รีเซต

ประชาธิปไตยสีดอกเลาในญี่ปุ่น เมื่อผู้สูงวัยเป็นคนกำหนดทิศทางประเทศ ปัจจัยพรรค LDP ยืนยงหลายทศวรรษ

ประชาธิปไตยสีดอกเลาในญี่ปุ่น เมื่อผู้สูงวัยเป็นคนกำหนดทิศทางประเทศ ปัจจัยพรรค LDP ยืนยงหลายทศวรรษ
TNN ช่อง16
29 ตุลาคม 2564 ( 12:41 )
180

เหตุผลที่ พรรคเสรีประชาธิปไตย หรือ LDP น่าจะชนะการเลือกตั้งอีกเช่นเคย นั่นเป็นเพราะผู้ออกมาใช้สิทธิ์ส่วนมากเป็นคนรุ่นเก่าที่สนับสนุนพรรค LDP โดยเฉพาะในเขตชนบท


ขณะที่คนรุ่นใหม่ไม่สนใจออกไปใช้สิทธิ์มากนัก แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ มีโควิด-19 เป็นตัวแปรสำคัญ ที่น่าจับตามอง ว่าอาจจะสร้างความเปลี่นแปลงก็เป็นได้


◾◾◾

🔴 65 ปีแห่งชัยชนะของ LDP


65 ปีที่ผ่านมา พรรคเสรีประชาธิปไตย หรือ LDP ชนะการเลือกตั้งมาตลอด ยกเว้นช่วง ๆ สั้นรวม 6 ปี เท่านั้นที่ไม่ได้เป็นรัฐบาล


วันที่ 31 ตุลาคมนี้ ญี่ปุ่นจะมีการเลือกตั้งทั่วไป คาดกันว่าพรรค LDP ภายใต้การนำของนายฟูมิโอะ คิชิดะ น่าจะคว้าชัยชนะเป็นรัฐบาลต่อเนื่องอีกเช่นเคย แม้ว่าขณะนี้ LDP จะไม่ได้รับคะแนนความนิยมมากนักก็ตาม


◾◾◾

🔴 เบื้องหลัง ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ของพรรค LDP คืออะไร?


- ได้รับเสียงสนับสนุนจากคนรุ่นเก่าในชนบท


สำนักข่าว BBC รายงานว่า ในพื้นที่ชนบท ประชาชนจำนวนมากที่สนับสนุนพรรค LDP อย่างเหนียวแน่น ผู้สูงอายุบางคนมองว่า หากเลือกพรรคฝ่ายค้านเข้ามาบริหารประเทศ จะทำให้เกิดความวุ่นวายครั้งใหญ่


- ดูแลและพัฒนาพื้นที่ชนบทได้ดี


ถนนและอุโมงค์ที่ดี เห็นได้ทั่วไปในพื้นที่ชนบทของญี่ปุ่น โครงสร้างพื้นฐานที่ยอดเยี่ยม เศรษฐกิจที่ดีทำให้เกิดการสร้างงาน และการลงคะแนนให้พรรครัฐบาล


- ประชาชนคุ้นเคยกับพรรครัฐบาลมากกว่า


ในญี่ปุ่นมีพรรคฝ่ายค้านถึง 9 พรรค พวกเขาต้องแข่งกันหาเสียงหนักมาก มีรถหาเสียงไปจอดตามหัวมุมถนนต่างๆ


การหาเสียงแบบ door to door หรือเคาะตามประตูบ้าน ไม่ได้รับอนุญาตในญี่ปุ่น ทำให้พรรครัฐบาลได้เปรียบอย่างมาก เพราะประชาชนได้เห็นผู้นำพรรครัฐบาลผ่านโทรทัศน์ทุกค่ำคืน ผู้สื่อข่าว BBC ลองไปสอบถามคนหนุ่มสาวว่ารู้จักหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านหรือไม่ ปรากฏว่ามีบางคนรู้จักหน้าตา แต่จำชื่อของเขาไม่ได้


ขณะที่คนรุ่นใหม่ในเมืองบางคนไม่รู้ว่าจะเลือกใคร และจะไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งหรือไม่


- การแบ่งเขตเลือกตั้งไม่ได้ปรับปรุงให้เข้ากับยุคสมัย


ปัจจุบัน ผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ๆ แต่เขตเลือกตั้งยังไม่ได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัย ให้ล้อไปเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของประชากร ที่ย้ายจากชนบทสู่เมือง นั่นหมายความว่าหากต้องการชนะในเขตเมือง พรรคการเมืองต่าง ๆ ต้องการคะแนนเสียงเลือกตั้งมากกว่าในเขตชนบท


◾◾◾

🔴 คนรุ่นใหม่ไม่แยแสการเลือกตั้ง


พรรคการเมืองหลักแทบทุกพรรคในญี่ปุ่น ไม่ได้มีนโยบายที่แตกต่างกันชัดเจน เพราะชาวญี่ปุ่นมีความอนุรักษ์นิยมสูง ประกอบกับโครงสร้างทางสังคมที่มีผู้สูงอายุจำนวนมาก เศรษฐกิจที่ผ่านพ้นยุคสมัยของความรุ่งเรืองมาแล้ว ทำให้การเลือกตั้งไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ญี่ปุ่นได้มาก ผู้ที่ออกมาใช้สิทธิ์ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัย ส่วนคนหนุ่มสาวแทบจะไม่มีความสนใจเรื่องการเมืองเลย


และแม้ว่าเศรษฐกิจจะซบเซาเป็นเวลานาน ความไม่มั่นคงในตำแหน่งงานที่เพิ่มขึ้น ขณะที่การเพิ่มขึ้นของค่าแรงกลับซบเซา แต่ความไม่แยแสของผู้มีสิทธิเลือกตั้งยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะในหมู่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่อายุน้อย ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรที่ออกมาใช้สิทธิ์น้อยที่สุด


◾◾◾

🔴 ประชาธิปไตยสีดอกเลา


สำนักข่าว Japan Times ระบุว่า สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดปรากฏการณ์ "silver democracy” หรือ ประชาธิปไตยสีดอกเลา นั่นคือ ประชาธิปไตยที่เป็นไปในทิศทางที่ผู้สูงอายุต้องการ ที่ทำให้เห็นนโยบายเกี่ยวกับมาตรการสวัสดิการและระบบบำเหน็จบำนาญอยู่ในลำดับสำคัญกว่านโยบายสำหรับประชากรวัยทำงาน เช่น ความช่วยเหลือทางการเงินสำหรับครอบครัวที่มีเด็ก


ในช่วงการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรครั้งล่าสุด ในปี 2017 มีเพียง 33.85% ของผู้ที่มีอายุ 20 ปีเท่านั้นที่ออกไปใช้สิทธิ์ น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ที่มี 72.04%


ทั้งนี้ ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีประชากรอายุมากที่สุดในโลก ชาวญี่ปุ่นเกือบ 1 ใน 3 หรือ 29.1% ของประชากรในประเทศ มีอายุ 65 ปีขึ้นไป และพวกเขาเป็นตัวแทนของกลุ่มผู้มีสิทธิเลือกตั้งส่วนใหญ่


◾◾◾

🔴 โควิด-19 ตัวแปรสำคัญ ศึกเลือกตั้งญี่ปุ่น


แม้คาดการณ์ว่า พรรค LDP น่าจะคว้าชัยเป็นรัฐบาลต่อเนื่อง แต่ก็ต้องลุ้นว่าจะยังคงได้เสียงเด็ดขาดในรัฐสภาหรือไม่


สภาผู้แทนราษฎรญี่ปุ่นมี 465 ที่นั่ง ครึ่งหนึ่งคือ 233 เสียง ในขณะนี้ พรรค LDP มีเสียงมากถึง 275 เสียง เพียงพรรคเดียวก็มีเสียงเด็ดขาดในสภา และเมื่อรวมเสียงกับพรรคโคเมโตที่จัดตั้งรัฐบาลร่วมกันมาตลอดอีก 29 ที่นั่ง จึงเป็นรัฐบาลที่แข็งแกร่ง


ในช่วงที่โควิดระบาดหนักเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ผลสำรวจพบว่า พรรค LDP อาจได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรลดลงถึง 60 ที่นั่ง หรือบวกลบไม่เกิน 10 ที่นั่ง นั่นหมาย พรรค LDP บวกพรรคโคโมโต ที่จับมือเป็นรัฐบาลมาตลอด ก็ได้ที่นั่งไม่เกินครึ่งในสภา


แต่ขณะนี้ญี่ปุ่นสามารถพลิกสถานการณ์โควิด-19 จากหน้ามือเป็นหลังมือ สถานการณ์เกือบเป็นปกติ มีผู้ติดเชื้อทั่วประเทศไม่ถึง 300 คนต่อวัน ก็น่าจะทำให้พรรคLDP รักษาสถานะรัฐบาลไว้ได้ และนายฟูมิโอะ คิชิดะ น่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นต่อไป


◾◾◾

🔴 ยุทธศาสตร์ที่ชาญฉลาอด


เรียวสุเกะ นิชิดะ รองศาสตราจารย์ของสถาบันเทคโนโลยีแห่งโตเกียว ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองและสื่อ ระบุว่า คิชิดะฉลาดมาก ที่ตัดสินใจใจัดการเลือกตั้งเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ และมีขึ้นในขณะที่รายงานการผู้ติดเชื้อโควิด-19อยู่ในระดับต่ำ


แม้คาดการณ์ว่า พรรค LDP จะชนะการเลือกตั้งอีกตามเคย แต่ความท้าทายของพรรค LDP ในการเลือกตั้งครั้งนี้คือ จะสามารถรักษาที่นั่งได้สภาได้มากเท่าเดิมหรือไม่


การเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรญี่ปุ่น 465 ที่นั่งมีทั้งแบบเขต และแบบสัดส่วน หรือปาร์ตี้ลิสต์ เขต 289 คน และปาร์ตี้ลิสต์ 176 คน มีผู้สมัครรับเลือกตั้งครั้งนี้มี 1,051 คน นับว่าน้อยที่สุดในรอบ 25 ปี นับตั้งแต่ปี 1996 เป็นต้นมา


พรรค LDP ต้องการที่นั่งในรัฐสภาพรรคเดียวเกินกว่าครึ่งหนึ่งเหมือนในตอนนี้ ขณะที่พรรคฝ่ายค้านก็ต้องการที่นั่งเพิ่มขึ้น เพื่อคานอำนาจรัฐบาล


◾◾◾

🔴 แนวร่วมรัฐบาลชนฝ่ายค้าน


ทั้ง 2 ฝ่ายใช้กลยุทธ์ ด้วยการ ส่งตัวแทนร่วมกันในนาม “แนวร่วมพรรครัฐบาล” (พรรค LDP+พรรคโคเมโต) และ“แนวร่วมพรรคฝ่ายค้าน” (พรรคประชาธิปไตยแห่งรัฐธรรมนูญ+พรรคคอมมิวนิสต์ญี่ปุ่น) โดยจะไม่ส่งผู้สมัคร ทับซ้อนในเขตเลือกตั้งเดียวกัน


พรรค LDP หาเสียงว่า ถึงแม้พรรคฝ่ายค้านจะได้คะแนนเสียงเพิ่มก็ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลที่มีเสถียรภาพได้ ขอให้ประชาชนสนับสนุนแนวร่วมพรรครัฐบาลให้สานต่อนโยบายต่อไป


ส่วนแนวร่วมพรรคฝ่ายค้านหาเสียงว่า รัฐบาลล่าช้าในการจัดการโควิด นโยบาย “อาเบะโนมิกส์” ทำให้ช่องว่างระหว่างคนรวย-คนจนมากยิ่งขึ้น เรียกร้องให้ประชาชนสนับสนุนการเปลี่ยนขั้วการเมือง


การเลือกตั้งครั้งนี้ มีขึ้นท่ามกลางการระบาดของโควิด-19  ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตประชาชนและเศรษฐกิจญี่ปุ่นอย่างมาก  ต้องมาติดตามกัน ว่าชาวญี่ปุ่นจะให้บทเรียนกับรัฐบาล หรือจะเลือกเสถียรภาพเดิม วันอาทิตย์นี้จะได้รู้กัน

—————
เรื่อง: สุภาพร เอ็ลเดรจ
ภาพ: Reuters

ข่าวที่เกี่ยวข้อง