นายกฯ หารือผู้ว่าแคว้นลอมบาร์เดีย เดินหน้าส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ
วันนี้ (17 พฤษภาคม 2567) เวลา 16.30 น. (เวลาท้องถิ่นเมืองมิลาน ประเทศอิตาลี ซึ่งช้ากว่ากรุงเทพฯ 5 ชั่วโมง) ณ ห้อง Scala ชั้น 1 โรงแรม Park Hyatt Milan นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พบหารือกับ นายอัตตีลีโอ ฟอนตานา (Mr. Attilio Fontana) ผู้ว่าแคว้นลอมบาร์เดีย โดยเมื่อเสร็จสิ้นการหารือ นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญจากการหารือ ดังนี้
นายกรัฐมนตรีและผู้ว่าแคว้นลอมบาร์เดีย ต่างยินดีที่ได้พบหารือกันในวันนี้ ซึ่งเป็นโอกาสในการพูดคุยเพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างกัน โดยนายกรัฐมนตรีชื่นชมแคว้นลอมบาร์เดียในฐานะเป็นที่ตั้งของบริษัทชั้นนำระดับโลกจำนวนมาก และมี GDP ที่สูงที่สุดในอิตาลี และโดยไทยพร้อมมีความร่วมมือระหว่างกันมากขึ้น โดยเฉพาะในด้านการลงทุน
โอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือในประเด็นความร่วมมือด้านการลงทุน โดยนายกรัฐมนตรีขอรับการสนับสนุนจากแคว้นลอมบาร์เดียในการผลักดันภาคเอกชนให้พิจารณาย้ายฐานการผลิต หรือเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น โดยเฉพาะในสาขาการเกษตรอัจฉริยะ อิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งไทยมีศักยภาพและมีการลงทุนเพื่อผลิตยานยนต์ไฟฟ้าจากต่างชาติจำนวนมาก และพร้อมรับการลงทุนจากภาคเอกชนอิตาลี
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีเสนอให้มีความร่วมมือในด้านพลังงานสะอาด รวมถึงพลังงานน้ำ ซึ่งแคว้นลอมบาร์เดียมีความเชี่ยวชาญ และมีโรงงานผลิตพลังงานสะอาดจำนวนมาก ทั้งสองฝ่ายจึงอาจพิจารณาโอกาสในการลงทุนร่วมกัน ซึ่งไทยพร้อมดูแลและอำนวยความสะดวกการลงทุน ผ่านมาตรการส่งเสริมการลงทุน และมาตรการด้านวีซ่า ซึ่งอิตาลีอาจพิจารณาตั้ง สำนักงานระดับภูมิภาค (Regional Headquarters: RHQ) ในไทยได้ ด้านผู้ว่าแคว้นลอมบาร์เดียพร้อมพิจารณาโอกาสการลงทุนและศึกษาความเป็นไปได้ร่วมกันในด้านที่ทั้งสองฝ่ายมีศักยภาพ
นอกจากนี้ ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย อาทิ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโรม คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ผู้แทนการค้าไทย และคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) จะจัดทีมประเทศเยือนแคว้นลอมบาร์เดียเพื่อพบหารือ ผู้ประกอบการชาวอิตาลี พร้อมนำเสนอโครงการสำคัญของไทย Mega Project ทั้งโครงการท่าเรือน้ำลึก โครงการ Landbridge และโครงการสำคัญต่าง ๆ ของไทยไปนำเสนอ เพื่อดึงดูดการลงทุน โดยผู้ว่าแคว้นลอมบาร์เดียยินดีอย่างยิ่งที่ภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองฝ่ายจะได้พบปะหารือกัน โดยเชื่อมั่นว่าการพบกันจะเป็นโอกาสสำคัญในการเพิ่มความร่วมมือด้านการลงทุนระหว่างกัน ในสาขาที่ทั้งสองฝ่ายมีศักยภาพ
และในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า ประเทศไทยเปิดกว้างสำหรับการดำเนินธุรกิจ ประเทศไทยพร้อมเปิดรับการลงทุน และพร้อมสนับสนุนความร่วมมือระหว่างกันอย่างเต็มที่