รีวิว วิธีหาปูนาในนาข้าว แหล่งอาหารในชนบท บทเรียนภูมิปัญญาชาวบ้าน🦀"อามีนา มีนาไปนา นามีรูงู นามีรูปู กาดูงู งูดูปู มีนามานาอา" ค้นๆ ไหมค่ะ นั่นคือบทเรียนบทหนึ่งในห้องเรียนสมัยชั้นประถม แต่จะมีสักกี่คนกันที่เคยเห็นรูปู ปูนาอาจมีพอเห็นได้ตามตลาดเพราะแม่ค้านำไปขาย และหลายคนก็เห็นปูนามากับส้มตำ แต่อีกหลายคนก็อาจเห็นเฉพาะในรูปหรือวิดีโอในอินเตอร์เน็ตเท่านั้ร นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ ค่ะ เนื่องจากการหาปูเกิดขึ้นได้ค่อนข้างน้อยมากแล้วในสมัยนี้ เพราะคนหาปูนาบางคนก็ได้ล้มหายตายจากไปแล้ว จึงทำให้ในบทความนี้ผู้เขียนอยากเล่าถึงวิธีการหาปูนา รูปู และเรื่องปูนาเมื่อเทียบ 30 ปีก่อนค่ะ🦀สมัยก่อนการหาปูนาทำเพื่อนำมาเป็นอาหารในครัวเรือนเป็นหลัก เพราะปูนาหาง่ายและมีเยอะมาก จะพูดว่าแค่คิดว่าจะไปหาปูนา และไม่มีที่จะไม่ได้ปูกลับมาบ้านค่ะ และในตอนนั้นคนหาปูมักหามาแค่พอดีกินเท่านั้น เขาใช้วิธีการหาไปแล้วก็ดูปูไปด้วยว่ามากน้อยแค่ไหนแล้วเป็นระยะๆ ค่ะ การหาปูนาในนาข้าวเราใช้วิธีการขุดค่ะ อุปกรณ์ที่เหมาะสมที่สุด คือ เสียม จอบก็พอใช้ได้แต่ต้องใช้แรงมากและการขุดด้วยจอบส่วนใหญ่ปูจะเละหมด เพราะเราจะกะระยะว่าต้องขุดแค่ไหนได้ยาก ซึ่งเมื่อก่อนบางคนถือจอบและเสียบและใช้จอบขุดนำไปก่อน เมื่อเห็นตัวปูมักใช้เสียมขุดต่อและจับเอาตัวปูนาค่ะ ในตอนหลังมาคนรุ่นเก่าหันมาใช้วิธีการอื่นที่สามารถได้ปูนาตามธรรมชาติมาแบบง่ายๆ ด้วย เช่น การใส่ไซหรือการใส่ตาข่ายไว้ในจุดที่มีการไหลของน้ำจากนาแปลงหนึ่งไปหาอีกแปลงค่ะ🦀ซึ่งการใส่ไซช่วยผ่อนแรงได้มาก ในบางครั้งได้ปูตัวใหญ่เมื่อเทียบกับการไปขุด แต่การใส่ไซอาศัยอุปกรณ์และวิธีใส่ที่จำเพาะเจาจง จึงพบว่าส่วนใหญ่คนที่ใส่ไซคือผู้ชาย แต่ไม่จำเป็นต้องทำไซเป็นค่ะ เพราะสมัยนี้ไซมีขายตามร้านขายอุปกรณ์หาปลาแล้ว การใส่ไซไม่ใช่สิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไปเหมือนการขุดปู และดูเหมือนว่าการขุดปูเป็นกิจกรรมที่เป็นมากกว่าการหาแหล่งอาหารในชนบทค่ะ เพราะในการขุดปูเด็กสามารถทำได้ เด็กบางคนถึงขนาดชวนเพื่อนไปหาขุดปูในวันหยุดเรียน ซึ่งภาพนี้เกิดขึ้นกับผู้เขียนสมัยเป็นเด็กเหมือนกันค่ะ🦀การจะไปขุดปูไม่ได้ทำได้ง่ายๆ นะคะ แต่ก็ไม่ยากเกินไปถ้ามีประสบการณ์ก่อนแค่เพียงครั้งเดียวก็เพียงพอแล้วค่ะ ปูนาที่สามารถขุดได้มีขนาดหลากหลายมากค่ะ ขนาดของปูนาเวลาไปขุดมักแปรผันตรงกับขนาดของรูปู หมายความว่า รูใหญ่ปูก็ใหญ่ รูเล็กปูก็เล็ก แต่ในบางครั้งไม่ว่าจะรูเล็กหรืออยู่ใหญ่ก็ไม่มีปูอยู่ข้างในได้ด้วย รูปูต่างจากรูหนูและรูงู ในบางครั้งรูหนูและรูปูกลายเป็นรูงู แต่เรามีวิธีการสังเกตรูปูง่ายๆ ค่ะ รูปูมักมีกองดินอยู่หน้าปากรู และเรามักสังเกตเห็นร่องรอยของขาปูเขี่ยดินเอาไว้ ดินส่วนนี้ถ้ายังเปียกอยู่สามารถเดาได้เลยว่าปูเพิ่งทำใหม่ โอกาสเจอปูมีสูง แต่ถ้าเป็นรูเก่าดินส่วนนี้บางรูจะหายไปและอาจขุดเจองูแทนปูได้🐍การไปขุดปูต้องเตรียมถังพลาสติกเปล่าไปไว้ใส่ปูค่ะ แต่บางคนก็ใช้ข้องใส่ปลาแทน แล้วแต่ว่าใครชอบแบบไหนค่ะ การไปขุดปูตอนที่ยังไม่เกี่ยวข้าวสามารถขุดได้ที่คันนาเป็นหลัก แต่คนในชนบทจะไม่ทำเพราะว่าทำให้คันนาเสียหาย คันนาขาด จึงเป็นที่รู้กันว่าห้ามขุดปูที่คันนา และในระหว่างที่รอจนกว่าจะถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าว คนในชนบทเลือกการหาปูแบบอื่นแทน เช่น การใส่ไซ ในบางครั้งการใส่ลอบสามารถได้ปูด้วยค่ะ แต่การตกเบ็ดปูไม่ค่อยได้ยินใครพูดถึงนะคะ เพราะปูมีมูลค่าทางการตลาดน้อย จึงไม่ได้เป็นที่น่าสนใจมากนัก แต่จากที่ปูมาทำรูที่คันนาทำให้เกิดปัญหาในนาข้าว เพราะปูแพร่ระบาดและไปกัดต้นข้าว ชาวนาเลยใช้สารเคมีฆ่าปู จนตอนหลังมาปูหายากขึ้นและจุดนี้เองได้กลายเป็นจุดที่ทำให้มีการเลี้ยงปูนาเพื่อการค้ามากขึ้นค่ะ🦀ซึ่งในธรรมชาติจริงๆ เรายังสามารถหาปูนาได้ แต่จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับพื้นที่ การขุดปูนาสมัยนี้ยังมีบ้างแต่พบเห็นได้น้อย เพราะเด็กรุ่นใหม่ไม่ได้สนใจกิจกรรมนี้มากนักค่ะ ประกอบกัยระยะเวลาที่สั้นลงของนาข้าวหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวไปจนถึงการเพาะปลูกรอบใหม่ ทำให้โอกาสที่จะไปขุดปูทำได้น้อยลงเรื่อยๆ ค่ะ และรูปูหายากขึ้นเมื่อเทียบกับสมัยแต่ก่อนมาก อีกทั้งปูนามีขายที่ตลาด กิโลกรัมละ 20-30 บาทเท่านั้น เลยทำให้การขุดปูไม่ได้เป็นที่น่าสนใจมากนักอย่างเห็นได้ชัดเจน🦀แต่การขุดปูในสมัยก่อนทำให้เด็กได้มีกิจกรรมทำยามว่างค่ะ ในบางครั้งคนเป็นแม่มักพาลูกไปขุดปูด้วย ทำให้มีกิจกรรมเล็กๆ เกิดขึ้นระหว่างแม่กับลูก การขุดปูในนาข้าวยังทำให้ได้ออกกำลังกาย เพราะต้องใช้แรงในการขุดจึงเหมือนได้เผาผลาญพลังงานไปในตัว และการขุดปูในอดีตมักทำตอนแดดร่มลมตก จึงเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ทำให้ร่างกายได้รับวิตามินดีจากการออกไปสัมผัสกับแดดอ่อนๆ ช่วงบ่ายแก่ๆ ค่ะ การขุดปูทำให้เกิดการเรียนรู้การสถานการณ์จริง เพราะต้องเรียนรู้วิธีการจับตัวปูไม่ให้ปูหนีบ ฝึกการใช้จอบและเสียม ฝึกความอดทนและฝึกคิดว่าได้ปูมาแล้วจะทำอะไรดี🦀การไปหาขุดปูมีต้นทุนต่ำค่ะ เพราะมีเพียงค่าน้ำมันนิดหน่อย และสมัยนี้การจะไปทุ่งนากลายเป็นเรื่องใกล้ เพราะชุมชนได้ขยายออกจากการที่มีประชากรมากขึ้นค่ะ ผู้เขียนมองว่าการขุดปูตามธรรมชาติอาจพบเห็นได้ยากขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีการใช้สารเคมีทางการเกษตร ซึ่งสารเคมีบางตัวมีผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว โดยส่วนตัวผู้เขียนเคยไปหาขุดปูแถวเขตปริมณฑล ต้องบอกว่าน่าตกใจมากค่ะ รูปูใหญ่ๆ ไม่มีเลย มีเพียงปูเล็กๆ เท่าปูลม จึงน่าเสียดายที่กิจกรรมการขุดปูสำหรับบางพื้นที่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้แล้วเมื่อเทียบกับในชนบทต่างจังหวัดที่ยังพอมีให้เห็นบ้าง🦀และจุดที่น่าสนใจคือปูกลายเป็นสัตว์เศรษฐกิจหลังจากที่ปริมาณของปูในธรรมชาติได้ลดลงอยากมาก แต่การเลี้ยงปูก็ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิดค่ะ เพราะเราไม่เข้าใจความเป็นอยู่ของปูตามธรรมชาติอย่างแท้จริง จนทำให้หลายคนหาอ่านหาฟังว่าเลี้ยงปูทำยังไงทั้งวันทั้งคืน ก็น่าแปลกนะคะที่เรากลับหาหนทางทุกวิธีการเพื่อเลี้ยงปูนาให้ได้ แต่กลับไม่อนุรักษ์ปูนาตามธรรมชาติที่ควรจะเป็น หรือเป็นเพราะว่าเรายังมองไม่เห็นผลกระทบที่เกิดจากการใช้สารเคมีในทางการเกษตรมากเกินความจำเป็น‼️เครดิตภาพประกอบบทความถ่ายภาพโดย ผู้เขียนออกแบบหน้าใน Canvaบทความอื่นที่น่าสนใจรีวิวการจับปลาในสระแถวบ้านนอก ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่หาดูยากวิธีจับเขียดด้วยขวดพลาสติกเหลือใช้ในหน้าฝน ภูมิปัญญาชาวบ้านเอาตัวรอดวิธีทำเตาเผาถ่ายด้วยวงคอนกรีต ภูมิปัญญาท้องถิ่น ตามแนวคิดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง7-11 Community ห้องลับเมาท์มอยของกินของใช้ในเซเว่น อะไรดีอะไรใหม่ ต้องรู้ ต้องคุย ต้องแชร์