รีเซต

'ทรูวิชั่น'​ แย้งทีวีดิจิทัล ชี้ 'กสทช.'​ รีบออกประกาศเรียงช่องใหม่ทำสับสน

'ทรูวิชั่น'​ แย้งทีวีดิจิทัล ชี้ 'กสทช.'​ รีบออกประกาศเรียงช่องใหม่ทำสับสน
มติชน
17 สิงหาคม 2563 ( 18:41 )
202
1
'ทรูวิชั่น'​ แย้งทีวีดิจิทัล ชี้ 'กสทช.'​ รีบออกประกาศเรียงช่องใหม่ทำสับสน

‘ทรูวิชั่น’​ แย้งทีวีดิจิทัล ชี้ ‘กสทช.’​ รีบออกประกาศเรียงช่องใหม่ทำสับสน-เพิ่มภาระทีวีบอกรับสมาชิก

บริษัท ทรู วิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด ออกแถลงการณ์ กรณีการจัดเรียงลำดับช่องดิจิทัลทีวีบนโครงข่ายโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก มีสาระสำคัญดังนี้ ตามที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นเฉพาะกลุ่ม (โฟกัส กรุ๊ป​) เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2563 เกี่ยวกับการออกประกาศเพื่อกำหนดกฎเกณฑ์การจัดเรียงลำดับช่องดิจิทัลทีวีบนโครงข่ายโทรทัศน์แบบอกรับสมาชิกฉบับใหม่ เพื่อจะนำมาใช้บังคับแทนประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์การจัดลำดับบริการโทรทัศน์ (ประกาศจัดเรียงลำดับช่องรายการ) ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันซึ่งผู้ให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกหลายรายได้ฟ้องเพิกถอนประกาศจัดเรียงลำดับช่องรายการดังกล่าวต่อศาลปกครองโดยในชั้นศาลปกครองกลางก็ได้มีคำพิพากษาเพิกถอนประกาศดังกล่าวแล้ว และในขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุดซึ่งคาดว่าจะได้มีคำพิพากษาในเร็ววันนี้

 

ขอเรียนว่าประเด็นดังกล่าวเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของประกาศการจัดเรียงลำดับช่องดิจิทัลทีวีบนโครงข่ายโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกยังคงเป็นปัญหาที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด ดังนั้นการเร่งรัดออกประกาศฉบับใหม่โดยไม่รอคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดในคดีก็มีแต่จะทำให้ประชาชนผู้ใช้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกเกิดความสับสนกับการจัดเรียงลำดับช่องดิจิทัลทีวีรูปแบบใหม่บนโครงข่ายโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก ซึ่งไม่ได้เป็นไปเพื่อคุ้มครองประชาชนผู้ใช้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกอย่างแท้จริง อีกทั้งยังจะก่อให้เกิดภาระหน้าที่ต่อผู้ให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกที่ต้องลงทุนและปรับเปลี่ยนการจัดเรียงช่องรายการใหม่อีกครั้งอันจะส่งผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจของผู้ให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกเพิ่มเติมอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งในท้ายที่สุดก็จะนำไปสู่ความขัดแย้งและเกิดข้อพิพาทระหว่างผู้มีส่วนได้เสียในอุตสาหกรรมโทรทัศน์ดังเช่นที่ผ่านมา

 

ดังนั้น ทรูวิชั่นส์จึงขอเสนอให้ กสทช.ชะลอการออกประกาศเพื่อกำหนดกฎเกณฑ์การจัดเรียงลำดับช่องดิจิทัลทีวีบนโครงข่ายโทรทัศน์แบบอกรับสมาชิกฉบับใหม่ไปก่อนจนกว่าศาลปกครองสูงสุดจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีการฟ้องเพิกถอนประกาศจัดเรียงลำดับช่องรายการ แล้วจึงค่อยพิจารณาเหตุผลความจำเป็นและแนวทางการจัดเรียงลำดับช่องรายการดิจิทัลทีวีบนโครงข่ายโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกที่เหมาะสมกับสภาพอุตสาหกรรมและพฤติกรรมของประชาชนผู้ใช้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก

 

ทั้งนี้ เพื่อความเป็นธรรมและบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนผู้ใช้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกผู้ให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกที่มีอยู่หลายร้อยรายรวมถึงผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกทั้งหมด

 

อย่างไรก็ตาม​ ทรูวิชั่นส์ ในฐานะผู้ให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกขอเรียนว่า บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกเป็นบริการที่เพิ่มทางเลือกให้กับประชาชนในการรับชมช่องรายการที่มีความหลากหลายในด้านเนื้อหาที่แตกต่างไปจากช่องดิจิทัลทีวีเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้บริการเป็นหลักผู้ให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกซึ่งเป็นผู้ลงทุนสร้างโครงข่ายเพื่อการให้บริการจึงควรมีสิทธิในการบริหารจัดการโครงข่ายได้อย่างเป็นอิสระและมีสิทธิคัดเลือกคัดสรรช่องรายการที่จะนำมาจัดเรียงและนำเสนอให้ตรงกับความต้องการของผู้ใช้บริการเพื่อก่อให้เกิดบริการที่มีคุณภาพ มีความหลากหลาย พร้อมค่าบริการที่เหมาะสม

 

การที่ กสทช.ออกประกาศจัดเรียงลำดับช่องรายการเพื่อบังคับให้ผู้ให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกต้องนำช่องดิจิตอลทีวีมาจัดเรียงไว้ในลำดับที่ 1-36 ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ดีที่สุดบนโครงข่ายรวมถึงจำกัดสิทธิในการประกอบกิจการของผู้ให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกอีกหลายประการ เช่น การห้ามนำช่องดิจิทัลทีวีไปออกอากาศซ้ำในตำแหน่งอื่น เป็นต้น จึงเป็นการใช้อำนาจและดุลยพินิจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

เนื่องจากประกาศดังกล่าวจำกัดสิทธิเสรีภาพในการประกอบอาชีพของผู้ให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกทำให้สูญเสียประโยชน์ที่ควรจะได้รับจากการบริหารจัดการโครงข่ายอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการบริหารจัดการหรือใช้ประโยชน์จากโครงข่ายโทรทัศน์ซึ่งเป็นทรัพย์สินของผู้ให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกอย่างไม่เป็นธรรม อีกทั้งประกาศดังกล่าวยังเป็นการสร้างภาระเกินสมควรอย่างไม่เป็นธรรมต่อผู้ให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกที่จะต้องนำช่องดิจิทัลทีวีมาออก อากาศบนโครงข่ายของตนโดยไม่ได้รับค่าตอบแทนใดในการออกอากาศ และท้ายที่สุดผลกระทบย่อมจะเกิดขึ้นกับประชาชนผู้ใช้บริการที่ต้องถูกจำกัดทางเลือกในการรับชมช่องรายการและถูกลดทอนความหลากหลายของเนื้อหารายการที่ควรได้รับจากบริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกที่ตนได้เลือกสมัครใช้บริการเป็นการเฉพาะ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง