ศอ.บต. เตรียมเลิกจ้าง พนักงานเหมาบริการ 195 อัตรา เผยส่วนไหนบ้าง
ศอ.บต. เตรียมเลิกจ้าง "พนักงานเหมาบริการ" จำนวน 195 อัตรา หลังรัฐบาลตัดงบ เผย ส่วนไหนบ้าง ด้าน แหล่งข่าว ยืนยันไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องความล้มเหลว
วันที่ 6 ก.ย.2564 รายงานข่าวแจ้งว่า ศอ.บต. เตรียมเลิกจ้างพนักงานเหมาบริการ จำนวน 195 อัตรา หรือ อาจน้อยกว่านั้นเล็กน้อย โดยสาเหตุเนื่องจากได้รับการจัดสรรงบประมาณปี 65 ลดลงจากปี 64 ราว 5.7 ล้านบาท เมื่อปลายเดือน ส.ค.2564 หลังร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ผ่านสภาผู้แทนราษฎร หน่วยงานรัฐก็เริ่มมองเห็นเค้าลางแล้วว่างบจะถูกตัดลดเท่าไหร่
นายอำนาจ ชูทอง ผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการ ศอ.บต. จึงได้ออกหนังสือแจ้งเวียน เลขที่ นร.5201.1/ว 3368 เรื่อง หลักการแนวทางการจ้างพนักงานจ้างเหมาบริการในปีงบประมาณ 2565 ส่งถึง ผู้อำนวยการสำนักงาน, กอง, สถาบัน และหน่วยงานขึ้นตรง ศอ.บต.ทั้งหมด หลังจากที่ เลขาธิการ ศอ.บต. เห็นชอบมติที่ประชุมกำหนดแนวทางการจ้างงานพนักงานจ้างเหมาบริการ ประจำปีงบประมาณ 2565 แน่นอนว่าแนวทางของปี 65 ต้องจ้างน้อยกว่าปี 64 เพราะได้รับการจัดสรรงบประมาณน้อยกว่า
แนวทางใหม่ที่กำหนดสำหรับการจ้างงานมีดังนี้
1.สำนักงานเลขาธิการ
-โครงการจ้างเหมาเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย เดิมปี 2564 จ้าง 105 อัตรา ปี 2565 จ้าง 105 อัตรา แต่เนื่องจากปัจจุบันจ้าง 100 อัตรา มีอัตราว่าง 5 อัตรา ให้นำอัตราว่างมาจ้างพนักงานจ้างเหมาบริการโครงการบริหารจัดการภาครัฐและการขับเคลื่อนนโยบาย 5 อัตรา จากเดิมทั้งหมดมี 13 อัตรา แต่ในปี 2565 ไม่ได้รับการจัดสรรงบ ส่วน 8 อัตราที่เหลือจ้างต่อ โดยใช้งบประมาณจากงบดำเนินงาน
2.กองบริหารยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้ (เลิกจ้าง 43 อัตรา)
-โครงการบริหารจัดการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี 2564 จ้าง 22 อัตรา ทางกองฯ จะจ้างต่อเพียง 12 อัตรา แต่ที่ประชุมมีมติให้จ้างต่อทั้ง 22 อัตรา โดยให้บริหารจัดการตามงบประมาณที่ได้รับ
-โครงการสานสัมพันธ์สร้างความเข้าใจภายในและต่างประเทศ เดิมปี 2564 จ้าง 4 อัตรา ในปี 2565 ให้จ้าง 3 อัตรา
-โครงการสนับสนุนภาคประชาสังคมร่วมสร้างพื้นที่สันติสุขขนาดเล็ก เดิมปี 2564 จ้าง 51 อัตรา ในปี 2565 ให้จ้าง 14 อัตรา คือ กบย.(ภาคประชาสังคม) 9 อัตรา และศูนย์การเรียนรู้เกษตรฮาลาล 5 อัตรา ส่วนพนักงานที่ปฏิบัติงานประจำอำเภอ จำนวน 37 อัตรา ให้เลิกจ้างทั้งหมด
-โครงการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความเข้าใจและสร้างทัศนคติที่ดีในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาสคใต้ เดิมปี 2564 จ้าง 26 อัตรา ในปี 2565 ให้จ้าง 21 อัตรา
3.กองส่งเสริมและสนับสนุนงานพัฒนาฝ่ายพลเรือน
เนื่องจากโครงการขับเคลื่อนแนวทางวิถีชีวิตชุมชนสู่การพัฒนาเศรษฐกิจ ในปี 2565 ไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ จึงมีการบริหารอัตรากำลังการจ้างภายในดังนี้
-โครงการพัฒนาธุรกิจฮาลาล เดิมปี 2564 จ้าง 14 อัตรา ในปี 2565 ให้ปรับเพิ่มนำพนักงานจากโครงการขับเคลื่อนแนวทางวิถีชีวิตชุมชนสู่การพัฒนาเศรษฐกิจ เพิ่มเข้ามา 3 อัตรา รวมเป็น 17 อัตรา
-โครงการส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขในสังคมพหุวัฒนธรรม เดิมปี 2564 จ้าง 2 อัตรา ในปี 2565 ให้ปรับเพิ่มนำพนักงานจากโครงการขับเคลื่อนแนวทางวิถีชีวิตชุมชนสู่การพัฒนาเศรษฐกิจ เพิ่มเข้ามา 3 อัตรา เป็น 5 อัตรา
-โครงการสนับสนุนและเสริมสร้างโอกาสทางสังคม เดิมปี 2564 จ้าง 3 อัตรา ในปี 2565 ให้จ้าง 3 อัตราเช่นเดิม
4.กองส่งเสริมและสนับสนุนงานพัฒนาเพื่อความมั่นคง (เลิกจ้าง 46 อัตรา)
-โครงการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ เดิมปี 2564 จ้าง 75 อัตรา ในปี 2565 จ้าง 73 อัตรา
-โครงการเตรียมความพร้อมเพื่อเปลี่ยนผ่านกระบวนการยุติธรรมในจังหวัดชายแดนใต้ เดิมปี 2564 จ้าง 93 อัตรา ในปี 2565 ให้จ้าง 49 อัตรา
5.กองประสานและเร่งรัดการพัฒนาพื้นที่พิเศษ จชต. (เลิกจ้าง 76 อัตรา)
-โครงการสนับสนุนบัณฑิตอาสาพัฒนามาตุภูมิ เดิมปี 2564 จ้าง 2,249 อัตรา ในปี 2565 ให้จ้าง 2,173 อัตรา
6.กองประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและกิจการพิเศษ
-โครงการขยายผลการพัฒนาตามแนวทางพระราชดำริฯ และโครงการเสริมการพัฒนาการศึกษาโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ให้จ้างในอัตราเดิม
-โครงการสนับสนุนการดำเนินงานโครงการสานใจไทยสู่ใจใต้ เดิมปี 2564 จ้าง 2 อัตรา ในปี 2565 จ้างเพิ่มเป็น 4 อัตรา โดยนำอัตราจากโครงการส่งเสริมคนดีมีคุณธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไปประกอบพิธีฮัจญ์มาเพิ่ม 2 อัตรา เนื่องจากไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ เมื่อเทียบการจัดสรรงบประมาณที่ได้รับระหว่างปี 2564 กับปี 2565
7.สำนักงานเลขาธิการ
-โครงการจ้างเหมาเจ้าหน้าที่ รปภ. ปี 2564 จำนวน 11 ล้านบาท ปี 2565 ได้มาเพิ่ม 6 แสนบาท
-โครงการบริหารจัดการภาครัฐและการขับเคลื่อนนโยบาย ปี 2564 จำนวน 1.5 ล้านบาท ปี 2565 ไม่ได้รับจัดสรร
8.กองบริหารยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้
-โครงการบริหารจัดการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี 2564 ได้รับการจัดสรร 22 ล้านบาท ปี 2565 ได้รับจัดสรรลดลงเหลือ 12 ล้านบาท
-โครงการสานสัมพันธ์สร้างความเข้าใจภายในและต่างประเทศ ปี 2564 ได้รับจัดสรรงบจำนวน 3 ล้านบาท ปี 2565 ได้ลดลง 9 แสนบาท
-โครงการสนับสนุนภาคประชาสังคมร่วมสร้างพื้นที่สันติสุขขนาดเล็ก ปี 2564 ได้ 11 ล้านบาท ปี 2565 ได้ 5 ล้านบาท
-โครงการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความเข้าใจและสร้างทัศนคติที่ดีในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี 2564 ได้ 22 ล้านบาท ในปี 2565 ได้ 10 ล้านบาท
9.กองส่งเสริมและสนับสนุนงานพัฒนาฝ่ายพลเรือน
-โครงการพัฒนาธุรกิจฮาลาล ปี 2564 ได้ 8 ล้านบาท ปี 2565 ได้ 7 ล้านบาท
-โครงการส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขในสังคมพหุวัฒนธรรม ปี 2564 ได้รับการจัดสรร 15 ล้านบาท ปี 2565 ได้ 12 ล้านบาท
-โครงการขับเคลื่อนแนวทางวิถีชีวิตชุมชนสู่การพัฒนาเศรษฐกิจ ปี 2564 ได้จัดสรรงบประมาณ 15 ล้านบาท ปี 2565 ไม่ได้รับการจัดสรร
-โครงการสนับสนุนและเสริมสร้างโอกาสทางสังคม ปี 2564 ได้รับการจัดสรรงบ 13 ล้านบาท ปี 2565 ได้ 4 ล้านบาท
10.กองส่งเสริมและสนับสนุนงานพัฒนาเพื่อความมั่นคง
- ค่าใช้จ่ายในการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่จ้างเหมาบริการบุคลากรประจำศูนย์เยียวยา ในปี 2564 ได้งบประมาณ 200 ล้านบาท ปี 2565 เหลือเพียง 75 ล้านบาท
- โครงการเตรียมความพร้อมเพื่อการเปลี่ยนผ่านกระบวนการยุติธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี 2564 ได้งบประมาณ 29 ล้านบาท ปี 2565 ได้ 19 ล้านบาท
11.กองประสานและเร่งรัดการพัฒนาพื้นที่พิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้
-ค่าใช้จ่ายโครงการสนับสนุนบัณฑิตอาสาพัฒนามาตุภูมิในปี 2564 ได้ 2,249 อัตรา ในปีงบประมาณ 2565 ได้ 2,143 อัตรา ( 2,143 ×7,500 × 33 เดือน)
12.กองประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและกิจการพิเศษ
- โครงการขยายผลการพัฒนาตามแนวทางพระราชดำริและตามรอยเบื้องพระยุคลบาท ปี 2564 ได้รับงบประมาณ 16 ล้านบาท ปี 2565 ได้รับการจัดสรร 10 ล้านบาท
- โครงการเสริมการพัฒนาการศึกษาโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ปี 2564 ได้รับ 13 ล้านบาท ปี 2565 ได้รับจัดสรร 7 ล้านบาท
-โครงการสนับสนุนการดำเนินงานโครงการสานใจไทยสู่ใจใต้ ปี 2564 ได้ 7 ล้านบาท ปี 2565 ได้ 8 ล้านบาท
-โครงการส่งเสริมคนดีมีคุณธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปประกอบพิธีฮัจญ์ ในปี 2564 ได้งบประมาณ 59 ล้านบาท ปี 2565 ไม่ได้รับการจัดสรร
แหล่งข่าวระดับสูงใน ศอ.บต. เปิดเผยว่า ต้องยอมรับว่าการจ้างงานของ ศอ.บต.เป็นการจ้างงานชั่วคราว ผ่านไปสักระยะหนึ่งก็อาจต้องหมุนไปทำงานในเชิงที่เป็นโครงสร้างถาวร เพื่อเปิดตำแหน่งให้คนว่างงานอื่นเข้ามา เหมือนกับ "บัณฑิตอาสา" เราจะเปลี่ยนก็เปลี่ยนไม่ได้ พอจะเลิกจ้าง ก็ไปฟ้องสภา ฟ้องหน่วยงานต่าง ๆ แต่ในมุมของ ศอ.บต. เราต้องส่งภารกิจไปยังกระทรวงต่าง ๆ (หน่วยงานปกติที่รับผิดชอบภารกิจนั้น ๆ ขณะที่ ศอ.บต.เป็นหน่วยงานพิเศษ)
แหล่งข่าวระบุต่อว่า คือมันไม่ได้มีประเด็นอะไร เราส่งงานไป เพราะเราโดนเอาไปทั้งก้อน เพราะฉะนั้นเราจะเอาเงินตรงไหนไปจ้าง เนื่องจากงานเราส่งภารกิจคืนไปแล้ว เช่น งานเศรษฐกิจ เราต้องตัดออก งานบริหารภายในเป็นเรื่องของ ผอ.กอง ที่จะต้องไปบริหารจัดการ เรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวกับความล้มเหลวของการบริหารเลย เพราะสถานการณ์ดีขึ้น โครงการพิเศษต่างๆ ก็ต้องส่งคืนกระทรวงปกติ
แหล่งข่าวระบุอีกว่า จริง ๆ แล้วในความรับผิดชอบของ ศอ.บต.ยังมีตำแหน่งงานว่างจำนวนมาก แต่ไม่ใช่ในโครงสร้าง ศอ.บต.เอง ถ้าคนเหล่านั้น (พนักงานจ้างเหมาบริการที่ถูกเลิกจ้าง) ประสงค์ที่จะให้ ศอ.บต.ดำเนินการหางานให้ ก็สมัครเข้าโครงการเลย มีโครงการที่เป็นภาคเอกชนพร้อมรับเข้าทำงานมากมาย เช่น แมคโคร โรงงานในพื้นที่ จ.สงขลา โรงงานในพื้นที่ จ.ปัตตานี เขายังต้องการคนอีกเพียบ ฉะนั้นไม่ลอยแพ ยืนยันไม่เกี่ยวข้องกับเรื่อง ศอ.บต.ล้มเหลวเลย