รีเซต

ก.อุตฯ ดัน 'ใบกระท่อมแปรรูป' สินค้า มอก. กลุ่มยา-อาหาร-เครื่องดื่ม เสร็จปีนี้

ก.อุตฯ ดัน 'ใบกระท่อมแปรรูป' สินค้า มอก. กลุ่มยา-อาหาร-เครื่องดื่ม เสร็จปีนี้
มติชน
14 มกราคม 2565 ( 03:46 )
121
ก.อุตฯ ดัน 'ใบกระท่อมแปรรูป' สินค้า มอก. กลุ่มยา-อาหาร-เครื่องดื่ม เสร็จปีนี้

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมเดินหน้าผลักดันนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาอุตสาหกรรมสมุนไพรไทย โดยเฉพาะใบกระท่อม หลังปลดล็อกออกจากบัญชียาเสพติดประเภทที่ 5 ทำให้ประชาชนทั่วไปสามารถปลูก ผลิต และจำหน่ายได้อย่างเสรี เนื่องจากสามารถต่อยอดให้เป็นพืชเศรษฐกิจได้ ประกอบกับตลาดการซื้อขายใบกระท่อมมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง จึงได้สั่งการให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เร่งรัดประกาศมาตรฐานสารสกัดจากใบกระท่อม หลังจากที่บอร์ด สมอ. มีมติเห็นชอบให้ทำมาตรฐานดังกล่าวเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยนำไปแปรรูปเป็นวัตถุดิบที่จะนำไปใช้ในกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตยา อาหารและเครื่องดื่มต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการผลิตสารสกัดจากใบกระท่อมให้มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน และสามารถแข่งขันได้ในเชิงพาณิชย์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

นายบรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า สมอ. ขานรับนโยบายรัฐบาล และกระทรวงอุตสาหกรรม โดยมีการจัดทำมาตรฐานสมุนไพรไทยและประกาศใช้แล้วรวมทั้งสิ้น 167 มาตรฐาน ทั้งมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) มาตรฐานอุตสาหกรรมเอส (มอก.S) และมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ตามศักยภาพ ขนาด และความต้องการของภาคอุตสาหกรรม

เช่น มาตรฐานสารสกัดขมิ้นชันผง สารสกัดฟ้าทะลายโจรผง สารสกัดกระชายดำผง สารสกัดกระเจี๊ยบแดงผง สารสกัดบัวบกผง สารสกัดมะขามป้อม สารสกัดงาขี้ม่อน สารสกัดน้ำมันถั่วอินคา สารสกัดบุกผง สารสกัดว่านหางจระเข้ผง และน้ำมันหอมระเหยตะไคร้หอมไทย เป็นต้น เพื่อให้สินค้ามีคุณภาพ ได้มาตรฐาน และสามารถแข่งขันได้ในเชิงพาณิชย์ สำหรับมาตรฐานสารสกัดจากใบกระท่อม สมอ. ได้จัดทำเป็นมาตรฐานวัตถุดิบที่จะนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น ยา อาหาร และเครื่องดื่ม โดยคาดว่ามาตรฐานดังกล่าวจะแล้วเสร็จภายในปี 2565

“ในใบกระท่อมมีสารสำคัญ คือ 7-Hydroxymitragynine และไมทราไจนีน (Mitragynine) ถือเป็นสาร เสพติดจำพวกอัลคาลอยด์ ออกฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง (CNS depressant) ทำให้มีอาการสดชื่นกระปรี้กระเปร่า ไม่รู้สึกหิว กดความรู้สึกเมื่อยล้าขณะทำงาน ทำให้สามารถทำงานได้นานขึ้น สำหรับมาตรฐานสารสกัดใบกระท่อมที่ สมอ. จะจัดทำนี้จะควบคุมปริมาณสารเสพติดดังกล่าว เนื่องจากหากบริโภคในปริมาณมากๆ จะทําให้มีอาการมึนงง และคลื่นไส้อาเจียน บางรายจะมีอาการหวาดระแวงและเห็นภาพหลอน ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนวางแผนจัดทำมาตรฐาน” เลขาธิการ สมอ. กล่าวทิ้งท้าย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง