การจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ มุ่งเน้นให้นักเรียนเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติ สืบเสาะหาความรู้ด้วยตนเองโดยใช้สื่อหรือแหล่งเรียนรู้ใกล้ตัว ที่หาได้ง่ายๆในโรงเรียน ชุมชน หรือภายในบ้าน สำหรับวันนี้จะมาแนะนำสื่อการสอนที่คุณครูสามารถนำมาใช้ในการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ได้นั่นก็คือ ดอกอัญชัน ซึ่งป็นดอกไม้ที่สามารถหาได้ง่ายๆ ออกดอกได้ตลอดทั้งปี โดยส่วนใหญ่ดอกจะมีสีม่วง หรือสีน้ำเงินอมม่วง มีทั้งแบบดอกซ้อนและดอกลา (มีกลีบชั้นเดียวไม่ซ้อน) มาดูกันว่าคุณครูสามารถนำดอกอัญชันมาใช้สอนเรื่องอะไรได้บ้าง1. ฝึกทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ คุณครูสามารถนำดอกอัญชันมาให้นักเรียนฝึกทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เริ่มจากการให้นักเรียนสังเกตดอกอัญชัน ทั้งรูปร่างลักษณะ สี กลิ่น รสชาติ โดยสามารถใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 หลังจากนั้นให้นักเรียนตั้งคำถามจากสิ่งที่สังเกต ว่านักเรียนสงสัยหรืออยากรู้อะไรเกี่ยวกับดอกอัญชันบ้าง เลือกคำถามที่สงสัยอยากรู้มากที่สุด เช่น นักเรียนอาจสงสัยว่า สีของดอกอัญชันที่เห็นเป็นสีม่วงมีองค์ประกอบจากสีอะไรบ้าง นักเรียนก็มาตั้งสมมติฐาน ออกแบบการทดลองตรวจสอบสมมติฐาน ทำการทดลองเพื่อตรวจสอบสมมติฐาน รวบรวมข้อมูล อภิปราย และ สรุปผล เห็นมั้ยคะ เพียงแค่มีดอกอัญชัน คุณครูก็สามารถฝึกทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ให้กับนักเรียนได้แล้วล่ะค่ะ ซึ่งสามารถใช้ได้กับนักเรียนทุกระดับชั้นเลยค่ะ2. การแยกสาร การจัดการเรียนรู้เรื่องการแยกสาร โดยการสกัดด้วยตัวทำละลาย คุณครูสามารถให้นักเรียนแยกสารสีออกจากดอกอัญชันได้ โดยนักเรียนอาจตั้งคำถามได้ว่า ตัวทำละลายชนิดใดที่สามารถละลายสารสีของดอกอัญชันได้ดีที่สุด หรืออุณหภูมิมีผลต่อการสกัดสารสีของดอกอัญชันหรือไม่ และนำไปใช้ในเรื่องการแยกสารโดยวิธีโครมาโทกราฟี สำหรับแยกสารสีจากดอกอัญชันว่าประกอบด้วยสีใดบ้าง3. โครงสร้างของดอก คุณครูสามารถนำดอกอัญชันมาใช้ในการจัดการเรียนรู้เรื่อง โครงสร้างของดอกได้ โดยดอกอัญชันเป็นดอกสมบูรณ์เพศ นักเรียนสามารถสังเกตเห็นโครงสร้างได้อย่างชัดเจน ทั้งกลีบเลี้ยง กลีบกอก เกสรตัวผู้และเกสรตัวเมีย4. อินดิเคเตอร์ เนื่องจากดอกอัญชันเป็นดอกไม้ที่มีสี และสามารถเปลี่ยนสีกับสารที่เป็นกรดหรือเบสได้ ดังนั้น คุณครูสามารถให้นักเรียนนำดอกอัญชันมาทำเป็นอินดิเคเตอร์เพื่อทดสอบความเป็นกรดเป็นเบสของสารรอบตัวได้ด้วยเห็นมั้ยคะว่า แค่ดอกอัญชันเพียงชนิดเดียว สามารถนำมาจัดกิจกรรมการเรียนรู้ได้อย่างหลากหลาย นี่แค่ตัวอย่างสำหรับการสอนวิทยาศาสตร์เท่านั้นนะคะ คุณครูที่สอนในรายวิชาอื่นก็สามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการสอนได้ด้วยค่ะ แต่จะสอนอะไรได้บ้างก็ขึ้นอยู่กับความคิดสร้างสรรค์ของคุณครูล่ะค่ะ ขอให้มีความสุขกับการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้กันนะคุณครู ภาพถ่ายโดย pitcha