“ในสมัยโบราณนานมา ชาวอัมพวานั้น เย็นย่ำค่ำลงคราใด เมื่อเสร็จสิ้นกิจการงานตัว ทั่วทุกครัวเรือนเป็นอันต้องล้อมวงเล่นดนตรี แม้แต่ลูกเล็กเด็กแดง ก็เล่นดนตรีกันเป็นทุกคน ดังนั้นเมื่อพายเรือผ่านลำน้ำสายนี้ จะยินเสียงดนตรี บรรเลงเพลงไทยอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน” คำบอกเล่าจากปากครูดนตรีไทยคนท้องถิ่นเมืองอัมพวา หากลองให้หลายต่อหลายคนนึกถึงเมืองท่องเที่ยวชื่อดังอย่าง ‘อัมพวา’ ภาพแรกในความคิดของใครหลายๆคน คงไม่พ้นภาพของ ‘ตลาดน้ำอัมพวา’ แท้จริงแล้ว อัมพวามิได้มีดีเพียงแค่ตลาดริมน้ำ ที่คับคั่งไปด้วยเหล่านักท่องเที่ยวที่โหยหากลิ่นอายวิถีชีวิตแบบแต่ก่อน แต่แผ่นดินถิ่นนี้ มีประวัติความเป็นมาอันยาวนานเกินที่หลาย ๆ คนจะคาดคิด ทั้งในด้านคีตศิลป์ ดุริยางคศิลป์ และศิลปะวัฒนธรรม ซึ่งได้รวมวิทยาการต่าง ๆ เหล่านี้ไว้ที่แหล่งเรียนรู้ ’อุทยาน ร.2’ อีกทั้งในกาลก่อนนั้นสถานที่แห่งนี้ยังเป็นนิวาสถานของพระมหากษัตริย์ไทย ผู้ที่ทรงพระปรีชาสามารถในด้านศิลปะวัฒนธรรม ดนตรี และกวีนิพนธ์ ‘พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย’ ‘ย้อนกลับไปสู่จุดเริ่มต้น’ ‘อุทยานพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย’ หรือ ‘อุทยาน ร.2’ จัดตั้งขึ้นตามพระราชดำริของ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ โดยมีพระราชประสงค์ให้สถานที่แห่งนี้ สืบทอดศิลป์วัฒนธรรมด้านนาฎศิลป์ โขน ละคร ดุริยางคศิลป์ในพระราชสำนัก อีกทั้งยังสร้างขึ้นเพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์เพื่อรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย บูรพมหากษัตริย์ไทยที่ทรงได้รับการประกาศพระเกียรติคุณจาก 'ยูเนสโก’ ให้ทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลก ‘สาขาวรรณกรรม’ ทำไมต้องดนตรี ’ในพระราชสำนัก’ ท่านอาจารย์ประกอบ ลาบเกษร หัวหน้าโครงการฯ ได้อธิบายให้ฟังว่า “เป็นพระราชประสงค์ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ ที่ต้องการให้จัดทำหลักสูตรเร่งรัดนี้ขึ้นมาเพื่อสอนดนตรีนาฏศิลป์ในพระราชสำนัก โดยนาฎศิลป์จะให้เล่นละครนอกและละครใน ดนตรีก็เป็นดนตรีในพระราชสำนักซึ่งเป็นดนตรีประกอบพระราชพิธี ส่วนระบำรำฟ้อนก็ต้องเป็นระบำในพระราชพิธีเท่านั้น” โครงการที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ 'ขึ้นชื่อว่าดนตรีพระราชสำนัก ก็ต้องเป็นดนตรีที่เล่นอยู่ในวัง แล้วใครจะเป็นคนสอน' ครั้นแรกเริ่มเดิมทีนั้น