ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จากการปล่อยน้ำเสีย ที่ไม่ได้ผ่านการบำบัด | บทความโดย ภัคฒ์ชาลิสา จำปามูล คุณผู้อ่านรู้ไหมคะว่า การปล่อยน้ำเสียที่ไม่ได้ผ่านการบำบัดลงสู่สิ่งแวดล้อม สามารถก่อให้เกิดผลกระทบที่รุนแรงหลายอย่าง ที่บางคนอาจจะยังมองไม่เห็นภาพว่า น้ำเสียมีผลกระทบยังไงบ้าง จริงไหมคะ? ซึ่งต้องบอกว่าน้ำเสียทำให้เกิดปัญหาหลายอย่างมากค่ะ เพราะจากที่ผู้เขียนได้มีประสบการณ์มานั้น พอมีน้ำเสียเกิดขึ้นแล้ว ยิ่งต้องให้ความสำคัญในเรื่องการจัดการเลย ก็เพราะว่าน้ำเสียสร้างความเสียหายนะคะ โดยมีทั้งผลเสียในระยะสั้นและในระยะยาว แล้วน้ำเสียทำให้เกิดผลเสียยังไงบ้าง ในบทความนี้เราจะมารู้กันค่ะ ที่รับรองว่าอ่านจบแล้ว คุณผู้อ่านสามารถเข้าใจและมองเห็นภาพแน่นอน แถมยังสามารถเชื่อมโยงไปหาประสบการณ์ของตัวเองได้ด้วย เพราะก็ไม่แน่ว่า อาจมีบางคนได้เคยเห็นผลเสียของน้ำเสียมาแล้ว แต่มองภาพไม่ออกว่าน้ำเสียคือต้นเหตุ ดังนั้นอย่าช้าที่จะอ่านให้จบและค่อยๆ ทำความเข้าใจค่ะ กับเนื้อหาที่น่าสนใจดังนี้ 1. มลพิษทางน้ำ การปล่อยน้ำเสียโดยปราศจากการบำบัดที่เหมาะสมลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ เป็นสาเหตุหลักของการเกิดมลพิษทางน้ำ ซึ่งส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อระบบนิเวศและคุณภาพชีวิตของมนุษย์ น้ำเสียที่ถูกปล่อยออกมามีสารปนเปื้อนหลากหลายชนิด การปนเปื้อนของสารเหล่านี้ทำให้น้ำมีคุณภาพเสื่อมโทรม ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ตามปกติ และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการใช้น้ำ 2. น้ำขาดออกซิเจน น้ำเสียเมื่อไหลลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติโดยไม่ผ่านการบำบัดที่เหมาะสม เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะขาดออกซิเจนในน้ำ ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศทางน้ำ น้ำเสียโดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำเสียที่มีสารอินทรีย์สูง จะเป็นแหล่งอาหารของจุลินทรีย์ เมื่อจุลินทรีย์เหล่านี้ย่อยสลายสารอินทรีย์ในน้ำ จะใช้ออกซิเจนในน้ำเป็นจำนวนมาก ทำให้ปริมาณออกซิเจนในน้ำลดลงอย่างรวดเร็ว 3. การสะสมของสารพิษ น้ำเสียที่ไม่ผ่านกระบวนการบำบัดที่เหมาะสม นับเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างร้ายแรง เพราะว่าการสะสมของสารพิษในแหล่งน้ำเป็นหนึ่งเป็นผลกระทบที่น่ากังวลอย่างยิ่ง เมื่อสารพิษถูกปล่อยลงสู่แหล่งน้ำ จะทำให้คุณภาพน้ำเสื่อมโทรม เกิดการปนเปื้อนในดินและแหล่งน้ำใต้ดิน สารพิษบางชนิดสามารถสะสมในสิ่งมีชีวิตในน้ำได้ เมื่อสัตว์น้ำกินสารพิษเข้าไป สารพิษจะสะสมในเนื้อเยื่อและอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของสัตว์น้ำ และผู้ที่บริโภคสัตว์น้ำเหล่านั้น นอกจากนี้สารพิษในน้ำเสียยังสามารถทำให้เกิดปรากฏการณ์น้ำเน่า ซึ่งเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำ 4. การทำลายระบบนิเวศ น้ำเสียที่ไม่ได้ผ่านการบำบัดเมื่อถูกปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ มักเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลให้เกิดการทำลายระบบนิเวศอย่างรุนแรง เพราะน้ำเสียที่ปนเปื้อนสารอินทรีย์ สารเคมี และจุลินทรีย์ ที่สามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพและเคมีของน้ำอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศและลดความหลากหลายทางชีวภาพ 5. ผลกระทบต่อการเกษตร การปล่อยน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตร โดยน้ำเสียทำให้คุณภาพน้ำสำหรับชลประทานลดลงอย่างมาก น้ำที่ปนเปื้อนเหล่านี้อาจทำให้พืชผลได้รับสารพิษ ส่งผลให้ผลผลิตลดลงและคุณภาพของผลผลิตต่ำลง นอกจากนี้ยังสามารถทำให้ดินเสื่อมโทรมและไม่เหมาะสมสำหรับการเพาะปลูกในระยะยาว 6. ผลกระทบต่อการท่องเที่ยว น้ำเสียทำให้แหล่งท่องเที่ยวทางน้ำ เช่น ชายหาด แม่น้ำ ลำคลอง มีสีและกลิ่นที่น่ารังเกียจ ทำให้นักท่องเที่ยวไม่อยากมาเที่ยว น้ำเสียทำให้กิจกรรมทางน้ำ เช่น ว่ายน้ำ ดำน้ำ พายเรือ ไม่ปลอดภัยและไม่น่ารื่นรมย์ เมื่อนักท่องเที่ยวลดลง ทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวลดลง โรงแรม ร้านอาหาร และธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบ แหล่งท่องเที่ยวที่มีปัญหาน้ำเสีย จะมีภาพลักษณ์ที่ไม่ดี ทำให้นักท่องเที่ยวไม่อยากกลับมาเที่ยวอีก เนื่องจากข่าวสารเกี่ยวกับปัญหาน้ำเสีย สามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วผ่านสื่อต่างๆ ทำให้ส่งผลกระทบในวงกว้าง ก็จบแล้วค่ะ กับผลเสียที่เกิดจากการปล่อยน้ำเสียในสิ่งแวดล้อม พอจะมองภาพออกกันแล้วใช่ไหมคะ สำหรับประเด็นของผลเสียนี้ผู้เขียนเคยได้เห็นมาบ่อยเหมือนกันค่ะ เคยเห็นน้ำเสียที่ทำให้ระบบนิเวศในคลองธรรมชาติเปลี่ยนไป ตั้งแต่น้ำเปลี่ยนเป็นสีดำ สัตว์น้ำที่อาศัยอยู่ก็ลดลง มีกลิ่นไม่พึงประสงค์รบกวน ซึ่งก็เป็นภาพที่ไม่น่ามองเลยค่ะ ที่จะว่าไปแล้วเราทุกคนและในทุกวัน เราต่างก็ผลิตน้ำเสียเกิดขึ้นนะคะ ดังนั้นเมื่อรู้ถึงผลเสียแล้ว ก็อยากให้ทุกคนได้ตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นค่ะ และผู้เขียนหวังว่าเนื้อในบทความนี้จะสามารถเป็นแนวทางให้กับคุณผู้อ่านได้บ้าง ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง หากชอบบทความแบบนี้อีก อย่าลืมกดติดตามหรือกดบุ๊กมาร์กหน้าโปรไฟล์ไว้นะคะ เพราะจะได้ไม่พลาดบทความใหม่ๆ ที่จะได้นำมาเผยแพร่ในเร็วๆ นี้ค่ะ เครดิตภาพประกอบบทความ ภาพหน้าปก โดย Tom Fisk จาก Pexels ภาพประกอบเนื้อหา: ภาพที่ 1 โดย Nataliya Vaitkevich จาก Pexels, ภาพที่ 2-3 โดยผู้เขียน และภาพที่ 4 โดย Tom Fisk จาก Pexels ออกแบบภาพหน้าปกโดยผู้เขียนใน Canva เกี่ยวกับผู้เขียน ภัคฒ์ชาลิสา จำปามูล จบการศึกษา: พยาบาลศาสตรบัณฑิต จากวิทยาลัยพยาบาลศรีมหาสารคาม กระทรวงสาธารณสุข และสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต (อนามัยสิ่งแวดล้อม) จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น มีความสนใจและประสบการณ์เกี่ยวกับ: สุขภาพ จิตวิทยาเชิงบวก การจัดการน้ำเสียและสิ่งปฏิกูล บทความอื่นที่คล้ายกันโดยผู้เขียน 8 แนวทางลดการเกิดน้ำเสีย จากบ้านเรือนและที่อยู่อาศัย ระบบตะกอนเร่ง (Activated Sludge) ระบบบำบัดน้ำเสียแบบใช้อากาศ สารอินทรีย์ในน้ำเสีย มีอะไรบ้าง ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร เปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !