สนค.เผย ม.ค.ธุรกิจโลจิสติกส์ในไทยเปิดใหม่ 39.6% อานิสงส์อาร์เซปแห่ลงทุน "จัดการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า"
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (ผอ.สนค.)กลเปิดเผยว่า เดือนมกราคม 2565 มีธุรกิจโลจิสติกส์ที่จดทะเบียนเปิดกิจการใหม่ 444 ราย เติบโต 39.6 %เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยกลุ่มธุรกิจที่มีจำนวนการเปิดกิจการ มากที่สุด 3 อันดับแรก คือ 1. การขนส่งและขนถ่ายสินค้า จำนวน 244 ราย 2. การขนส่งสินค้าทางถนน 68 ราย และ 3.กิจกรรมตัวแทน รับจัดส่งสินค้า 33 ราย โดยมีการเติบโต 26.4% 83.8% และ 32.0 % ตามลำดับ
ธุรกิจที่มีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การบริหารจัดการด้านการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า เพื่อสนับสนุนการผลิตและกระจายสินค้าและวัตถุดิบ (TSIC 52291) ที่ในปี 2563 มีรายได้รวม 87,240.63 ล้านบาท เติบโต 22.4% จากเดิมเติบโต 2.8% ในปีก่อนหน้า และในปี 2564 มีนิติบุคคลธุรกิจการบริหารจัดการด้านการขนส่งฯ จดทะเบียนจัดตั้งใหม่ 207 ราย เพิ่มขึ้น 53.3 %รวมการลงทุนเป็นมูลค่า 908.17 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 284% เมื่อเทียบกับปีก่อน ทั้งนี้ เป็นกลุ่มทุนขนาดใหญ่ (ทุนจดทะเบียนสูงตั้งแต่ 10-500 ล้านบาท) 7 ราย ซึ่งมีการลงทุนรวม 71% ของทุนจดทะเบียนทั้งหมด
สำหรับธุรกิจการบริหารจัดการด้านการขนส่งฯ ที่ดำเนินกิจการอยู่ 1,276 ราย ส่วนใหญ่มีการจดทะเบียนกระจุกตัวในพื้นที่กรุงเทพมหานคร คิดเป็นสัดส่วน 46% และปริมณฑล 20% ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดสมุทรปราการ และพื้นที่เขต EEC 11% ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดชลบุรี โดยพบว่าในเขตจังหวัดชายแดน ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อการค้าภูมิภาค ยังมีจำนวนการจดทะเบียนธุรกิจคลังสินค้าค่อนข้างน้อย เช่น เชียงราย (6 ราย) หนองคาย (7 ราย) บึงกาฬ (3 ราย) มุกดาหาร (4 ราย) และนครพนม (3 ราย) เป็นต้น ธุรกิจคลังสินค้าจึงเป็นโอกาสของนักธุรกิจหน้าใหม่ ยังมีพื้นที่ให้เข้ามาทำตลาดอีกมาก โดยผู้ประกอบการต้องคำนึงถึงสถานที่ประกอบการเป็นหลัก เพื่อลดต้นทุนค่าขนส่งของ รวมถึงการพัฒนารูปแบบคลังสินค้าให้ทันสมัย นำเทคโนโลยีมาใช้ให้สอดคล้องกับความต้องการในอนาคตเพิ่มมากขึ้น
ในส่วนของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศ ในเดือนมกราคม ปี 2565 ไทยมีมูลค่าการค้ารวม 1.51 ล้านล้านบาท เติบโต 27.7% แบ่งเป็นการขนส่งทางเรือ สัดส่วน 66.5% ของมูลค่าการค้ารวม เติบโต 30.4% สินค้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมันและก๊าซปิโตรเลียม ส่วนประกอบยานยนต์ และยานยนต์ เป็นต้น รองลงมา คือการขนส่งทางอากาศ สัดส่วน 23.0% เติบโต 28.8% สินค้าสำคัญ ได้แก่ แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ โทรศัพท์ และส่วนประกอบเครื่องจักร เป็นต้น การขนส่งทางถนน สัดส่วนร้อยละ 10.4 %(เติบโต 10.8%) สินค้าสำคัญ ได้แก่ หน่วยความจำคอมพิวเตอร์ เพชร และแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น และการขนส่งทางราง สัดส่วน 0.1% เติบโต 9.4% สินค้าสำคัญ ได้แก่ ยางสังเคราะห์ ยางธรรมชาติ และไม้อัด เป็นต้น
ทั้งนี้ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP ซึ่งมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2565 นั้น เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่จะช่วยผลักดันและหนุนการส่งออกไทยให้ขยายตัวมากขึ้น โดยผู้ประกอบการด้านพิธีการทางศุลกากรและผู้ส่งออก ควรเร่งศึกษาสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ อาทิ 1.การลดอากรขาเข้าเพิ่มเติมจากความตกลง FTA อื่น ๆ ที่มีอยู่แล้ว เช่น จีน ลดอากรยานยนต์ ภายใต้พิกัดศุลกากร 8703 สำหรับรถยนต์ขนาดใหญ่ รถพยาบาล รถบรรทุกมินิบัส ซึ่งเป็น 1 ใน 10 สินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปจีน เหลือ 15% ขณะที่ FTA อาเซียน-จีน มีอัตราอากร 25% ญี่ปุ่น ลดอากรเนื้อสัตว์ และส่วนอื่นของสัตว์ เช่น ตับสัตว์ ภายใต้พิกัดศุลกากร 1602 (พิกัดศุลกากร 1602 เป็นสินค้าสำคัญอันดับแรกที่ไทยส่งออกไปญี่ปุ่น) ระหว่างปี 2565-2567 เหลือ 5.625% 5.25% และ 4.875% ตามลำดับ ขณะที่ FTA อาเซียน-ญี่ปุ่น มีอัตราอากร6% ส่วน2. การปรับลดระยะเวลาตรวจปล่อยสินค้าเร่งด่วนและสินค้าเน่าเสียง่าย ให้แล้วเสร็จภายใน 6 ชั่วโมง และสินค้าทั่วไปภายใน 48 ชั่วโมง และ3. กฎถิ่นกำเนิดเฉพาะรายสินค้า (PSRs) ที่เปิดโอกาสให้ใช้วัตถุดิบนอกภูมิภาคมากขึ้น และกฎการสะสมถิ่นกำเนิดสินค้าที่ครอบคลุม 15 ประเทศ ช่วยส่งเสริมการเป็นห่วงโซ่การผลิตร่วมในภูมิภาค RCEP
นอกจากนี้ ตามข้อตกลง RCEP ประเทศสมาชิก RCEP มีการเปิดตลาดให้ไทยเพิ่มเติมในธุรกิจบริการด้านการขนส่ง ดังนี้ 1. จีน: บริการตรวจสอบสินค้าที่ขนส่ง 2. เกาหลี: บริการซ่อมและบำรุงรักษาอากาศยาน และบริการซ่อมและบำรุงรักษาราง บริการที่เกี่ยวเนื่องกับการขนส่งทางราง 3. ญี่ปุ่น: การให้บริการอุตสาหกรรมทางอวกาศยาน 4. ออสเตรเลีย: บริการบรรจุภัณฑ์ และบริการไปรษณีย์ และ 5.นิวซีแลนด์: บริการเสริมของการขนส่งทางอากาศ อาทิ บริการซ่อมบำรุงรักษาอากาศยาน บริการคลังสินค้า บริการตัวแทนจัดเก็บสินค้า บริการลานจอด ในอากาศยาน และบริการสนับสนุนอื่นๆ เพื่อการขนส่งทางอากาศ ขณะที่ไทยเปิดตลาดให้สมาชิก RCEP เข้ามาลงทุนในธุรกิจบริการขนส่งเพิ่มเติม อาทิ บริการซ่อมบำรุงและซ่อมแซมอากาศยาน โดยอนุญาตให้ผู้ให้บริการของประเทศสมาชิก RCEP ถือหุ้นได้ 51% บริการบำรุงรักษาและซ่อมแซมอุปกรณ์การขนส่งทางราง และบริการเก็บสินค้าและคลังสินค้าสำหรับสินค้าแช่เย็นและแช่แข็ง อนุญาตให้ถือหุ้นได้ 70% เป็นต้น
ทั้งนี้ การเข้ามาลงทุนของต่างชาติ จะช่วยให้ไทยได้ประโยชน์จากการเป็นห่วงโซ่คุณค่าโลก ประกอบกับการขยายตัวของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ที่จะช่วยขยายการค้าการลงทุนในธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับโลจิสติกส์ตามไปด้วย ในปี 2565 ธุรกิจบริการโลจิสติกส์จะมีส่วนที่น่าจับตามอง โดยเฉพาะการขยายการค้ากับกลุ่มประเทศสมาชิก RCEP และการขยายตัวของธุรกิจโลจิสติกส์เพื่อเตรียมพร้อมรองรับรถไฟจีน-ลาว สำหรับภาครัฐจะต้องร่วมมือกันเร่งสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน และส่งเสริมกลยุทธ์การใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อลดต้นทุนโลจิสติกส์ เพื่อเป็นเครื่องมือสำหรับการวางแผนการขนส่งทั้งในและระหว่างประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า มีการติดตามสถานการณ์โลจิสติกส์อย่างใกล้ชิด เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยแก้ไขปัญหาด้านธุรกิจบริการโลจิสติกส์ และเสนอแนะแนวทางในการพัฒนาอย่างต่อเนื่องต่อไป