จุดมุ่งหวังของโครงการ คือให้ผู้มีความรู้ครูบาอาจารย์ในพื้นที่เป็นผู้ประสิทธิประสาทวิชาความรู้ด้านต่าง ๆ ให้แก่เยาวชน โดยอยู่ในการดูแลของโครงการ แต่แล้วเมื่อขึ้นชื่อว่าดนตรีศิลปะในพระราชสำนักแล้ว ไม่ใช่ทุกคนที่จะสอนกันได้ ดังนั้น จึงต้องมีการเชิญอาจารย์จากกรมศิลปกรมาเป็นผู้ฝึกสอนถึงที่อัมพวา ซึ่งปัจจุบันมีอาจารย์จากสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์มาร่วมทำการสอนด้วย ดุริยางคศิลป์ดนตรีในพระราชพิธีอาจารย์มนตรี ตราโมทได้กล่าวไว้ว่า “...พระราชพิธีทั้งหลายที่ทรงกระทำด้วยพระองค์เองก็ดี หรือ ทรงพระราชทานให้ผู้อื่นกระทำแทนก็ดี จะมิได้มีงานใดเลยที่จะ ขาดการประโคมด้วยดุริยางค์ดนตรี เพราะเสียงประโคมของดนตรี ปี่พาทย์เป็นเครื่องกระตุ้นเตือนใจให้บังเกิดความรู้สึกตื่นตัว และ บันดาลใจให้รวมจุดอยู่ตรงกันในพระราชพิธีนั้น และเมื่อได้ใช้ เครื่องบรรเลงและเพลงเหล่านั้น ได้ผลตามประสงค์แล้ว ก็ยึดถือ เป็นแบบแผนปฏิบัติดุจมีบทบัญญัติสืบต่อกันมา...”ดนตรีในพระราชพิธี คือการบรรเลงดนตรีประกอบกิริยาอาการของผู้เข้าร่วมพิธีในลักษณะต่าง ๆ โดยการประโคม เพื่อเป็นสัญญาณขี้นตอนของพระราชพิธี เรียกว่า กาลวิเทศวิภาค ซึ่งเป็นการลำดับเหตุการณ์ให้ผู้ที่เข้าร่วมพิธีได้รับทราบว่าในขณะนี้ ลำดับขั้นตอนว่าถึงขั้นตอนใด ความหมายของเพลง จึงจะสอดคล้องคล้องกับกิจกรรมในขณะนั้น อีกทั้งการประโคมดังกล่าวยังช่วยให้ผู้เข้าร่วมพิธีเกิดความรู้สึกมีส่วนร่วมและตื่นเต้น มีความรู้สึกว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของพิธีการบรรเลงดนตรีในพระราชพิธี จะบรรเลงประกอบกันระหว่างวงสังข์แตรวงปี่พาทย์พิธี และวงกลองชนะ ตามปกติขั้นตอนการบรรเลงนั้น จะเริ่มโดยให้ฆ้องชัย สังข์ และแตร บรรเลงนำขึ้นก่อน จากนั้นวงปี่พาทย์จึงบรรเลงตาม จนกระทั่งเสร็จสิ้นพิธีนั้น โดยใช้เวลาตั้งแต่ 5 นาที จนถึง 1 ชั่วโมง แล้วแต่พระราชพิธีนั้น ๆ ส่วนสำคัญของระเบียบในการบรรเลงปี่พาทย์พิธี จะเน้นที่แนวความช้าเร็วระดับปานกลาง ทำนอง และลีลาของเพลง ต้องมีความไพเราะ สนิทสนม กลมกลืนกัน ไม่มีทำนองโดดเด่นโลดโผนอย่างเช่นการบรรเลงเดี่ยวโดยเด็ดขาด เช่น ผู้บรรเลงระนาดเอก จะต้องไม่ตีสะบัดขยี้ให้ทำนองเพลงวิจิตรพิสดารแต่ประการใดเลย ซึ่งเป็นระเบียบการบรรเลงปี่พาทย์พิธีที่ได้ยึดถือมาโดยตลอดวงปี่พาทย์พิธี ใช้เล่นในงานพระราชพิธีทั่วไปนั้น มักใช้วงปี่พาทย์เครื่องคู่หรือเครื่องใหญ่บรรเลงประโคม การประสมวงปี่พาทย์ประกอบด้วย เครื่องดนตรีไทยหลายหลากชนิดซึ่งเครื่องดนตรีในพระราชพิธีจะประกอบด้วย 1. ปี่ใน 2. ระนาดเอก 3. ระนาดทุ้ม 4. ฆ้องวงใหญ่ 5. ตะโพน 6. ฉิ่งคติความเชื่อของเครื่องดนตรีแต่ละชิ้นที่มีมาแต่โบราณกาล1. ฆ้อง สัญลักษณ์ของความดีงาม และความสดใส เพราะเสียงโลหะกังวานนั้น ให้อารมณ์ความรู้สึกแห่งสรวงสวรรค์ แม้แต่ชาวตะวันตก ยังถือว่าเสียงฆ้อง (ระฆัง) เป็นเสียงศักดิ์สิทธิ์สามารถขับไล่ซาตาน (ปีศาจ) ได้2. ปี่ สัญลักษณ์แห่งพระวัจนะ หรือตัวแทนของการร่ายมนต์อันศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเราได้รับอิทธิพลความเชื่อมาจากชาวอารยัน ในเรื่องวันพิพากษาโลก เมื่อเทพกาเบรียลเป่าปี่ขึ้น โลกก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลง มนุษย์จะตื่นขึ้นจากความหลับและความตาย3. ฉิ่ง สัญลักษณ์แห่งกฎธรรมชาติ เพราะฉิ่งมีหน้าที่ทำเสียงฉิ่ง และฉับคงที่ตลอดไม่มีการเปลี่ยนแปลง อันเป็นกฎเกณฑ์ปกติของจักรวาล4. ตะโพน และกลองทัด สัญลักษณ์แห่งความเปลี่ยนแปลง ซึ่งคู่กับความคงที่ของเสียงฉิ่ง เปรียบได้กับปรากฏการณ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ‘ด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้ การประโคมดุริยางค์ดนตรีในพระราชพิธีทางศาสนา จะต้องใช้วงปี่พาทย์บรรเลงประกอบพระราชพิธีเสมอ เพื่อให้พระราชพิธีเกิดความสมบูรณ์ เป็นสิริสวัสดิ์แก่ประเทศชาติ และอำนวยความสุขความเจริญมาสู่ประชาชน’ ‘โขน ละครในพระราชพิธี’ โขน นาฎกรรมชั้นสูงที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติ แต่เดิมเป็นเครื่องราชูปโภคของกษัตริย์ละสืบทอดมาจากละครหลวงในราชสำนักตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ซึ่งการแสดงโขนนั้นกำเนิดในราชสำนัก ใช้ในพิธีกรรมของหลวง ในงานพระราชพิธีของหลวงและการต้อนรับ ราชอาคันตุกะจากต่างประเทศซึ่งแต่เดิมโขนเป็นการแสดงเพื่อบูชาหรือฉลองอัฐิของผู้ใหญ่ สมภารวัน หรือ หรือเจ้านายผู้สูงศักดิ์เรื่องที่ใช้แสดงโขนนั้นจะเล่นเรื่องรามเกียรติ์เพียงเรื่องเดียว ‘เส้นทางคนโขนในวัง’ โขนละครศิลปะที่ต้องใช้ต้องใช้ความชำนาญต้องมีการฝึกฝนกันตั้งแต่เด็กเพื่อฝึกหัดเบื้องต้น เพลงช้า เพลงเร็ว พอออกแสดงได้ก็ให้เป็นเสนาหรือนางกำนัลก่อนเมื่อมีการกำหนดให้เข้าพิธีไหว้ครู พอครูเห็นว่าศิษย์เต้นและรำได้ดีแล้วถึงให้มีการอนุญาตให้เล่นโขนละคร ซึ่งสิ่งนี้เปรียบเสมือนประกาศนียบัตรจึงจะสามารถเล่นโขนละครต่อไปได้ 'ละครในและละครนอก'ละครใน คือละครที่เกิดขึ้นในเขตพระราชฐาน เป็นละครที่มีระเบียบแบบแผน สุภาพ อ่อนช้อย ละครในนั้นมีความมุ่งหมายอยู่ 3 ประการ คือ 1.การรักษาศิลปะของการรำอันสวยงาม 2.รักษาขนบธรรมเนียมประเพณีเคร่งครัด 3.รักษาความสุภาพทั้งบทร้องและเจรจา เพราะฉะนั้นเพลงร้อง เพลงดนตรี จึงต้องดำเนินจังหวะค่อนข้างช้าเพื่อให้รำได้อ่อนช้อยสวยงามดนตรีที่เล่นกับละครในนั้นใช้วงปี่พาทย์ ซึ่งอาจเป็นวงเครื่องห้า เครื่องคู่ หรือเครื่องใหญ่ก็ได้ โรงละครนั้น มีฉากเป็นผ้าม่าน มีประตูเข้าออก 2 ประตู หลังฉากเป็นที่แต่งตัวและสำหรับให้ตัวละครพัก หน้าฉากเป็นที่แสดงตั้งเตียงตรงกลางหน้าฉาก มีความเรียบร้อยสวยงาม เพราะใช้วัสดุที่มีค่าเนื่องจากมักจะเป็นละครของเจ้านาย หรือผู้ดีมีฐานะ การแต่งกายจะเลียนแบบเครื่องต้นของกษัตริย์ ตัวพระสวมชฎา ตัวนางสวมเครื่องประดับศีรษะตามฐานะเช่น มงกุฎกษัตริย์ รัดเกล้ายอด รัดเกล้าเปลว และกระบังหน้าเสื้อผ้าปักดิ้นเลื่อมแพรวพราว การแสดงมีคนบอกบท ต้นเสียง ลูกคู่การร่ายรำสวยงามตามแบบแผน เนื่องจากรักษาขนบประเพณีเคร่งครัดการเล่นตลกจึงเกือบจะไม่มีเลยละครนอก เป็นละครของภาคกลาง ซึ่งมีวิวัฒนาการมาจากโนราเพราะมีความมุ่งหมายเช่นเดียวกันคือ การดำเนินเรื่องที่รวดเร็ว และตลกขบขัน สมัยโบราณผู้แสดงผู้ชายล้วน เพิ่งมีผู้หญิงแสดงในปลายสมัยรัชกาลที่ 4ส่วนด้านตัวละครนั้น มีครบทุกตัวตามเนื้อเรื่อง ไม่จำกัดจำนวนดนตรีที่ใช้ในวงปี่พาทย์ จะเป็นเครื่องห้า เครื่องคู่ หรือเครื่องใหญ่ ก็ได้ ส่วนโรงละครนั้นฉากและการแต่งตัวคล้ายละครใน มีคนบอกบท มีต้นเสียงและลูกคู่สำหรับร้องบางตัว และจังหวะของการร้องและการบรรเลงดนตรีค่อนข้างเร็วเวลาเล่นตลกมักเล่นนาน ๆ ไม่คำนึงถึงการดำเนินเรื่อง และไม่ถือขนบธรรมเนียมประเพณีเช่น ตัวกษัตริย์หรือมเหสีจะเล่นตลกกับเสนาก็ได้ เริ่มต้นแสดงก็จับเรื่องที่เดียวไม่มีการไหว้ครู เรื่องที่ละครนอกแสดงได้สนุกสนานเป็นที่นิยมแพร่หลายบทที่สามัญชนแต่งได้แก่ เรื่องแก้วหน้าม้า ลักษณวงศ์ และจันทโครพบทที่เป็นพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2 ได้แก่ เรื่องสังข์ทอง สังข์ศิลป์ชัย ไชยเชษฐ์ คาวี มณีพิชัย และไกรทอง ขอขอบคุณ:อาจารย์บ้านดนตรีไทย วัดภุมรินทร์กุฎีทอง :อาจารย์ประกอบ ลาภเกษรอ้างอิงจาก :เอกสารโครงการวิจัย เรื่องการอนุรักษ์และสืบทอดโขน (ผู้หญิง)ให้แก่เยาวชน :ดนตรีในพระราชพิธีสมัยรัตนโกสินทร์ อัศนี เปลี่ยนศรี :www.laksanathai.com