รีเซต

อนุทิน ชงหาจ็อบให้แรงงานต่างด้าวทำในประเทศ ลดนำเข้าหน้าใหม่สกัดโควิด-19

อนุทิน ชงหาจ็อบให้แรงงานต่างด้าวทำในประเทศ ลดนำเข้าหน้าใหม่สกัดโควิด-19
มติชน
19 ตุลาคม 2563 ( 13:36 )
129
อนุทิน ชงหาจ็อบให้แรงงานต่างด้าวทำในประเทศ ลดนำเข้าหน้าใหม่สกัดโควิด-19

วันนี้ (19 ตุลาคม 2563) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  (สธ.) กล่าวถึงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ในพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ว่า เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม ได้ลงพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ได้เห็นข้อมูลส่วนอื่นด้วย

 

“เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัดชี้ให้เราเห็นเต็นท์หนึ่ง ที่มีแรงงานชาวเมียนมาถูกกฎหมายที่อยู่ในประเทศไทย แต่ไม่มีผู้จ้างงาน แรงงานก็เดินทางกลับหลายหมื่นราย แต่ขณะเดียวกัน อีกเต็นท์หนึ่ง มีผู้กำลังทำเรื่องขอนำเข้าแรงงานประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาทำงานในประเทศไทย เรื่องนี้ผมจะให้ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. เข้าไปหารือกับปลัดกระทรวงแรงงาน ว่าจะจัดคิวอย่างไร เพราะแรงงานที่อยู่ในประเทศไทย ไม่มีเชื้อโควิด-19 ก็ควรจะจัดหางานให้ หาวิธีส่งต่อแรงงาน เพื่อลดการนำเข้าแรงงานกลุ่มใหม่ ที่มีความเสี่ยงต่อโรคโควิด-19″ รัฐมนตรีว่าการ สธ. กล่าว

 

นายอนุทิน กล่าวว่า แรงงานเข้ามาแล้วติดสัญญากับบริษัท ก. แต่เมื่อบริษัท ก. ไม่จ้างงาน แต่แรงงานก็ไม่สามารถไปทำงานกับบริษัท ข. ได้ ซึ่งในขณะเดียวกัน บริษัท ข. ก็จะต้องไปนำเข้าแรงงานจากนอกประเทศ ซึ่งเป็นความเสี่ยง เพราะไม่รู้ว่าจะติดเชื้อหรือไม่ เมื่อเข้ามาถึงก็จะต้องกักตัว 14 วันอีก ก็จะเพิ่มค่าใช้จ่ายให้กับบริษัท ข. อีก

 

“แต่ในขณะที่แรงงานที่ไม่มีโรคเลย อยู่ในไทย แต่กำลังเดินทางกลับบ้านเพราะไม่มีงานทำ ดังนั้น ตรงนี้กำลังเดินสวนกันอยู่ ทำยังไงให้เขามาเดินในถนนเดียวกัน ผมเองก็คงนำเรื่องนี้เสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันพรุ่งนี้ หาวิธีประสานงานกับรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน เพื่อจัดสรรแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีงานในไทยให้จับคู่กับความต้องการแรงงานภายในประเทศ ลดการนำเข้า ลดความเสี่ยงโควิด-19” นายอนุทิน กล่าว

 

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้ได้คัดกรองผู้สัมผัสและการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน รวมกว่า 4,900 ราย ผลการตรวจออกเกือบครบแล้ว ในจำนวนนี้พบผู้ติดเชื้อ 5 ราย เป็นชาวเมียนมาซึ่งอยู่ในครอบครัวเดียวกัน

 

“วันนี้ทางผู้ว่าราชการจังหวัด และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) จะประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด เพื่อดูข้อมูลและวางการค้นหาผู้ติดเชื้อเพิ่มเติม จังหวัดมีความเข้มแข็ง และประชาชนไม่ตระหนก ให้ความร่วมมือดี มีระบบติดตามดี ก็จะทำให้เราควบคุมสถานการณ์ได้ดี อาจไม่ต้องสุ่มตรวจเพิ่มมาก และเปลี่ยนไปเฝ้าระวังในโรงพยาบาลให้มากขึ้นแทน” นพ.โอภาส กล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง