จังหวัดพัทลุงนอกจากเป็นถิ่นกำเนิดของหนังตะลุงอันเป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านที่ขึ้นชื่อที่สุดของภาคใต้แล้ว หลายคนจะนึกถึงแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ มีการล่องเรือชมนกและทะเลบัวแดงที่ทะเลน้อย ซึ่งมีพื้นที่กว้างหลายร้อยไร่เป็นต้น แต่นอกจากแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติแล้ว ที่นี่ยังมีแหล่งเรียนรู้ที่นักท่องเที่ยวนิยมมาเรียนรู้เกี่ยวกับวิถีชีวิตของชุมชนในอดีตอีกที่หนึ่งนั่นก็คือ นาโปแก วันนี้ผู้เขียนจะนำท่านผู้อ่านไปชมแหล่งเรียนรู้เชิงเกษตรแห่งนี้ นาโปแกตั้งอยู่บ้านเลขที่ 456 หมู่ที่ 6 ตำบลมะกอกเหนือ อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง สถานที่แห่งนี้ตั้งอยู่ริมถนนสายควนขนุน - ทะเลน้อย ห่างจากตัวอำเภอควนขนุนราว 5 กิโลเมตร และอยู่ใกล้กับวัดบ้านสวน (วัดสาขาแห่งหนึ่งของวัดเขาอ้อเพราะอดีตเจ้าอาวาสล้วนเป็นศิษย์สำนักวัดเขาอ้อทั้งสิ้นมีพระครูพิพัฒน์สิริธร คง สิริมโต เป็นต้น) ก่อนถึงตลาดปากคลอง ตำบลมะกอกเหนือ ป้ายด้านหน้าแหล่งเรียนรู้นาโปแก คำว่านาโปแก เป็นภาษาถิ่นของภาคใต้ นา หมายถึง นาข้าว ส่วนคำว่า โป ภาษาใต้หมายถึง พ่อของพ่อ (ปู่) เมื่อเติมแกที่แปลว่าท่านเข้าไป ก็จะแปลได้ว่าผืนนาของคุณปู่ท่านหรือนาของบรรพบุรุษนั่นเอง สิ่งหนึ่งที่เป็นจุดเด่นและทำให้นาโปแกเป็นแหล่งเรียนรู้เชิงเกษตร ก็คือแปลงนาสาธิต ซึ่งมีอยู่หลายแปลงด้วยกัน เป็นที่ทราบกันดีว่าข้าวพันธุ์พื้นเมืองของจังหวัดพัทลุงมีหลายชนิด แต่ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือข้าวสังข์หยด สมัยผู้เขียนเป็นนักศึกษาเคยมีอาจารย์ผู้บรรยายอธิบายว่า เพราะข้าวชนิดนี้รับประทานแล้วมีรสชาติอร่อย ทำให้เด็ก ๆ รับประทานข้าวได้เยอะ แม้อิ่มแล้วก็ยังอยากทานเพิ่ม ผู้ใหญ่จึงต้องสั่งให้หยุดทาน คำว่าสั่งหยุดจึงเพี้ยนมาป็นชื่อของข้าวสังข์หยดจนถึงปัจจุบัน แปลงนาสาธิตแหล่งเรียนรู้ โปนาแก มีทั้งแปลงที่เตรียมปักดำ แปลงข้าวเพิ่งปลูก และแปลงนาข้าวที่สุกแล้ว รูปกังหันวิดน้ำเข้านาเป็นเครื่องมือที่แสดงถึงภูมิปัญญาของชาวนาในสมัยก่อน รูปข้องขนาดใหญ่เป็นเครื่องมือใช้ใส่ปลาขณะที่ออกหาปลา ขนำปลายนาที่เป็นโฮมสเตย์ไปในตัวไว้คอยบริการนักท่องเที่ยว นาโปแกแห่งนี้ยังเป็นแหล่งเรียนรู้วิธีการทำนาแบบดั้งเดิมของคนพัทลุง นักท่องเที่ยวที่ไปเรียนรู้จะได้ทดลองการทำนา เริ่มตั้งแต่ไถนา หว่านข้าว ถอนข้าวขึ้นมาดำนา เก็บเกี่ยวข้าวด้วยแกะ (เครื่องมือเก็บเกี่ยวข้าวของภาคใต้) ไว้เป็นเลียง (กำขนาดใหญ่) นำข้าวมาตากแดดแล้วนำมานวด นวดเสร็จก็นำมาสีข้าวด้วยโรงสีมือ จนได้ข้าวสารมาหุง สมัยก่อนจะหุงข้าวแบบเช็ดน้ำ คือเมื่อข้าวสุกต้องรินน้ำข้าวออกมาทิ้ง (เรียกว่าน้ำหม้อสมัยก่อนนิยมนำมาผสมกับน้ำตาลกรวดให้ทารกรับประทานแทนนม) นอกจากทำนาปลูกข้าวแล้วยังมีการสาธิตเครื่องมือที่ใช้จับปลา การขุดบ่อเลี้ยงปลา การเลี้ยงวัวเลี้ยงควาย (มีวัวและควายจริง ๆ ที่เลี้ยงจนเชื่องให้นักท่องเที่ยวได้ชมสามารถป้อนหญ้าได้) นอกจากนี้ยังมีร้านขายกาแฟ ร้านขายอาหารและสินค้าพื้นเมือง นักท่องเที่ยวสามารถเดินเที่ยวชมไปบนสะพานไม้ที่ปูเป็นทางเดินเชื่อมต่อกัน ท่ามกลางบรรยากาศของนาข้าวที่โอบล้อมอยู่รอบตัว เดินไปพลางถ่ายรูปไปพลางลมเย็น ๆ แห่งท้องทุ่งพัดโชยมาเป็นระยะมีกระท่อมไม้ (ภาคใต้เรียกว่า ขนำปลายนาหรือหนำนา) ปลูกอยู่เรียงราย จัดว่าเป็นจุดชมวิวอันเป็นเอกลักษณ์ของที่นี่ ขนำปลายนาเหล่านี้คือโฮมสเตย์ ที่เปิดไว้คอยบริการนักท่องเที่ยวในราคาที่เป็นกันเองอีกด้วย ทางเดินชมแปลงนาสาธิตที่แหล่งเรียนรู้โปนาแก แหล่งเรียนรู้นาโปแกเป็นแหล่งเรียนรู้การทำเกษตรในสมัยอดีตของชุมชน เป็นสถานที่ ๆ ทำให้เราได้ศึกษาร่องรอยวิถีการใช้ชีวิตและการประกอบอาชีพของคนภาคใต้ในอดีตได้ชัดเจน ประโยชน์ที่เราได้รับหลังจากการมาเรียนรู้ที่นี่แล้ว อย่างน้อย ๆ ก็ทำให้เราได้รับรู้เรื่องราวในอดีตของบรรพบุรุษรุ่นคุณปู่ ว่าสมัยก่อนท่านเหล่านั้นใช้ชีวิตมีความเป็นอยู่อย่างไร นักท่องเที่ยวที่เดินทางผ่านจังหวัดพัทลุงสามารถแวะมาเรียนรู้วิถีชีวิตของคนในชุมชนสมัยอดีตได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าบัตรเข้าชมแต่อย่างใด โดยเปิดวันทำการ วันจันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 17.30 นาฬิกา และวันเหยุดเสาร์ - อาทิตย์เวลา 08.00 - 18.30 นาฬิกา แล้วท่านจะประทับใจในแหล่งเรียนรู้แห่งนี้อย่างไม่มีวันลืม ภาพประกอบทั้งหมดโดยผู้เขียน