รีเซต

เรือยอร์ช 60 ลำ จ่อเข้าไทย ศบค.ไฟเขียวรับ 600-650 คน

เรือยอร์ช 60 ลำ จ่อเข้าไทย ศบค.ไฟเขียวรับ 600-650 คน
มติชน
21 ตุลาคม 2563 ( 17:51 )
416
เรือยอร์ช 60 ลำ จ่อเข้าไทย ศบค.ไฟเขียวรับ 600-650 คน

วันนี้( 21 ตุลาคม 2563) ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงว่า ที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. เป็นประธาน จะประชุมเดือนละครั้ง แต่จะมีกรรมการชุดเฉพาะกิจพิจารณาประเด็นย่อยและนำมารายงานให้ที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ทราบ โดยที่ประชุมวันนี้มี 7 มาตรการด้านกฎหมาย ทั้งที่ดำเนินการไปแล้ว และกำลังจะพิจารณาต่อไป

1.การเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรของคณะมนตรีแห่งรัฐ และคณะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสาธารณรัฐประชาชนจีน และคณะ ซึ่งได้เดินทางเข้ามาแล้วและปฏิบัติตามกระบวนการป้องกันโรค

2.การอนุญาตให้ลูกเรือสัญชาติบริติซและสัญชาติเช็ก เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรทางน้ำ เป็นกิจกรรมเฉพาะรายที่ได้ดำเนินการไปแล้ว

3.การกำหนดประเทศและเมืองต้นทางที่ได้รับการผ่อนผันให้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร โดยการขอรับตรวจลงตราประเภทนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ (Special Tourist Visa: STV) ซึ่งเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม ไทยได้รับนักท่องเที่ยวชุดแรกมาจากประเทศจีน จำนวน 39 คน และจะต้องเข้าสถานกักกันเป็นเวลา 14 วัน โดยกลุ่มนักท่องเที่ยวมีแผนจะเข้ามาพักในไทยประมาณ 1 เดือน และมีอีกหลายประเทศที่ต้องการเข้ามาในไทย

4.การอนุญาตให้สายการบินทำการบินแบบมีผู้โดยสารเปลี่ยนลำ (Transfer Passenger) โดยได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการเฉพาะกิจไปแล้ว

5.การอนุญาตให้เรือยอร์ชเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งเป็นใหญ่ขนาดใหญ่ เช่น เรือซุปเปอร์ยอร์ช เป็นเรือสำราญขนาดใหญ่ ความยาว 30 เมตรขึ้นไป มีผู้โดยสารไม่เกิน 12 คน และ เรือครุยเซอร์ ที่เป็นเรือสำราญขนาดเล็ก

“โดยปัจจุบันแจ้งความประสงค์เข้ามาเพื่อทำการท่องเที่ยวในราชอาณาจักรไทย จำนวน 60 ลำ เป็นเรือซุปเปอร์ยอร์ช 27 ลำ และ เรือครุยเซอร์ 33 ลำ ซึ่งรวมผู้โดยสารประมาณ 600-650 คน จะสร้างรายได้ให้กับประเทศประมาณปีละ 2,100 ล้านบาท ในส่วนนี้ได้รับความเห็นชอบไปแล้ว โดยลูกเรือจะต้องทำการกักตัวบนเรือเป็นเวลา 14 วัน และจะต้องตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR จำนวน 3 ครั้ง หลังจากนั้นจะได้รับหนังสือรับรองจากกรมเจ้าท่า เพื่อนำเรือขึ้นเทียบท่าในราชอาณาจักรได้” โฆษก ศบค. กล่าว

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า 6.การอนุญาตให้เรือ ลูกเรือต่างชาติเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขึ้นเรือออกจากราชอาณาจักร (Sign Out) จากการอนุญาตให้มีการลดคนประจำเรือ (Sign off) สายการเดินเรือจึงมีความจำเป็นต้องขออนุญาตให้ผู้ควบคุมยานพาหนะและเจ้าหน้าที่ประจำยานพาหนะทางน้ำ ที่ไม่มีสัญชาติไทยเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อลงมาปฎิบัติหน้าที่บนเรือ โดยยอมรับให้มีการกักตัวตามมาตรการที่สาธารณสุขกำหนด 14 วันก่อนลงเรือ

7.การผ่อนผันให้กลุ่มบุคคลเข้ามาในประเทศไทยโดยเข้าสู่การกักตัวแบบเพื่อสุขภาพ (Wellness Quarantine) โดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รายงานว่าขณะนี้มี 3 รูปแบบ คือ 1.กลุ่มเมดิคัลสปา (Medical Spa/Wellness Resort/Spa and Resort) เพื่อการพักผ่อน รักษาสุขภาพด้วยการนวดสปา โปรแกรม 7-10 วัน จำนวน 40 แห่ง 2.กลุ่มลองเทอมแคร์ (Long Term Care) สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุ เพื่อการพักผ่อน ดูแลสุขภาพระยะยาว โปรแกรม 30 วัน จำนวน 20 แห่ง 3.กลุ่มกีฬา(Sport) ด้วยโปรแกรม 14 วัน จำนวน 120 แห่ง โดยที่ประชุม ศบค. อนุมัติในกลุ่มที่ 1 และ 2 แต่ละในกลุ่มที่ 3 จะต้องลงรายละเอียดเพิ่มเติมและพิจารณาในครั้งต่อไป

“ทั้งนี้ ยังมีแนวคิดกระจายรายได้ ในระหว่างที่กักตัวในโรงแรม ด้วยการนำเอาสินค้าโอทอป (OTOP) ช้อปปิ้งสินค้าออนไลน์ เพื่อให้ในจังหวัดที่อนุญาตให้คนกลุ่มนี้เข้าไปได้รับประโยชน์ ไม่ใช่ได้รับแค่เจ้าของโรงแรม ต้องมีวิธีการคิดไปถึงตรงนั้น เพราะคนกลุ่มนี้มีศักยภาพในการจับจ่ายใช้สอย เพื่อเป็นรายได้สู่ชุมชน” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง