จับตาท่าทีสหรัฐฯต่อ รัฐประหารเมียนมา สะท้อนแนวทางรัฐบาลไบเดน ที่มีต่อจีน
จับตาท่าทีสหรัฐฯต่อ รัฐประหารเมียนมา สะท้อนแนวทางไบเดน ที่มีต่อจีน : รัฐบาลไบเดนย้ำ จะไม่ผลักเมียนมาเข้าไปสู่อ้อมแขนของจีน
เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2564 สหรัฐฯได้เตือนกองทัพเมียนมาว่าจะสหรัฐฯจะดำเนินการบางอย่าง จากการก่อรัฐประหารของกองทัพ วิกฤตการทางการเมืองเมียนมาในครั้งนี้ ถือเป็นความท้าทายต่อวิสัยทัศน์ของ นาย โจ ไบเดน โดย ฝ่ายบริหารของนาย โจ ไบเดน ได้กล่าวเตือนกองทัพทหารของเมียนมาว่าจะ“มีการดำเนินการ” หากกองทัพเมียนมาดำเนินการรัฐประหารอย่างชัดเจนต่อผู้นำพลเรือนของประเทศ
วิกฤตการทางการเมืองในเมียนมา กำลังทวีความรุนแรง ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเพียงไม่กี่วันหลังจาก ประธานาธิบดี โจ ไบเดน เข้ารับตำแหน่ง ซึ่งนับว่า การเกิดรัฐประหารในเมียนมาได้ท้าทายวิสัยทัศน์นโยบายต่างประเทศของ นาย โจ ไบเดน ประธานาธิบดีคนใหม่ ที่เคยสัญญาว่าจะยืนหยัดต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนทั่วโลกรวมทั้งต่อต้านจีนที่นำโดยพรรคคอมมิวนิสต์
การรัฐประหารของกองทัพเมียนมาจะทำให้ความก้าวหน้าครั้งสำคัญของประเทศในกลุ่มประเทศอาเซียนที่กำลังก้าวไปสู่ประชาธิปไตยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาต้องหยุดชะงักลง กองกำลังติดอาวุธของเมียนมายังถูกกล่าวหาว่าฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และการสังหารอย่างโหดร้าย ต่อชนกลุ่มน้อย ในขณะเดียวกันเหตุผลหนึ่งที่สหรัฐฯสนับสนุนให้มีประชาธิปไตยในเมียนมา ก็เพราะต้องการดึงเมียนมาออกจากวงโคจรของจีน ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านทางตะวันออกเฉียงเหนือของเมียนมา
ตามรายงาน กองทัพเมียนมาได้ควบคุมตัวผู้นำพลเรือนระดับสูงหลายคนรวมถึง นาง อองซานซูจี ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพและนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยที่พรรคการเมืองของเธอ ชนะการเลือกตั้งครั้งล่าสุดอย่างถล่มทลาย ในแถลงการณ์ทางโทรทัศน์ กองทัพกล่าวว่าได้เข้าควบคุมประเทศและประกาศภาวะฉุกเฉินในเมียนมาเป็นเวลาหนึ่งปี เนื่องจากกองทัพไม่พอใจกับผลการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน ปี 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งพรรคของซูจีทำได้ดี ในขณะที่พรรคที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพถือว่าทำได้ไม่ดีนัก ซึ่งกองทัพของเมียนมา กล่าวหาผู้นำพลเรือนของเมียนมาว่า มีการฉ้อโกงผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง
ในแถลงการณ์เมื่อวันอาทิตย์ (31 ม.ค.64) ที่ผ่านมา เจน ซากี โฆษกเลขาธิการของรัฐบาลสหรัฐฯ กล่าวว่า สหรัฐฯ รู้สึก"ตื่นตระหนก" กับสิ่งที่กองทัพเมียนมากำลังกระทำ โดยสหรัฐฯ ยืนยันที่จะต่อต้านความพยายามใด ๆ ของกองทัพเมียนมา ที่จะเปลี่ยนแปลงผลของการเลือกตั้งครั้งล่าสุด หรือ การที่กองทัพเมียนมาพยายามขัดขวางการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยของเมียนมา โดยสหรัฐฯ จะดำเนินการกับผู้ที่รับผิดชอบนั้น หากขั้นตอนเหล่านี้ไม่ถูกตอบสนอง
อย่างไรก็ตาม เจน ซากี โฆษกเลขาธิการของรัฐบาลสหรัฐฯ ไม่ได้ระบุว่าสหรัฐฯจะดำเนินการประเภทใดบ้าง หากกองทัพทหารของเมียนมาไม่ปฏิบัติตามคำเตือนของสหรัฐฯ ทั้งนี้ มีโอกาสที่ฝ่ายบริหารของไบเดนจะหันไปใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจเหมือนในอดีต
แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีการต่างประเทศของสหรัฐฯ ได้พยายามให้ความสำคัญกับคำแถลงกรณ์ต่อกองทัพเมียนมาที่มีท่าทีที่ค่อนข้างนุ่มนวลซึ่งไม่ได้สัญญาว่าจะลงโทษกองทัพเมียนมาแบบชัดเจนนัก โดย แอนโทนี บลิงเคน กล่าวว่า“ สหรัฐฯ จะยืนหยัดร่วมกับประชาชนพม่า ในความปรารถนาที่จะมีประชาธิปไตย เสรีภาพ สันติภาพ และการพัฒนา กองทัพทหารเมียนมา ต้องยกเลิกการกระทำเหล่านี้ทันที”
ในอดีต เมียนมาร์ถูกปกครองโดยคณะกองทัพทหารซึ่ง ทำการกักขังนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย นักวิชาการ และนักข่าวหลายพันคน จนกระทั่งหลังช่วงคริสต์ทศวรรษ 2000 เมียนมาได้เริ่มดำเนินการเพื่อเปิดระบบและปูทางไปสู่การปกครองพลเรือนที่ยังจำกัดอยู่ มีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปที่ค่อนข้างเสรี ในทศวรรษที่ผ่านมา และดำเนินการตามขั้นตอนอื่น ๆ อีกมากมาย เพื่อให้มีเสรีภาพในการพูด รวมถึงการค้าที่เสรีมากขึ้น
ความก้าวหน้าของเมียนมาที่ดำเนินมาสู่เส้นทางประชาธิปไตยได้รับการยกย่องและได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากรัฐบาลสหรัฐฯในสมัยของ นาย บารัค โอบามา ในช่วงที่ นาย โจ ไบเดน ดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดี ซึ่งรัฐบาลของโอบามา ได้ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจหลายครั้งต่อเมียนมาเพื่อส่งเสริมให้เมียนมาเป็นประชาธิปไตย แต่อย่างไรก็ตาม กองทัพทหารยังคงรักษาอำนาจสำคัญไว้ได้รวมถึงการควบคุมกระทรวงบางส่วนอย่างมีประสิทธิภาพและไม่เคยตกอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลพลเรือน
นาง อองซานซูจี ใช้เวลาหลายปีในการถูกกักบริเวณ ก่อนการปฏิรูปประชาธิปไตย ซูจีเป็นผู้นำพลเรือนโดยพฤตินัยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่เธอก็ต้องสร้างความสมดุลให้กับอำนาจของกองทัพที่ยังดำรงคงอยู่เสมอ
ประชาชนชาวเมียนมา ซึ่งรวมถึงกองทัพทหาร ส่วนใหญ่แล้วนับถือศาสนาพุทธศาสนา โดยพุทธศาสนาถูกใช้ในฐานะเครื่องมือทางการเมืองเพื่อควบรวมชาวพุทธพม่าเข้าไว้ด้วยกัน ทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างชุมชนชาวพุทธพม่าและชาวมุสลิมโดยเฉพาะชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมโรฮิงยาที่ถูกยกระดับความรุนแรงขึ้นในปี จนแพร่ขยายไปทั่วทั้งรัฐเมียนมา
ในปี พ.ศ.2560 ทางการของพม่าได้ดำเนินการปราบปรามชาวมุสลิมโรฮิงญา จนมีการสังหารอย่างโหดร้ายต่อชาวมุสลิมโรฮิงยาเป็นจำนวนมาก ทั้งยังผลักดันให้ชาวมุสลิมโรฮิงยาอีกราว 1 ล้านคนร่นถอยไปใกล้กับพรมแดนของประเทศบังกลาเทศ โดยที่นางซูจี ปฏิเสธที่จะพูดอย่างมีความหมายต่อการสังหารหมู่ครั้งนั้น ทำให้นานาชาติและผู้เชี่ยวชาญหลายคนระบุว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ซุึ่งส่งผลกระทบให้ภาพลักษณ์ของเธอเสื่อมเสียอย่างมาก
อดีตฝ่ายบริหารของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เรียกสิ่งที่เกิดขึ้นกับชาวโรฮิงญาว่าเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แต่ไมค์ปอมเปโอ รัฐมนตรีต่างประเทศคนที่สองของทรัมป์ ยังสงวนท่าที ที่จะเรียกว่าการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ โดยคาดว่าเป็นเพราะเขาไม่ต้องการผลักดันเมียนมาไปสู่อ้อมแขนของจีนไปมากกว่านี้ ซึ่งจีนเป็นผู้อุปถัมภ์รายสำคัญของเมียนมาเป็นระยะเวลานาน
ทั้งนี้ นาย บลิงเคน รัฐมนตรีการต่างประเทศของสหรัฐฯ กล่าวว่า เขาจะทบทวนสถานการณ์ของชาวโรฮิงยาอีกครั้งว่ามีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์จริงหรือไม่ ขณะเดียวกันทั้ง นาย โจ ไบเดน และ นาย บลิงเคน ได้กล่าวว่า พวกเขาเชื่อว่าจีนได้ทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวมุสลิมอุยกูร์ในดินแดนของจีน
แหล่งข้อมูล : Politico