นักท่องเที่ยวหาย วิกฤตช้าง ต่อสู้กับ 'ความหิวโหย'
วิกฤตช้าง – จากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งไม่ใช่เพียงส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่กับ “มนุษย์” เท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อทุกสรรพสิ่ง เช่น “ช้าง” อย่างช้างที่ศูนย์บริบาลช้าง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ รวมไปถึงโครงการช้างอีกมากต้องหยุดให้บริการ
เล็ก-แสงเดือน ชัยเลิศ เจ้าของศูนย์บริบาลช้าง และผู้ก่อตั้งมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นสาหัสจนอาจส่งผลให้โครงการช้างต่างๆ ต้องปิดตัวอย่างถาวร ซึ่งจากการที่ไม่มีนักท่องเที่ยว ทำให้มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงดูช้าง และการที่ช้างต้องถูกล่ามโซ่เนื่องจากช้างเริ่มทำร้ายกันเอง บางเชือกมีบาดแผลที่เกิดจากการช่วงชิงแย่งอาหาร ส่วนแม่ช้างที่กำลังท้องก็มีความเครียดสูง ไม่แข็งแรง ไม่สบายตัวเพราะไม่พอใจที่ถูกล่าม
ทั้งนี้ เมื่อถามว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป แสงเดือนเล่าว่า หากไม่ได้รับความช่วยเหลือในเร็ววัน ช้างเหล่านี้อาจทนต่อความหิวโหยไม่ไหวจนถึงขั้นเสียชีวิต หรืออาจถูกนำไปเดินขออาหารตามท้องถนน อีกทางเลือกคือขายให้กับสวนสัตว์หรือส่งกลับคืนไปยังธุรกิจค้าไม้ที่ช่วยเหลือมา ซึ่งในปี 2532 ได้มีการออกคำสั่งห้ามใช้แรงงานช้างอย่างการลากซุงสำหรับธุรกิจดังกล่าวเพราะถือเป็นการทารุณกรรม มันเป็นสิ่งที่ช้างเหล่านี้ไม่สมควรต้องเจอ แต่ก็อาจหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากไม่ได้รับความช่วยเหลือด้านการเงินในเร็วๆ นี้
นอกจากนั้น ยังมีสัตว์กว่าสามพันชีวิตที่อาศัยอยู่ที่ศูนย์บริบาลช้างล้วนต้องการความช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์พิการทางร่างกายหรือจิตใจ ซึ่งการออกมาขอความช่วยเหลือด้านการเงินอย่างเร่งด่วนในครั้งนี้ก็เพื่อเป็นค่าอาหารและยา รวมทั้งยังมีช้างหลายเชือกที่ต้องการการดูแลและให้ยาอย่างต่อเนื่อง
สำหรับช่องทางการช่วยเหลือช้าง บริจาคผ่านเว็บไซต์ TRUNKS UP (https://jointrunksup.org) องค์กรที่ให้ความช่วยเหลือในการระดมทุน รวมถึงผ่านบัญชีธนาคาร ชื่อบัญชีมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม หมายเลขบัญชี 407-2-33888-5 ธ.กสิกรไทย สาขาถนนช้างคลาน เชียงใหม่ และชื่อบัญชี มูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม เลขที่บัญชี 508-6-05737-6 ธนาคารธนชาต สาขาตลาดวโรรส เชียงใหม่