หลายวันก่อนผู้เขียนมีโอกาสได้อ่านเรื่อง The Leadership Secrets of Genghis Khan ฉบับภาษาอังกฤษ ด้วยเพราะต้องการทบทวนและฝึกฝนภาษาอังกฤษ หนังสือเล่มนี้เขียนโดย John Man นักเขียนชาวอังกฤษ ผู้ซึ่งสนใจและถ่ายทอดเรื่องราวของเจงกิสข่านในมิติต่าง ๆ มาแล้วหลายครั้งหลายคราว สำหรับ “เจงกิสข่าน” (ค.ศ.1162 – 1227) หลายท่านคงรู้จักกันดีในฐานะมหาจักรพรรดิผู้ก่อตั้งจักรวรรดิมองโกลอันเกรียงไกร กระทั่งมีผู้ให้คำนิยามความยิ่งใหญ่ของเจงกิสข่านไว้มากมาย เช่น ยาวาหะราล เนห์รู (Jawaharlal Nehru) นายกรัฐมนตรีคนแรกและรัฐบุรุษของอินเดียได้กล่าวไว้ว่า “อเล็กซานเดอร์และซีซาร์ แทบไม่มีความสำคัญเลย เมื่ออยู่เบื้องหน้าเจงกิสข่าน”นอกจากนี้ผลจากการค้นคว้าทางประวัติศาสตร์พบว่าความสำเร็จของเจิงกิสข่านได้ทำให้อาณาจักรมองโกล กลายเป็นจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก โดยแผ่ขยายอาณาเขตครอบคลุมจากคาบสมุทรเกาหลี แผ่นดินจีนตอนเหนือ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้คาบโยงไปจนถึงดินแดนในยุโรปตะวันออก แม้วันนี้ความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรมองโกลจะไม่เหลือเศษซากให้เราได้ยลโฉมแล้ว แต่ในฐานะมหาบุรุษผู้เคยสร้างความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่จนเป็นที่ตื่นตะลึงแก่คนทั่วโลกเป็นเรื่องที่คนในยุคสมัยปัจจุบันควรหยิบยกนำมาพินิจพิเคราะห์ว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้เจงกิสข่านประสบกับความสำเร็จดังกล่าวภาพถ่ายโดยผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ประกอบไปด้วย 21 บท ซึ่งเนื้อหาส่วนใหญ่ได้บอกเล่าเกี่ยวกับอัตชีวประวัติของเจงกิสข่าน เริ่มตั้งแต่การเติบโต จนกระทั่งการก้าวสู่ความยิ่งใหญ่ในการเป็นมหาบุรุษ โดยแต่ละบทได้มีการวิเคราะห์เปรียบเทียบถึงคุณลักษณะเกี่ยวกับวิธีการคิด และพฤติกรรมของเจงกิสข่านว่าเป็นอย่างไร เพื่อถอดบทเรียนออกมาในมิติของการบริหารเพื่อการก้าวไปสู่วิถีหรือความเป็นผู้นำ หรือแม้แต่การดำเนินชีวิตในสังคมให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ เพื่อให้ผู้คนได้ลองนำไปทบทวนและประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องตามยุคสมัยขณะที่อ่านหนังสือเล่มนี้ทำให้ผู้เขียนค้นพบกับความโดดเด่นประการหนึ่งของเจงกิสข่าน ซึ่งน่าสนใจมาก นั่นคือ เจงกิสข่านเป็น “บิดาแห่งนวัตกรรม” ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดพิสดาร แปลกปะหลาด หรือแนวคิดที่คนปกติทั่วไปเขาไม่คิดกัน การคิดแบบแหกคอก เช่น การไม่สนใจในระบบเครือญาติหรือระบบอุปถัมภ์ค้ำชู แต่ฝักใฝ่ความจงรักภักดี (Royalty) โดยการแบ่งทรัพย์สมบัติที่หามาได้ให้แก่ลูกเมียของทหารที่เสียชีวิตแทนที่จะมอบให้กับลูกหรือคนในครอบครัวตัวเอง ตลอดจนการคิดค้นผลผลิต หรือนวัตกรรมใหม่ๆ อันเป็นรากฐานของโลกสมัยใหม่ในยุคปัจจุบัน ซึ่งหลายคนอาจจะเคยทราบกันมาบ้างแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระบบการค้าเสรี เสรีภาพในการนับถือศาสนา ระบบกฎหมายระหว่างประเทศ ระบบการขนส่ง (Logistic) ระบบไปรษณีย์ รวมไปถึงภาษาที่ใช้ในการติดต่อสื่อสารที่เป็นสากล ล้วนเป็นสิ่งที่เจงกิสข่านเคยทำมาแล้วเมื่อหลายร้อยปีก่อนแทบทั้งสิ้นขอบคุณภาพประกอบจาก pixabayความโดดเด่นที่เป็นอัตลักษณ์อีกประการคือ “การมีเทคนิคการสู้รบที่เยี่ยมยอด” ด้วยการริเริ่มวางแผนยุทธศาสตร์การรบอย่างเป็นระบบ การมุ่งรักษาชีวิตทหารของตนเองซึ่งขณะนั้นมีอยู่น้อยมากเมื่อเทียบกับกองทัพของศัตรู ด้วยการคิดค้นเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือหรืออาวุธยุทโธปกรณ์ แผนการรบแบบแหวกแนว ซึ่งไม่ว่าจะมีที่มาจากใครก็ตาม จากแห่งหนใดของโลกก็ตาม หากจะเป็นการทำให้กองทัพแข็งแกร่งขึ้นแล้ว ก็จะยอมทำทุกวิถีทาง ด้วยการคิดอย่างไร้ขอบเขตนี้ทำให้ทหารเกิดความศรัทธาในกองทัพเป็นอย่างมาก ในขณะเดียวกันหากข้ามกลับมามองดูกองทัพของจีนจะพบว่ามีทหารจำนวนมหาศาลมาก จึงทำให้ความสำคัญของทหารแต่ละนายถูกประเมินค่าไว้ต่ำมาก เพราะด้วยจำนวนทหารที่มากล้นจึงคิดว่าแม้ทหารตายไปเท่าไหร่ ก็สามารถหามาแทนที่ได้เสมอ ไม่จำเป็นต้องคิดอะไรใหม่ ท้ายที่สุดความคิดนี้เป็นอันต้องพ่ายแพ้ให้กับเทคโนโลยีสมัยใหม่ของเผ่าเร่ร่อนและป่าเถื่อนอย่างมองโกลไปโดยปริยาย นับได้ว่าในยุคสมัยนั้นกระบวนการคิดของเจงกิสข่านมีความต่างจากแนวคิดของคนทั่วไปโดยสิ้นเชิงขอบคุณภาพประกอบจาก pixabay ความประทับใจหลังจากที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้จึงอยู่ที่ “แนวคิด” ของเจงกิสข่าน ซึ่งนอกเหนือจากการสร้างนวัตกรรมเพื่อเป้าหมายสูงสุดในการสร้างชัยชนะในสนามรบด้วยจำนวนกองกำลังที่น้อยนิดแล้ว เจงกิสข่านยังเป็นบุคคลแรกๆ ของโลกที่รู้จักการสร้าง “ภาพลักษณ์” ให้กับตนเอง ด้วยการสร้างภาพลักษณ์ให้กับกองทัพของตนเองด้วยภาพของความโหดเหี้ยมและกระเหี้ยนกระหือรือ เพื่อให้อริราชศัตรู ตลอดจนประชาชนเกิดความหวาดกลัว รวมไปถึงการสร้างโฆษณาชวนเชื่อว่า “ท่านเจงกิสข่านนั้นได้รับบัญชาจากสวรรค์รบที่ไหนก็ชนะที่นั่น” ซึ่งสามารถเกิดขึ้นเป็นผลสำเร็จกระทั่งทำให้หลายครั้ง คู่ต่อสู้ยอมยกธงขาวและล่าถอยออกจากสนามรมตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มรบขอบคุณภาพประกอบจาก pixabayจะเห็นได้ว่าภารกิจของกองทัพเจงกิสข่านหลังได้รับชัยชนะมักจะปรากฏภาพ “การปล้นสะดม ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เผาทำลายเมือง” โดยจะไม่มีการเกณฑ์กลุ่มคนที่แพ้สงครามไปยังมองโกลในฐานะเชลยศึก แต่จะฆ่าทิ้งหมดโดยไม่มีข้อยกเว้น ซึ่งวิธีการฆ่านั้นก็แสนจะโหดเหี้ยมทารุณ การสร้างภาพลักษณ์ของกองทัพมองโกลโดยเจงกิสข่านนี้แม้จะเป็นภาพที่น่าประหวั่นพรั่นพรึงไร้ความเป็นมนุษย์ แต่ก็ได้สร้างความสำเร็จอย่างอัศจรรย์ให้กับกองทัพเมื่อมองในมิติของการบริหาร ดังนั้นกระบวนการคิด ที่ไม่เน้นการมองผลลัพธ์ของเจงกิสข่านนี้จึงเป็นบริบทสำคัญที่ควรค่าแก่การพิจารณา ภาพหน้าปกโดยผู้เขียน