่ว่าเด็กกินทรายอะเบทเข้าไปเลยค่ะ สรุปแล้วทรายอะเบทยังใช้ได้นะคะ แต่ให้ใช้อย่างระมัดระวังและเหมาะสม อีกทั้งให้จัดเก็บให้ดี ซึ่งผู้เขียนหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับคุณผู้อ่านไม่มากก็น้อย และถ้าชอบบทความแบบนี้อีก ก็อย่าลืมกดติดตามหรือกดบุ๊กมาร์กหน้าโปรไฟล์ไว้นะคะ เพราะจะได้ไม่พลาดบทความใหม่ๆ ที่จะได้นำมาเผยแพร่ในเร็วๆ นี้ค่ะ😀เครดิตภาพประกอบบทความภาพหน้าปกโดยผู้เขียนภาพประกอบเนื้อหา: ภาพที่ 1 โดย Helena Jankovičová Kováčová จาก Pexels และภาพที่ 2-4 โดยผู้เขียนออกแบบภาพหน้าปกใน Canvaเกี่ยวกับผู้เขียนภัคฒ์ชาลิสา จำปามูลศึกษาเกี่ยวกับ: พยาบาลศาสตรบัณฑิต (B.N.S.) จากวิทยาลัยพยาบาลศรีมหาสารคาม กระทรวงสาธารณสุข และสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต (อนามัยสิ่งแวดล้อม); M.P.H. (Environmental Health) จากมหาวิทยาลัยขอนแก่นมีความสนใจและประสบการณ์เกี่ยวกับ: สุขภาพ จิตวิทยาเชิงบวก การจัดการน้ำเสียและสิ่งปฏิกูล บทความอื่นที่น่าสนใจโดย Pchalisa https://intrend.trueid.net/post/454735 https://intrend.trueid.net/post/400816 https://intrend.trueid.net/post/404064 เปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !