เมื่อนึกถึงสิ่งที่เป็นภัยอันตรายในสังคม เราคงจะมีภาพเกิดขึ้นมากมายในหัว เช่น การใช้ความรุนแรง การขโมย การกดขี่ข่มเหง แต่หนึ่งสิ่งที่ผู้คนมักคิดว่าไม่มีพิษไร้ซึ่งภัยแต่กลับเป็นวิกฤตร้ายแรงอย่างมีนัยยะสำคัญ คือ "ความโง่" ระเบิดปรมาณูที่คนในสังคมมองข้าม จึงขอเรียนเชิญทุกท่านมาสำรวจอำนาจมืดอันร้ายกาจกับศาสตร์แห่งความโง่ใน"โง่ศาสตร์:The Basic Laws Of Human Stupidity"หนังสือเล่มบางๆที่อธิบายความเขลาผ่านแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ เขียนโดยคุณ"คาร์โล เอ็ม ชิโปลลา(Carlo M. Cipolla)"นักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจชาวอิตาลี เป็นศาสตราจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์"University of California, Berkeley"ที่จะพาคุณมารู้จักกับความโง่อย่างเป็นระบบจากกฎ5ข้อ แปลโดยคุณ"สุนันทา วรรณสินธ์ เบล"ซึ่งมีผลงานแปลหนังสือชั้นนำระดับโลกและหนังสือสารคดีมามากมาย จากที่กล่าวมาข้างต้นอาจทำให้หลายๆท่านคิดว่าหนังสือเล่มนี้ดูรุนแรง แต่อยากให้ผู้อ่านเปิดใจสักเล็กน้อย เพราะมันไม่ได้รุนแรงอย่างที่คิด หากแต่อธิบายอย่างตรงไปตรงมาเท่านั้น ถ้าพร้อมแล้วเรามาเปิดโปงความโง่กันครับ "แนวคิด" ก่อนจะเลยเถิดจนเกิดเป็นการทะเลาะ เราต้องมานิยามให้เข้าใจตรงกันก่อนว่าความโง่คืออะไร โดยหนังสือได้ใช้กราฟแบ่งคนออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้ คนกระจอก(Helpless):กระทำสิ่งที่ตนเองเสียหาย แต่ผู้อื่นได้ประโยชน์ 'H' คนฉลาด(Intelligent):กระทำสิ่งที่ตนเองและผู้อื่นได้ประโยชน์ 'I' คนโฉด(Bandit):กระทำสิ่งที่ตนเองได้ประโยชน์ แต่ผู้อื่นเสียหาย 'B' คนโง่(Stupid):กระทำความเสียหายแก่ผู้อื่น โดยตนเองไม่ได้รับประโยชน์หรืออาจจะเสียหายด้วยซ้ำ 'S' เน้นย้ำว่านี้คือนิยามของคนโง่ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่ใช้ทั้งเล่ม โปรดจำไว้ให้ดีนะครับ [หมายเหตุ] คนแต่ละประเภทสามารถเปลี่ยนไปได้ตามสถานการณ์ เช่น คนฉลาดอาจจะทำตัวเหมือนคนกระจอกในบางครั้ง แต่ลักษณะที่เกิดบ่อยที่สุดก็ยังเป็นความฉลาดอยู่ดี จะมีก็แต่คนโง่ที่ชัดเจนในจุดยืนของตนไม่เปลี่ยนแปลงและจะมีการแบ่งประเภทย่อยไปอีก ได้แก่ คนโฉดแกมฉลาด,คนโฉดแกมโง่,คนกระจอกแกมฉลาด,คนกระจอกแกมโง่ แนวคิดที่เป็นหัวใจของหนังสือเล่มนี้คือ "กฎพื้นฐาน5ข้อของความโง่" อันได้แก่ เราทุกคนประเมินสัดส่วนคนโง่ในสังคมน้อยเกินไป:แม้เราจะประเมินสัดส่วนของคนโง่ไว้มาก แต่ก็เป็นเรื่องน่าแปลกใจที่สัดส่วนที่แท้จริงจะมากกว่าที่สัณนิษฐานไว้ ซึ่งคนโง่จะปรากฎมารังควานเราในโอกาสที่ไม่น่าเป็นไปได้ เวลาที่ผิดแปลก สถานที่ที่ไม่เหมาะสม จึงช่างเป็นเรื่องที่น่ากลัวในการต้องรับมือกับคนโง่ที่ไม่รู้จะโผล่มาตอนไหน การที่คนจะเป็นคนโง่ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับบุคลิกอื่นใดของเขา:หนังสือเสนอว่าความโง่คือพรหมลิขิตที่ธรรมชาติกำหนดมา ว่ากันตามตรงแม้แต่ผมยังคิดว่าข้อนี้ดูใจร้ายเลยครับ แต่คุณคาร์โลก็ให้แนวคิดที่ว่าในทุกๆกลุ่มสังคมจะมีสัดส่วนคนโง่อยู่เท่าๆกัน โดยไม่เกี่ยวว่ากลุ่มสังคมนั้นจะมีลักษณะอย่างไร ไม่ว่าจะกลุ่มผู้ได้รับการการศึกษาและไม่ได้รับ กับ ประเทศพัฒนาและประเทศยังไม่พัฒนา ก็จะมีคนโง่อยู่เท่าๆกัน เพราะความโง่เป็นสิ่งที่คงที่ ในขณะที่ก็พบได้ว่าความแตกต่างของ ประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศยังไม่พัฒนา คือ จำนวนคนฉลาดที่มาพยุงสังคมในกลุ่มประเทศแรกสูงกว่า ซึ่งน่าสนใจไม่น้อยเลยใช่ไหมล่ะครับ คนโง่คือคนที่กระทำความเสียหายแก่ผู้อื่น โดยตนเองไม่ได้รับประโยชน์หรืออาจจะเสียหายด้วยซ้ำ:เป็นความจริงที่อธิบายได้ยากยิ่ง การที่คนๆนึงสร้างความลำบากให้แก่เรา โดยที่เขาผู้นั้นไม่ได้รับประโยชน์แต่อย่างใด ช่างน่าฉงนสนเทห์ แต่นี้คือวิถีสุดทะนงของความโง่ครับ คนไม่โง่มักประเมินอำนาจทำลายล้างของคนโง่ต่ำเกินไป:คนกระจอกไม่ตระหนักถึงความอันตรายของคนโง่ ในขณะที่คนฉลาดและคนโฉดก็ดูหมิ่นและคิดจะใช้ประโยชน์จากคนโง่ แต่หารู้ไม่นี้คือความผิดพลาดมหันต์ เพราะคนโง่มีพฤติกรรมที่ไร้รูปแบบ,หลักการ,เหตุผล ที่สุดท้ายจะนำพาผู้ที่หลงระเริงไปแผดเผาในไฟบรรลัยกัลป์แห่งความโง่เขลา คนโง่เป็นคนประเภทที่อันตรายที่สุด(ยิ่งกว่าคนโฉด):เมื่อคำนึงถึงความก้าวหน้าของสังคมโดยรวม การกระทำของคนโฉดเป็นเพียงการถ่ายโอนทรัพย์สิน/สวัสดิการ เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น เมื่อคนโฉดกระทำการใดเสร็จเขาจะได้รับประโยชน์เข้าบัญชีตนเองเท่ากับที่ผู้อื่นเสีย สังคมโดยรวมไม่ได้ดีขี้นหรือแย่ลง แต่หากคนโง่เข้ามาอยู่ในสมการ สังคมโดยรวมจะแร้นแค้นยิ่งขึ้น นี่คือความอันตรายระดับมหภาคครับ "ความประทับใจ" การเลือกอธิบายด้วยภาษาทางเศรษฐศาสตร์ ของคุณคาร์โล(ด้วยความที่เป็นนักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ) จึงทำให้เราเห็นมุมมองที่น่าสนใจมากๆในเรื่องที่คาดไม่ถึงอย่าง"ความโง่" เป็นหนังสือเล่มที่บางมาก ใช้เวลาอ่านไม่นาน แต่ในทุกๆบทกลับให้ข้อมูลที่น่าสนใจเต็มไปหมด เป็นราคาการเปิดโลกที่คุ้มค่าเลยครับ ในหนังสือมีการใช้คำที่อาจทำให้เกิดความกระอักกระอ่วน และแฝงไปด้วยความแสบสันบ้าง แต่ด้วยการให้ข้อมูลอย่างเป็นระบบเลยทำให้การเสนอความคิดเห็นดูไม่รุนแรงขนาดนั้น การทำความเข้าใจความโง่ เป็นสิ่งที่จะทำให้เราไม่เผลอใจไปยุ่งเข้ากับสิ่งที่จะทำให้ชีวิตของเราพังทลาย เราจึงควรเรียนรู้ที่จะ(เข้าใจความ)โง่ ตามคำกล่าวของสำนักพิมพ์"หวังว่าหนังสือเล่มนี้จะเป็นดาบและโล่ที่ปกป้องทุกท่านจากศัตรูผู้โง่งม เพื่อนนักรบผู้โง่เขลา และที่เลวร้ายที่สุด - แม่ทัพผู้โง่บรม" ขอจบการรีวิวหนังสือ"โง่ศาสตร์:The Basic Laws Of Human Stupidity" ไปกับคำกล่าวของ Mark Twain"อย่าไปเถียงกับคนโง่โดยเด็ดขาด พวกเขาจะลากเราลงไปอยู่ในระดับเดียวกับเขา แล้วเอาชนะเราด้วยประสบการณ์" ภาพปก โดยผู้เขียน ภาพที่1 โดย pikisuperstar จาก Freepik ภาพที่2 โดยผู้เขียน ภาพที่3 โดยผู้เขียน ภาพที่4 โดย storyset จาก Freepik เปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !