รีเซต

โควิด : งานวิจัยชี้ ชุดตรวจ ATK "เป็นอุปกรณ์ทางสาธารณสุขที่มีประโยชน์มาก" ในการสกัดโรคแพร่ระบาด

โควิด : งานวิจัยชี้ ชุดตรวจ ATK "เป็นอุปกรณ์ทางสาธารณสุขที่มีประโยชน์มาก" ในการสกัดโรคแพร่ระบาด
ข่าวสด
15 ตุลาคม 2564 ( 11:53 )
80
โควิด : งานวิจัยชี้ ชุดตรวจ ATK "เป็นอุปกรณ์ทางสาธารณสุขที่มีประโยชน์มาก" ในการสกัดโรคแพร่ระบาด

ทีมนักวิจัยจากยูนิเวอร์ซิตี คอลเลจ ลอนดอน (University College London หรือ UCL) ในอังกฤษ ระบุว่า ชุดตรวจหาเชื้อโรคโควิด-19 แบบแอนติเจน (Antigen Test Kit หรือ ATK) ที่คนทั่วไปสามารถใช้ได้เอง และให้ผลตรวจรวดเร็วนั้น มีประสิทธิภาพดีมากในการตรวจจับคนที่มีแนวโน้มจะแพร่เชื้อได้มากที่สุด และผู้ใช้ควรเชื่อถือผลบวกที่ได้ออกมา

 

ชุดตรวจ ATK เป็นการตรวจชนิดหนึ่งของ Lateral Flow Test (LFT) ซึ่งเป็นการตรวจวินิจฉัยโรคด้วยอุปกรณ์ทดสอบอย่างง่ายและรวดเร็ว คล้ายกับชุดตรวจการตั้งครรภ์ด้วยตัวเองที่สามารถใช้ที่บ้าน ที่ทำงาน หรือที่ศูนย์ตรวจในชุมชน

 

ตอนที่เริ่มนำมาใช้ในสหราชอาณาจักรช่วงแรก ชุดตรวจโควิดชนิดนี้ถูกวิจารณ์ว่า มีความแม่นยำน้อยกว่าการตรวจด้วยวิธี PCR ซึ่งย่อมาจาก polymerase chain reaction หรือปฏิกิริยาลูกโซ่พอลิเมอเรส ที่ต้องผ่านกระบวนการวิเคราะห์ผลในห้องแล็บ

 

แต่งานวิจัยชิ้นล่าสุดนี้พบหลักฐานว่า ชุดตรวจ ATK "เป็นอุปกรณ์ทางสาธารณสุขที่มีประโยชน์มาก" ในการหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโควิด

 

ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า 1 ใน 3 ของผู้ติดโควิดสามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้แม้จะไม่แสดงอาการป่วย ดังนั้นการใช้ชุดตรวจนี้จึงช่วยให้ผู้ติดเชื้อได้รู้ตัว แล้วเข้ากระบวนการกักตัวเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อต่อไป

 

ศาสตราจารย์ไอรีน ปีเตอร์เซน หัวหน้าทีมวิจัยของ UCL ระบุว่า ผู้ที่ได้รับผลตรวจจากชุด ATK เป็นบวก "ควรเชื่อผลที่ได้ และกักตัวอยู่บ้าน"

 

แต่รัฐบาลสหราชอาณาจักรมีข้อแนะนำให้ผู้ที่ได้ผลบวกจากชุดตรวจ ATK ต้องรับการตรวจด้วยวิธี PCR อีกรอบ เพื่อยืนยันว่าติดโควิดจริง และหากผลตรวจแบบ PCR ออกมาเป็นลบ ก็สามารถออกจากการกักตัวได้

 

แม้เมื่อเร็ว ๆ นี้จะมีรายงานว่าชุดตรวจ ATK จะให้ "ผลบวกปลอม" (false positive) ในอังกฤษ แต่สำนักงานหลักประกันสุขภาพของสหราชอาณาจักร ระบุว่า กำลังตรวจสอบเรื่องนี้ แต่ยังไม่พบหลักฐานบ่งชี้ถึงปัญหาทางด้านเทคนิคของชุดตรวจชนิดนี้

 

ศ.ปีเตอร์เซน กล่าวว่า "เมื่อ [โควิด] ระบาดอย่างแพร่หลายขึ้น ก็ไม่จำเป็นต้องยืนยันผลตรวจด้วยวิธี PCR เพราะมีแนวโน้มสูงขึ้นที่ผลจะเป็นบวก"

 

ผลตรวจรวดเร็ว

เมื่อนักวิจัยใช้สูตรใหม่ในการคำนวณความแม่นยำของชุดตรวจ ATK ก็พบว่ามันมีประสิทธิภาพกว่า 80% ในการตรวจจับการติดเชื้อโรคโควิดในทุกระดับ และน่าจะมีประสิทธิภาพกว่า 90% ในการตรวจจับผู้ที่มีปริมาณเชื้อไวรัสในร่างกายสูง และสามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้มากที่สุด

 

หลักฐานบ่งชี้ประสิทธิภาพที่นักวิจัยค้นพบครั้งล่าสุด ถือว่าสูงกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้านี้

 

ศาสตราจารย์ ไมเคิล มีนา จากคณะสาธารณสุข มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งร่วมงานวิจัยชิ้นนี้ด้วย ระบุว่า ชุดตรวจ ATK อาจตรวจจับได้แทบทุกคนที่กำลังเป็นภัยร้ายแรงต่อระบบสาธารณสุข ในขณะที่ร่างกายมีปริมาณเชื้อไวรัสในระดับสูงสุด

 

ชุดตรวจที่ให้ผลรวดเร็วชนิดนี้มีการใช้อย่างแพร่หลายในโรงเรียน สถานที่ทำงาน และใช้ตรวจก่อนเข้าร่วมงานชุมนุมขนาดใหญ่ เพื่อคัดกรองผู้ที่ไม่แสดงอาการของโรคโควิด-19

 

เอามาเปรียบเทียบกันไม่ได้

ตอนที่มีการทดลองใช้ชุดตรวจ ATK ครั้งแรกในเมืองลิเวอร์พูลเมื่อปีก่อน ได้เกิดเสียงวิจารณ์เป็นวงกว้าง เนื่องจากชุดตรวจชนิดนี้ได้ถูกนำไปเปรียบเทียบโดยตรงกับการตรวจแบบ PCR ซึ่งมักถูกยกให้เป็นการตรวจมาตรฐานสูงสุด

 

ศ.ปีเตอร์เซน กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า "มันเหมือนการเอาแอปเปิลมาเปรียบเทียบกับส้ม" เพราะ ATK และ PCR มีการทำงานที่แตกต่างกัน

 

ATK จะตรวจจับคนที่สามารถแพร่เชื้อได้มากที่สุด ด้วยการตรวจจับสารจากโปรตีนที่พื้นผิวของเชื้อไวรัสโคโรนา

 

PCR จะตรวจจับสารพันธุกรรมของไวรัสที่อาจอยู่ในร่างกายได้เป็นเวลาหลายสัปดาห์หลังจากที่ผู้ติดเชื้อสามารถแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้

งานวิจัยของ UCL ที่ผ่านการตรวจสอบจากผู้ทรงคุณวุฒิ และตีพิมพ์ในสารสาร Clinical Epidemiology สรุปว่า เสียงวิจารณ์ชุดตรวจ ATK ว่ามีความไวต่ำในการตรวจนั้น เป็น "การลงความเห็นที่ผิด", "การกำหนดนโยบายที่สับสน" และ "ทำลายความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อชุดตรวจ ATK"

 

ทีมนักวิจัยชี้ว่า ผู้ประกอบวิชาชีพในสายสุขภาพ และประชาชนจะต้องเข้าใจถึงการทำงานของชุดตรวจชนิดนี้

 

พญ.โซเฟีย มักกี จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพของสหราชอาณาจักร ระบุว่า "ราว 1 ใน 3 ของผู้ติดเชื้อโรคโควิดจะไม่แสดงอาการใด ๆ"

 

เธอชี้ว่า "การใช้ชุดตรวจ ATK จึงช่วยให้ตรวจพบผู้ที่ติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ ซึ่งมีปริมาณเชื้อไวรัสในร่างกายสูง และมีแนวโน้มมากที่สุดที่จะแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น"

...................

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ข่าวสด เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง