รีเซต

พิษโควิด! สภาพัฒน์ เผยปี’63 คนว่างงาน 6.51 แสนราย เพิ่ม 1.69% - หนี้ครัวเรือนจ่อแตะ 13.77 ล้านล้าน

พิษโควิด! สภาพัฒน์ เผยปี’63 คนว่างงาน 6.51 แสนราย เพิ่ม 1.69% - หนี้ครัวเรือนจ่อแตะ 13.77 ล้านล้าน
ข่าวสด
23 กุมภาพันธ์ 2564 ( 17:09 )
34
พิษโควิด! สภาพัฒน์ เผยปี’63 คนว่างงาน 6.51 แสนราย เพิ่ม 1.69% - หนี้ครัวเรือนจ่อแตะ 13.77 ล้านล้าน

พิษโควิดตกงานพุ่ง - นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ เปิดเผยว่า ภาวะสังคมไทยในปี 2563 การจ้างงานปรับตัวดีขึ้น แต่อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับสูง และชั่วโมงการทำงานลดลงเป็นผลกระทบจากโควิด-19 โดยกำลังแรงงานมีจำนวนทั้งสิ้น 38.5 ล้านคน ขยายตัว 1% แต่อัตราว่างงานขยายตัวในระดับสูงที่ 1.69% เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่ 0.98% หรือมีผู้ว่างงานเฉลี่ย 6.51 แสนคน

 

ขณะที่หนี้ครัวเรือนขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยคูณภาพสินเชื่อดีขึ้น แต่ยังต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด โดยหนี้ครัวเรือนในไตรมาส 3/2563 มีมูลค่า 13.77 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3.9% เทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่ ขยายตัว 3.8% คิดเป็น 86.6% ต่อจีดีพี เพิ่มสูงขึ้นตามเศรษฐกิจที่หดตัวจากสถานการณ์โควิด-19 มียอดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เพื่อการอุปโภคบริโภค 2.91% ของสินเชื่อรวม แต่มีสัดส่วนหนี้ค้างชำระไม่เกิน 3 เดือนที่ 6.7% คิดเป็น 2 เท่าของเอ็นพีแอลต่อสินเชื่อรวม

 

“สศช. คาดว่าแนวโน้มหนี้ครัวเรือนในไตรมาส 4/2563 จะเพิ่มขึ้น แต่จะเพิ่มไม่มาก เพราะกิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงนี้ เริ่มขยับเขยื้อนแล้ว ส่วนแนวโน้มหนี้ครัวเรือนในปี 2564 ต้องพิจารณา 2 ปัจจัย คือ 1.รายได้ประชาชน ถ้ากลับมาเป็นปกติ ความจำเป็นในการสร้างหนี้ก็ลดลง 2.การให้ความรู้ด้านการเงินแก่ภาคครัวเรือน แต่ก็เป็นเรื่องที่พูดยาก เพราะ บางกลุ่มมีรายได้ไม่สูงแต่รสนิยมสูง ดังนั้น ถ้าถามว่า แนวโน้มหนี้ครัวเรือนจะเป็นขาลงหรือไม่ จึงตอบยังชัดๆไม่ได้”

 

ทั้งนี้ ในระยะต่อไป รัฐบาลต้องมีมาตรการต่อเนื่องในการดูแลให้หนี้ครัวเรือนมีคุณภาพและต้องมีมาตรการช่วยเหลือในกลุ่มที่มีปัญหา อาจต้องพิจารณาถึง 1.ปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกค้ากลุ่มที่เคยช่วยเหลือไปแล้ว 2.แยกลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิดระลอกใหม่ออกจากกลุ่มอื่น 3.ต้องให้ความช่วยเหลือครัวเรือนกลุ่มผู้มีรายได้น้อยเป็นพิเศษ

 

นายดนุชา กล่าวว่า นอกจากนี้ สศช.ยังเผยแพร่บทความเรื่อง พ.ร.ก.เงินกู้ให้อะไรกับประชาชน โดยสรุปภาพรวมการอนุมัติและเบิกจ่ายวงเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นกรอบวงเงินกู้อนุมัติแล้ว 7.486 แสนล้านบาท คงเหลือ 2.51 แสนล้านบาท มีการเบิกจ่ายแล้ว 4.046 แสนล้านบาท คิดเป็น 54.05% เป็นการอนุมัติวงเงินเพื่อการเยียวยา 5.95 แสนล้านบาท จากกรอบวงเงิน 6 แสนล้านบาท อนุมติวงเงินเพื่อการฟื้นฟู 1.33 แสนล้านบาท จากกรอบ 3.55 แสนล้านบาท และอนุมัติวงเงินเพื่อสาธารณสุข 1.96 หมื่นล้านบาท จากกรอบ 4.5 หมื่นล้านบาท

 

ทั้งนี้ หากไม่มีการระบาดรอบใหม่ วงเงินที่เหลืออยู่ 2.51 แสนล้านบาท จะเพียงพอต่อการกระตุ้น ผ่านโครงการลงทุนเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ แต่ถ้าหากมีการระบาด วงเงินส่วนนี้ก็จะสามารถโอนไปใช้เพื่อลดผลกระทบให้ประชาชนได้ ซึ่งการจะอนุมัติงบไปใช้ต้องเป็นไปตามสถานการณ์ และใช้จ่ายด้วยความระมัดระวัง เพราะแม้ว่าจะมีวัคซีนก็ไม่แน่ใจว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นอีก และยืนยันว่า งบในส่วนนี้ไม่ใช่เงินเพียงก้อนเดียวที่รัฐบาลเหลืออยู่ ยังมีงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 งบลงทุนรัฐวิสาหกิจ ที่สามารถนำมาใช้ได้

 

นายดนุชา กล่าวว่า การใช้เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ในช่วงที่ผ่านมา สามารถจ่ายเงินเยียวยาให้ผู้ได้รับผลกระทบแล้วกว่า 44.14 ล้านคน คิดเป็นวงเงิน 3.45 แสนล้านบาท ขณะเดียวกันยังสร้างตำแหน่งงานเพื่อรองรับปัญหาการว่างงานได้กว่า 4.16 แสนตำแหน่ง ใช้งบประมาณ 4.56 หมื่นล้านบาท มีการจ้างงานเกิดขึ้นแล้ว 1.31 แสนตำแหน่ง เป็นนักศึกษาจบใหม่ 1.19 หมื่นตำแหน่ง