เงา: วิทยาศาสตร์ พัฒนาการ และงานศิลป์เงา (Shadow) คือ ส่วนที่มืดบริเวณที่แสงผ่านไปไม่ถึง เพราะมีวัตถุมาบังแสงไว้ ทำให้แลเห็นเป็นรูปของวัตถุนั้น ๆ เงาเกิดขึ้นได้ในทุกที่ที่มีแสง และสิ่งที่ทำให้เกิดแสง ได้แก่ ดวงอาทิตย์ หลอดไฟ ไฟฉาย และวัตถุที่ทำให้เกิดไฟได้ เช่น เทียน ไม้ขีด ไฟแช็ก ฯลฯ ล้วนทำให้เกิดเงาได้ทั้งสิ้นกล่าวได้ว่า “แสง” เมื่อตกกระทบไปยัง “วัตถุทึบแสง” หรือวัตถุที่แสงไม่สามารถผ่านไปได้ จะทำให้เกิด “เงา” ของวัตถุนั้นบนฉากหลัง รูปร่างของเงาจะเป็นไปตามลักษณะของวัตถุที่แสงตกกระทบ ส่วนขนาดของเงาจะขึ้นอยู่กับทิศทางและระยะทางระหว่างแหล่งกำเนิดแสงกับวัตถุ ถ้าแหล่งกำเนิดแสงกับวัตถุอยู่ใกล้กัน เงาจะมีขนาดใหญ่ แต่ถ้าอยู่ไกลกัน เงาจะมีขนาดเล็ก ดังจะเห็นได้จากในเวลากลางวันที่มีแสงแดด ความยาวของเงาจะหดสั้นที่สุดในช่วงที่ดวงอาทิตย์อยู่ตรงกับศีรษะของเรา นั่นคือ ขณะที่ดวงอาทิตย์ลอยอยู่บนท้องฟ้าในเวลาเที่ยงวัน ดวงอาทิตย์จะส่องแสงมาตรงศีรษะของเราพอดี เงาจึงสั้น แต่ในเวลาเช้าหรือในตอนเย็นที่ดวงอาทิตย์ลอยเฉียงไปจากศีรษะ ความยาวของเงาก็จะยาวกว่าความเป็นจริง และเงาจะอยู่ในทิศตรงกันข้ามกับแหล่งกำเนิดแสงเสมอในเวลากลางวัน หากอยู่ใต้ร่มเงาไม้ จะให้ความรู้สึกร่มรื่นเย็นสบาย สำหรับพ่อแม่ที่เคยชวนลูก ๆ เล่นกับเงามือ (Shadows Puppets) ในเวลากลางคืน ก็จะช่วยเสริมสร้างพัฒนาการรอบด้าน ทั้งในด้านสติปัญญา ความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการ ภาษาและการสื่อสาร ได้พัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก ได้แก่ กล้ามเนื้อมือ ในการสร้างเงาเป็นภาพต่าง ๆ และความฉลาดทางอารมณ์ได้ดีคุณสมบัติของแสงและเงา ยังถูกนำมาสร้างสรรค์เป็นงานศิลปะที่น่าทึ่ง โดยเฉพาะในประเทศไทยที่มี “มหรสพการแสดงเงา” ซึ่งเป็นศิลปะการแสดงเก่าแก่ที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติอย่าง “หนังใหญ่วัดขนอน” ลมหายใจแห่งเงาศิลป์ ศิลปะประจำถิ่นจังหวัดราชบุรี ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นผลงานการอนุรักษ์ฟื้นฟูมรดกวัฒนธรรมเชิงนามธรรมดีเด่นของโลก และ “หนังตะลุง” การเล่นหุ่นละครเงาที่สะท้อนอัตลักษณ์ของความเป็นคนใต้ ที่ล้วนแต่เป็นศิลปวัฒนธรรมล้ำค่าที่ควรแก่การรักษาสืบทอดให้คงอยู่คู่ชาติการเรียนรู้เรื่อง เงา ไม่เพียงแต่จะเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ พัฒนาการ และงานศิลป์เท่านั้น เพราะตามความเชื่อโบราณการเล่นเงาในเวลากลางคืนถือเป็นสิ่งต้องห้าม และในสำนวนไทยบางสำนวนก็ยังเปรียบเทียบเงาว่าเป็นสัญลักษณ์ของความน่ากลัว และลางร้ายอีกด้วย บทความโดย : punyapat_skขอขอบคุณเครดิตรูปภาพ :ภาพหน้าปกจาก claude05alleva / pixabayภาพที่ 1 จาก Chanzj / pixabayภาพที่ 2 จาก Ron Lach / pexelsภาพที่ 3 จาก sippakorn / pixabayอัปเดตความรู้ใหม่ ๆ อีกมากมาย โหลดเลยที่ App TrueID ฟรี !