รีเซต

ศบค.ห่วงผู้ป่วยสูงวัย เสี่ยงสูงติดเชื้อ โอไมครอน จ่อกลับตรวจRT-PCR

ศบค.ห่วงผู้ป่วยสูงวัย เสี่ยงสูงติดเชื้อ โอไมครอน จ่อกลับตรวจRT-PCR
ข่าวสด
29 พฤศจิกายน 2564 ( 14:33 )
112
ศบค.ห่วงผู้ป่วยสูงวัย เสี่ยงสูงติดเชื้อ โอไมครอน จ่อกลับตรวจRT-PCR

ศบค. ย้ำโอไมครอน เป็นสายพันธุ์กลายพันธุ์ ที่น่ากังวลสูง-แพร่กระจายได้เร็ว จับตามาตรการเทสแอนด์โก เข้าไทย อาจต้องกลับมาตรวจ RT-PCR

 

เมื่อวันที่ 29 พ.ย.2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงว่า การติดตามการแพร่ระบาดของเชื้อกลายพันธุ์ โอไมครอน ซึ่งทางองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศชัดเจนว่านับเป็นสายพันธุ์ที่มีความน่ากังวลสูง ทำให้กระทรวงสาธารณสุขต้องปรับมาตรการอย่างเร่งด่วน

 

สำหรับการติดเชื้อของต่างประเทศจากทั่วโลก หลายประเทศมีตัวเลขขยับขึ้นสูง เช่น สหราชอาณาจักร ตุรกี เยอรมัน ฝรั่งเศส อิตาลี ซึ่งประเทศเหล่านี้ ขอเน้นย้ำว่ามีตัวเลขประชากรฉีดวัคซีนแล้วค่อนข้างสูง และก่อนหน้านี้หลายประเทศประกาศผ่อนคลายมาตรการ อนุญาตให้ประชาชนเลิกสวมหน้ากากผ้า หน้ากากอนามัย เปิดร้านอาหารได้อิสระ แต่ขณะนี้จะเห็นได้ว่า หลายประเทศกลับมาคุมเข้มมาตรการอย่างเข้มงวดใหม่ ทำให้เกิดการประท้วงในหลายพื้นที่

 

ในส่วนเอเชีย ทิศทางตัวเลขยังทรงๆ อยู่ มาเลเซียมีตัวเลขลดลงอย่างต่อเนื่อง มีประเทศที่น่าจับตามองขณะนี้คือ เวียดนามที่ตัวเลขกระโดดขึ้น สปป.ลาว มีตัวเลขเกินพันมากว่า 2 สัปดาห์แล้ว

 

การแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอไมครอน นอกจากทวีปแอฟริกาที่มีรายงานการพบเชื้อยืนยัน หลายประเทศในยุโรปตอนนี้มีรายงานแล้วทั้ง อิตาลี เยอรมัน เนเธอร์แลนด์ อังกฤษ เบลเยี่ยม สาธารณรัฐเช็ก ล่าสุดมีรายงานยืนยันคือเดนมาร์ก ซึ่งพบเชื้อจากประชาชนที่เดินทางมาจากประเทศกลุ่มแอฟริกา

 

ส่วนของเอเชีย มีอยู่ที่ฮ่องกง และอิสราเอล ซึ่งขณะนี้อิสราเอลประกาศปิดประเทศเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และออสเตรเลีย ก็มีรายงานยืนยันพบโอไมครอนแล้วเช่นกัน

 

จากการที่องค์การอนามัยโลก เป็นห่วงสายพันธุ์กลายพันธุ์โอไมครอน ที่มีรายงานว่ามีการแพร่กระจายได้เร็วยิ่งกว่าสายพันธุ์เดลต้า ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีการรายงานด้วยความรุนแรง แต่องค์การอนามัยโลก ได้ย้ำว่าในกลุ่มผู้ป่วยสูงอายุ และมีโรคประจำตัวถือว่ามีความเสี่ยงที่น่าเป็นห่วง และเน้นย้ำว่าปัจจัยสำคัญในการเกิดเชื้อกลายพันธุ์ มักจะเป็นประเทศที่มีประชากรที่ได้รับวัคซีนค่อนข้างต่ำ มีการกระจายวัคซีนไปยังประชาชนน้อยมาก ทำให้ภูมิคุ้มกันน้อยนั้นเป็นเหตุให้เกิดเชื้อกลายพันธุ์ อย่างต่อเนื่อง

 

ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุขจึงย้ำว่าหากใครไม่รีบรณรงค์ให้ประชาชนฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชากรได้มากที่สุด เราอาจจะเป็นที่หนึ่งที่เกิดการกลายพันธุ์ของเชื้อได้

 

สำหรับผู้เดินทางจากประเทศแถบแอฟริกาใต้หลายประเทศ ตัวเลขที่รายงานวันที่ 1- 27 พ.ย.64 สะสมอยู่ที่ 1,007 รายที่เดินทางเข้าประเทศไทย และทั้งหมดนี้มีผลตรวจRT-PCR เมื่อเดินทางถึงประเทศไทยเป็นลบ ซึ่งตอกย้ำว่า มาตรการสาธารณสุขของไทยในการคัดกรองผู้เดินทางเข้าประเทศ ย้ำว่าการที่คงมาตรการเหล่านี้ไว้ ถือเป็นการคัดกรองตรวจจับเชื้ออย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับการปรับมาตรการเข้าไทย ของทวีปแอฟริกาที่ประกาศเมื่อ 28 พ.ย. แบ่งกลุ่มประเทศแอฟริกาเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นกลุ่มประเทศที่มีรายงานเชื้อชัดเจนแล้ว ได้แก่ บอตสวานา เอสวาตินี เลโซโท มาลาวี โมซัมบิก นามิเบีย แอฟริกาใต้ และซิมบับเว มีประกาศชัดเจนว่าไม่อนุญาตจากประชาชนจาก 8 ประเทศนี้ลงทะเบียนเพื่อขอเข้าไทย แต่จะมีคนกลุ่มหนึ่งที่ลงทะเบียนมาก่อนล่วงหน้านี้แล้ว ต้องเข้าสู่กระบวนการกักตัว 14 วัน ตรวจRT-PCR 3 ครั้ง และมีการประกาศเพิ่มว่า 8 ประเทศนี้ หลังวันที่ 1 ธ.ค.64 คือตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ห้ามไม่ให้เข้าประเทศไทย ยกเว้นเฉพาะคนไทย

กลุ่มที่สอง คือผู้ที่เดินทางจากทวีปแอฟริกา นอกเหนือจาก 8 ประเทศ มีเงื่อนไขว่าเดินทางเข้าประเทศไทยได้ โดยแซนด์บ็อกซ์ ต้องกักตัวเท่านั้น ไม่อนุญาตให้ลงทะเบียนขอเข้าราชอาณาจักรไทย ตั้งแต่ 27 พ.ย.เป็นต้นไป หากลงทะเบียนมาก่อนหน้านี้แล้วจะต้องกักตัว 14 วัน ตรวจRT-PCR 3 ครั้ง

อย่างไรก็ตาม กรณีที่มาถึงเมืองไทยก่อนหน้านี้ เช่น มีจำนวนหนึ่งเดินทางมาถึง 15 พ.ย. นับถึง 5 ธ.ค. ขอให้เจ้าหน้าที่ เจ้าพนักงานโรคติดต่อ เฝ้าระวังและติดตามอาการคนกลุ่มนี้ให้ครบ 14 วัน ขณะนี้มีการประสานงานทั้งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข พบว่ามีนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้เกือบ 200 ราย ซึ่งสามารถติดตามได้ทั้งหมด ในส่วนของกลุ่มที่สองนี้ที่เดินทางถึงไทย 6 ธ.ค.เป็นต้นไป จะต้องเข้าสู่กระบวนการกักตัว 14 วัน ให้ครบตามกำหนด

ที่ประชุมศบค. เมื่อ 26 พ.ย.ที่ผ่านมา มีการพูดถึงการทบทวนการประเมินนักท่องเที่ยวเมื่อเดินทางมาถึงประเทศไทย และได้ประกาศ 16 ธ.ค.64 จะตรวจโดยใช้ ATK แทน เทสแอนด์โก ด้วยเหตุผลที่กระทรวงสาธารณสุข มีการประเมินสถานการณ์และมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา จึงต้องขอให้ทุกคนติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ว่าจะคงตรวจ RT-PCR ไว้จนถึง 16 ธ.ค.64 แต่จะเปลี่ยนเป็น ATK ตามมติศบค.หรือไม่นั้น ยังคงต้องติดตาม เพราะอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง