จับตาภารกิจไบเดนในญี่ปุ่น กระชับความร่วมมือต้านทานจีน


ประธานาธิบดีไบเดน เริ่มต้นภารกิจการเยือนญี่ปุ่นสองวันด้วยการเข้าเฝ้าสมเด็จพระจักรพรรดินารูฮิโตะเช้าวันจันทร์ (23 พฤษภาคม) นี้ โดยการเยือนญี่ปุ่นมีสองภารกิจสำคัญคือ
1. การเปิดตัว “กรอบความร่วมมือเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework) ซึ่งเป็นแผนกว้างๆเกี่ยวกับเสาหลักด้านเศรษฐกิจที่สหรัฐฯจะเข้ามามีส่วนร่วมกับเอเชีย
2. การประชุมจตุภาคี Quad ซึ่งจะมีผู้นำของญี่ปุ่น อินเดีย และออสเตรเลียเข้าร่วมด้วย โดยเป็นการประชุมด้านความมั่นคง เพื่อรับมือกับการขยายอิทธิพลของจีนในภูมิภาค โดยผู้แทนจากออสเตรเลียจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ แอนโทนี อัลบาเนซี ผู้นำพรรคแรงงาน แทนที่นายสก็อตต์ มอร์ริสัน หลังเพิ่งชนะการเลือกตั้งทั่วไปและเข้าพิธีสาบานตนในเช้าวันจันทร์นี้
---เข้าเฝ้าจักรพรรดิ-หารือนายกฯ---
สำหรับกำหนดการในวันนี้ หลังเข้าเฝ้าสมเด็จพระจักรพรรดิของญี่ปุ่นแล้ว นายไบเดนจะหารือกับนายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น คาดว่าจะมีการหารือเรื่องแผนการขยายแสนยานุภาพด้านการทหารของญี่ปุ่น เพื่อในมีศุกยภาพในจุดที่สามารถตอบโต้แสนยานุภาพที่กำลังเติบโตของจีนได้
นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายจะตอกย้ำความสัมพันธ์อันใกล้ชิดในการตอบโต้รัสเซียจากการบุกยูเครน
ทั้งนี้ หลายชาติกังวลก้าวย่างของจีนในเอเชีย โดยเฉพาะการที่จีนมีความสัมพันธ์ใกล้ขิดกัยรัสเซีย และเกิดความตึงเครียดรอบๆไต้หวัน ซึ่งจีนถือว่าเป็นหนึ่งในมณฑลที่แยกออกไปไม่ได้ของจีน
ขณะเดียวกัน สองฝ่ายจะมีการหารือเรื่องเกาหลีเหนือด้วย โดยนายไบเดนจะได้พบกับครอบครัวของชาวญี่ปุ่นที่ถูกเกาหลีเหนือลักพาตัวเพื่อไปฝึกสอนสายลับในเกาหลีเหนือด้วย
การเยือนญี่ปุ่นของไบเดนครั้งนี้ ยังเป็นที่จับตาว่า เกาหลีเหนือจะทดสอบขีปนาวุธที่มีศักยภาพในการติดหัวรบนิวเคลียร์ หรือระเบิดหรือไม่
---สหรัฐฯ-เกาหลีใต้เล็งขยายซ้อมรบ---
ก่อนที่จะเดินทางมาถึงญี่ปุ่น นายไบเดนได้เดินทางเยือนกรุงโซลของเกาหลีใต้มาแล้ว ถือเป็นชาติแรกของเอเชียที่ผู้นำสหรัฐฯ ไปเยือนหลังเข้ารับตำแหน่ง
ไบเดนเยือนเกาหลีใต้เป็นเวลาสองวัน และได้หารือกับประธานาธิบดียุน ซ็อก-ยอล เกี่ยวกับการยกระดับการทหารเพื่อป้องกันภัยจากเกาหลีเหนือ โดยผู้นำทั้งสองฝ่ายได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันเสาร์ (21 พฤษภาคม) ที่ผ่านมาว่า จากภัยคุกคามของเปียงยางที่พัฒนาเรื่อย ๆ เกาหลีใต้และสหรัฐฯ กำลังเล็งที่จะขยายกรอบและขนาดของการซ้อมรบร่วมทางการทหารระหว่างสหรัฐฯและเกาหลีใต้
ทั้งนี้ การซ้อมรบร่วมระหว่างสองชาติลดขนาดลงจากสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 และแนวทางของอดีตประธานาธิบดีมุน แจอิน และโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ต้องการลดความตึงเครียดเพื่อการเจรจาระดับสูง แต่นโยบายการทูตดังกล่าวไม่ประสบผลสำเร็จ
---ประจำการอาวุธเพิ่มในเกาหลีใต้---
ในขณะที่สองผู้นำใหม่ของสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ มีแนวทางที่แตกต่างจากสองผู้นำคนก่อน โดยทั้งสองได้หารือถึงการซ้อมรบร่วมเพื่อเตรียมรับมือกับการโจมตีนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ และในยุนได้เรียกร้องให้สหรัฐฯ ประจำการยุทโธปกรณ์ในภูมิภาคให้มากขึ้นด้วย แม้ว่าการเสริมทัพหรือการขยายการซ้อมรบ จะทำให้เกาหลีเหนือไม่ใจเพราะมองว่าเป็นการเตรียมพร้อมรุกรานเกาหลีเหนือก็ตาม
ขณะเดียวกัน ไบเดนยังตอกย้ำความร่วมมือด้านเศรษฐกิจกับเกาหลีใต้ โดยได้พบกับประธานของบริษัทฮุนไดเพื่อเฉลิมฉลองการที่ฮุนไดจะลงทุนสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในรัฐจอร์เจียของสหรัฐฯ มูลค่ากว่า 5.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 176,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ เขากับนายยุนยังได้พบกับกองทัพเกาหลีใต้และสหรัฐฯ ซึ่งเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวระบุว่า สะท้อนให้เห็นถึงการบูรณาการของการเป็นพันธมิตรด้านเศรษฐกิจและการทหารของสองชาติ
---เอเชียคือสมรภูมิแข่งขันระดับโลก---
ไบเดนได้กล่าวด้วยว่า เอเชียคือสมรภูมิหลักของการแข่งขันระดับโลก ระหว่างชาติประชาธิปไตยและอัตตาธิปไตย และเขาเน้นย้ำว่า ต้องการขยายความร่วมมือแบบนี้ ไม่ใช่แค่สหรัฐฯกับญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ แต่กับแปซิฟิกทั้งหมด แปซิฟิกใต้และอินโด-แปซิฟิก
ด้านนายหวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีน ยืนยันเมื่อวันอาทิตย์ (22 พฤษภาคม) ที่ผ่านมาว่า การเข้ามาเกี่ยวข้องในภูมิภาคของสหรัฐฯนั้น เป็นยุทธศาสตร์ในการสร้างความแตกแยก ยั่วยุให้เกิดการเผชิญหน้า และบั่นทอนสันติภาพ
เขาย้ำว่า ไม่ว่าจะออกมาในรูปแบบแพคเกจไหน หรือแฝงมาอย่างไร ท้ายสุดยุทธศาสตร์นี้จะล้มเหลว
—————
แปล-เรียบเรียง: ธันย์ชนก จงยศยิ่ง
ภาพ: Reuters