รีเซต

ลูกจ้างหายห่วง เจ็บป่วยจากทำงานกองทุนเงินทดแทนประกันสังคมช่วยได้

ลูกจ้างหายห่วง เจ็บป่วยจากทำงานกองทุนเงินทดแทนประกันสังคมช่วยได้
TNN ช่อง16
19 พฤศจิกายน 2564 ( 17:02 )
96
ลูกจ้างหายห่วง เจ็บป่วยจากทำงานกองทุนเงินทดแทนประกันสังคมช่วยได้

กองทุนเงินทดแทน คือ กองทุนที่จ่ายเงินเข้า สำนักงานประกันสังคม ทดแทนให้แก่ลูกจ้างแทนนายจ้างเมื่อลูกจ้างประสบอันตราย เจ็บป่วย ถึงแก่ความตาย หรือสูญหาย เนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้างโดยไม่คำนึงถึงวัน เวลา และสถานที่ แต่จะดูจากสาเหตุที่ทำให้ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย


ลูกจ้างมีสิทธิได้รับความคุ้มครองจากกองทุนเงินทดแทนเมื่อใด

สิทธิที่ลูกจ้างจะได้รับจากกองทุนเงินทดแทนจะเกิดขึ้นทันทีนับตั้งแต่วันแรกที่เข้าทำงานให้นายจ้าง


เจ็บป่วยจากการทำงาน ได้อะไรจากกองทุนเงินทดแทนประกันสังคม

ค่ารักษาพยาบาล

ค่ารักษาพยาบาลจ่ายได้ตามกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย ดังนี้

1. กรณีลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นแต่ไม่เกิน 50,000 บาท

2. กรณีที่ค่ารักษาพยาบาล 50,000 บาท ไม่เพียงพอ ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นเพิ่มขึ้นอีกไม่เกิน 100,000 บาท สำหรับการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยของลูกจ้างที่มีลักษณะ ดังต่อไปนี้

- บาดเจ็บอย่างรุนแรงของอวัยวะภายในหลายส่วน และต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไข

- บาดเจ็บอย่างรุนแรงของกระดูกหลายแห่ง และต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไข

- บาดเจ็บอย่างรุนแรงของศีรษะ และต้องได้รับการผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะ

- บาดเจ็บอย่างรุนแรงของกระดูกสันหลัง ไขสันหลัง หรือรากประสาท

- ประสบภาวะที่ต้องผ่าตัดต่ออวัยวะที่ยุ่งยากซึ่งต้องใช้วิธีจุลศัลยกรรม

- ประสบอันตรายจากไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ความร้อน ความเย็น สารเคมี รังสี ไฟฟ้า หรือระเบิด จนถึงขั้นสูญเสียผิวหนังลึกถึงหนังแท้ตั้งแต่ร้อยละ 25 ของพื้นที่ผิวของร่างกาย   

- ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอย่างอื่นซึ่งรุนแรงหรือเรื้อรัง ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

3. กรณีค่ารักษาพยาบาลที่จ่ายเพิ่มอีกตามข้อ 2 ไม่เพียงพอ ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นเพิ่มขึ้นอีก ทั้งนี้ โดยรวมค่ารักษาพยาบาลทั้งข้อ 1 และ 2 แล้วต้องไม่เกิน 300,000 บาท สำหรับการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยของลูกจ้างที่มีลักษณะ ดังต่อไปนี้

- ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยตามข้อ 2 ตั้งแต่สองรายการขึ้นไป

- ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยตามข้อ 2 ที่จำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจหรือต้องพักรักษาตัวอยู่ในหอผู้ป่วยหนัก หอผู้ป่วยวิกฤต หรือหอผู้ป่วยไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ตั้งแต่ 25 วันขึ้นไป

- บาดเจ็บอย่างรุนแรงของระบบสมองหรือไขสันหลังที่จำเป็นต้องรักษาตัวในสถานพยาบาลตั้งแต่ 30 วันติดต่อกัน

- การประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอย่างอื่นตามข้อ 2 ซึ่งรุนแรงหรือเรื้อรังตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

4. กรณีค่ารักษาพยาบาลตามข้อ 1 - 3 ไม่เพียงพอ ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นเพิ่มขึ้นอีก ตามความเห็นของคณะกรรมการการแพทย์แต่รวมกันแล้วไม่เกิน 500,000 บาท

5. กรณีค่ารักษาพยาบาลทุกกรณีไม่เพียงพอ ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นเพิ่มขึ้นอีก โดยเมื่อรวมกับค่ารักษาพยาบาลดังกล่าวข้างต้นแล้ว ต้องไม่เกิน 1,000,000 บาท เว้นแต่ในกรณีดังต่อไปนี้ ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นที่เพิ่มขึ้นจนสิ้นสุดการรักษาพยาบาล

- ลูกจ้างเข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของรัฐ ตั้งแต่เริ่มแรกจนสิ้นสุดการรักษาพยาบาล

- ลูกจ้างมีความจำเป็นหรือมีเหตุสมควรที่ไม่สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของรัฐตั้งแต่เริ่มแรก แต่ภายหลังได้เข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของรัฐจนสิ้นสุดการรักษาพยาบาล

- การจ่ายค่ารักษาพยาบาล ให้เป็นไปตามความเห็นของคณะกรรมการการแพทย์ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน

6. ในกรณีลูกจ้างเป็นผู้ป่วยในมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่าห้อง ค่าอาหาร ค่าบริการพยาบาล และค่าบริการทั่วไป ให้นายจ้างจ่ายค่าใช้จ่ายดังกล่าวเท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินวันละ 1,300 บาท


ค่าทดแทนกรณีไม่สามารถทำงานได้

- จ่ายร้อยละ  70  ของค่าจ้างรายเดือน  

- ลูกจ้างมีการหยุดพักรักษาตั้งแต่ 1 วัน  รวมกันไม่เกิน  1  ปี 

- มีใบรับรองแพทย์ระบุหยุดพักรักษาตัว 

- ลูกจ้างหยุดพักรักษาตัวจริงตามใบรับรองแพทย์  

- ค่าทดแทนรายเดือนสูงสุดในปัจจุบัน  =  20,000 x 70 %  =  14,000  บาท


ที่มาภาพ : สำนักงานประกันสังคม

ค่าทดแทนกรณีสูญเสียสมรรถภาพในการทำงานของร่างกาย

- มีสิทธิได้รับค่าทดแทนร้อยละ 70 ของค่าจ้างรายเดือน เป็นระยะเวลาไม่เกิน 10 ปี

- การประเมินการสูญเสียสมรรถภาพในการทำงานของร่างกาย ลูกจ้างต้องได้รับการรักษาพยาบาลจนสิ้นสุดการรักษาและอวัยวะคงที่ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันที่ลูกจ้างประสบอันตราย 


ค่าทดแทนกรณีทุพพลภาพ

- กรณีที่ลูกจ้างได้รับการประเมินเป็นผู้ทุพพลภาพให้มีระยะเวลาการจ่ายค่าทดแทนตลอดชีวิต มีสิทธิได้รับค่าทดแทนร้อยละ 70 ของค่าจ้างรายเดือน โดยการประเมินการสูญเสียอวัยวะลูกจ้างต้องได้รับการรักษาพยาบาลจนสิ้นสุดการรักษา และอวัยวะคงที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันที่ลูกจ้างประสบอันตราย 


ทั้งนี้ กรณีทุพพลภาพเนื่องจากการทำงานจะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานประกันสังคมประกาศกำหนด เมื่อสิ้นสุดการรักษาสามารถติดต่อเพื่อเข้ารับการประเมินการเป็นผู้ทุพพลภาพได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขาที่นายจ้างมีภูมิลำเนาหรือลูกจ้างทำงานอยู่


ค่าทดแทนกรณีถึงแก่ความตายหรือสูญหายเนื่องจากการทำงาน

สูญหาย

กรณีลูกจ้างถึงแก่ความตายหรือสูญหายเนื่องจากการทำงาน มีสิทธิได้รับค่าทดแทนร้อยละ 70 ของค่าจ้างรายเดือนเป็นระยะเวลา 10 ปี โดยจ่ายให้กับผู้มีสิทธิตามกฎหมาย

ผู้มีสิทธิได้รับเงินทดแทน ได้แก่

1.  มารดา

2.  บิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย

3.  สามีหรือภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมาย

4.  บุตรที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี

5. บุตรที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปที่ยังศึกษาอยู่ในระดับที่ไม่สูงกว่าปริญญาตรี ให้ได้รับส่วนแบ่งต่อไปตลอดระยะเวลาที่ศึกษาอยู่

6. บุตรที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปี และทุพพลภาพหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ ซึ่งอยู่ในอุปการะของลูกจ้างก่อนลูกจ้างถึงแก่ความตายหรือสูญหาย

7. บุตรของลูกจ้างซึ่งเกิดภายใน 310 วัน นับแต่วันที่ลูกจ้างถึงแก่ความตาย หรือวันที่เกิดเหตุสูญหาย มีสิทธิรับเงินทดแทนนับแต่วันคลอด

8. หากไม่มีบุคคลดังกล่าวข้างต้น ให้ผู้อยู่ในอุปการะของลูกจ้างก่อนลูกจ้างถึงแก่ความตายหรือสูญหายเป็นผู้มีสิทธิ แต่ผู้อยู่ในอุปการะดังกล่าวจะต้องได้รับความเดือดร้อนเพราะขาดอุปการะจากลูกจ้างที่ตายหรือสูญหาย 


ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงาน

กรณีฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานภายหลังการประสบอันตรายสำหรับลูกจ้างที่จำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟู ได้รับตามอัตราดังนี้

- ค่าใช้จ่ายในกระบวนการเวชศาสตร์ฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานด้านการแพทย์ โดยเป็นค่าใช้จ่ายทางกายภาพบำบัด ไม่เกินวันละ 200 บาท และค่าใช้จ่ายทางกิจกรรมบำบัด ไม่เกินวันละ 100 บาท โดยเมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 24,000 บาท 

- ค่าใช้จ่ายในกระบวนการบำบัดรักษาและการผ่าตัดเพื่อประโยชน์ในการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงาน ไม่เกิน 40,000 บาท

- ค่าวัสดุและอุปกรณ์ด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู หน่วยละไม่เกินอัตราตามที่กระทรวงการคลังกำหนด โดยเมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 160,000 บาท

- ค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานด้านอาชีพ ให้จ่ายได้เฉพาะที่เป็นการฝึกตามหลักสูตรที่หน่วยงานของสำนักงานประกันสังคมเป็นผู้ดำเนินการ ไม่เกิน 24,000 บาท 

- ลูกจ้างจะได้รับค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงาน จะต้องเข้ารับการฟื้นฟูฯ ที่ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานสำนักงานประกันสังคมเท่านั้น ปัจจุบันมีศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานที่เปิดบริการแล้ว จำนวน 5 แห่ง คือ

1. ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานภาค 1 (จังหวัดปทุมธานี)

2. ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานภาค 2 (จังหวัดระยอง)

3. ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานภาค 3 (จังหวัดเชียงใหม่)

4. ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานภาค 4 (จังหวัดขอนแก่น)           

5. ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานภาค 5 (จังหวัดสงขลา)


ค่าทำศพ

ลูกจ้างถึงแก่ความตายหรือสูญหายเนื่องจากการทำงาน ได้รับค่าทำศพ ตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง โดยจ่ายให้ผู้จัดการศพ โดยปัจจุบัน กฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าทำศพที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ. 2564 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคม 2564 สามารถจ่ายค่าทำศพ จำนวน 50,000 บาท 

ที่มาภาพ : สำนักงานประกันสังคม

วิธีการแจ้งการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยพร้อมเอกสารประกอบการยื่นคำขอ

นายจ้างหรือผู้รับมอบอำนาจแจ้งตามแบบ กท.16 โดยยื่นเรื่อง ณ สำนักงานประกันสังคมที่ลูกจ้างทำงานอยู่หรือที่นายจ้างมีภูมิลำเนา ซึ่งสามารถส่งเอกสารได้โดยตรงที่สำนักงานประกันสังคมหรือส่งทางไปรษณีย์ ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ทราบการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยของลูกจ้าง หรือลูกจ้างสามารถยื่นคำร้องขอรับเงินทดแทนภายใน 180 วัน นับแต่วันที่ประสบอันตรายเจ็บป่วยหรือสูญหาย หรือหากการเจ็บป่วยเกิดหลังสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง ให้ยื่นคำร้องภายใน 2 ปี นับแต่วันที่ทราบการเจ็บป่วย

หลักฐานการแจ้งการประสบอันตรายหรือการขอรับเงินทดแทนทุกกรณี

1.  แบบแจ้งการประสบอันตราย เจ็บป่วย หรือสูญหาย (กท.16)

2.  แบบส่งตัวลูกจ้างเข้ารับการรักษาพยาบาล (กท.44) (กรณีนายจ้างส่งตัวเข้ารับ    การรักษาที่สถานพยาบาลในความตกลงของกองทุนเงินทดแทน) ต้นฉบับพร้อมสำเนา

3.  ใบรับรองแพทย์ (กท.16/1) หรือใบรับรองแพทย์ของสถานพยาบาล

4.  การประสบอันตรายที่ไม่ชัดเจน เช่น อุบัติเหตุรถยนต์ เกิดเหตุนอกสถานที่ เป็นต้น ต้องขอหลักฐานเพิ่ม เช่น หลักฐานการลงเวลาทำงาน บันทึกประจำวันตำรวจ แผนที่เกิดเหตุ เป็นต้น

5.  ใบเสร็จรับเงิน (กรณีนายจ้าง ลูกจ้างสำรองจ่ายไปก่อน)

6.  กรณีเสียชีวิตหรือสูญหายเนื่องจากการทำงาน ต้องมีหลักฐานแสดงการเสียชีวิต ใบชันสูตรศพ ใบมรณบัตรของลูกจ้าง บันทึกประจำวันตำรวจ (ถ้ามี) พร้อมด้วยหลักฐานของ    ผู้มีสิทธิ ดังนี้ สูติบัตรของบุตร ทะเบียนสมรสของลูกจ้างกับสามีหรือภรรยา ทะเบียนสมรสของบิดา - มารดา ทะเบียนบ้านของลูกจ้าง บิดา - มารดา ภรรยาหรือสามี บุตร / ทะเบียนหย่าของลูกจ้างหรือบิดามารดาหรือคู่สมรส (ถ้ามี) / หลักฐานการเปลี่ยนชื่อ - สกุลของลูกจ้าง บิดา มารดา คู่สมรส บุตร (ถ้ามี) หรือถ้ากรณีผู้มีสิทธิเสียชีวิต ควรมีหลักฐาน ดังนี้ สามีหรือภรรยา บิดามารดา หรือบุตร ต้องมีหลักฐานใบมรณบัตรของทุกคนมาแสดง เพื่อประกอบการพิจารณา                                                                        


ทั้งนี้ การยื่นแบบการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยหรือสูญหาย (กท.16) เพียงครั้งเดียว สามารถรับสิทธิประโยชน์ได้ทุกกรณี ได้แก่ ค่ารักษาพยาบาล ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงาน ค่าทำศพ ค่าทดแทนกรณีไม่สามารถทำงานได้ ค่าทดแทนกรณีสูญเสียอวัยวะ ค่าทดแทนกรณีทุพพลภาพ และค่าทดแทนกรณีตายหรือสูญหาย


ทั้งหมดนี้คือสิทธิประโยชน์ที่ลูกจ้างจะได้รับเมื่อประสบอุบัติเหตุจากการทำงาน ซึ่งหากลูกจ้างยังไม่รู้ว่ากองทุนเงินทดแทนคืออะไร สามารถอ่ายรายละเอียเดเพิ่มเติมได้ที่ >> รู้หรือไม่ กองทุนเงินทดแทนประกันสังคมคืออะไร


ที่มาข้อมูล : สำนักงานประกันสังคม

ที่มาภาพ : AFP




ข่าวที่เกี่ยวข้อง