ทุกครั้งที่เราบอกกับคนอื่นว่าเรียนอยู่เอกปรัชญาสิ่งที่เกิดขึ้นมาเสมอคือคำถามที่ถามต่อไปว่า “เรียนอะไรนะ” ใช่แล้ว ก็เรียนปรัชญาไง ฉันคิดว่าที่คนทั่วไปสับสน น่าจะเป็นเพราะคำว่า ‘ปรัชญา’ นั่นแหละ เพราะปกติแล้วคำว่าปรัชญาไม่เคยอยู่ในสารบบความคิดของเด็กนักเรียนไทย (หรือแม้แต่คนทั่วไปก็ตาม) เราต่างเคยรู้จักคำว่าปรัชญาจากคำว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ปรัชญาประจำโรงเรียน หรือเพจปรัชญาที่คนทั่วไปเข้าใจก็มักจะเป็นเพจคำคมซะเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งต่างจากสิ่งที่เราจะได้เรียนโดยสิ้นเชิง แล้วจริงๆ แล้วเด็กปรัชญาเรียนอะไรกัน?สิ่งที่เด็กปรัชญาเรียนคือ ‘การตั้งคำถามกับคอนเซปต์ (หรือแนวคิด) บางอย่างโดยใช้เหตุผล’ (นี่น่าจะเป็นนิยามที่ใกล้เคียงกับคำว่า ‘ปรัชญา’ ที่ฉันเข้าใจมากที่สุดแล้ว) แก่นหลักและหัวใจหลักของปรัชญาคือการตั้งคำถามกับสิ่งที่มีอยู่เดิม มองหาความเป็นไปได้ แม้ว่ามันจะเป็นสิ่งที่คนอื่นมองข้ามหรือเชื่อกันเป็นปกติก็ตาม “เราควรจะทรมานผู้ร้ายให้ยอมบอกที่ซ่อนระเบิดไหม” -จริยศาสตร์“ทำไมเรายังคงกินเนื้อสัตว์ ทั้งๆ เราต่างรู้ดีว่ามันทุกข์ทรมานที่จะถูกฆ่า” -จริยศาสตร์“เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเอไอสามารถรู้คิดได้เหมือนมนุษย์”-ปรัชญาเทคโนโลยี“อะไรคือข้อเสียของการเชื่อในปรัชญาพุทธ”-ปรัชญาศาสนา“เราจะสอนให้เด็กๆ คิดอย่างมีเหตุผลได้อย่างไร”-ปรัชญาการศึกษานี่คือตัวอย่างคำถามที่เราจะต้องหาคำตอบร่วมกันในห้องเรียนปรัชญา บางคนอาจบอกว่าถ้าแค่นี้ใครๆ ก็ทำได้ทั้งนั้นฉันก็จะตอบว่าถ้าเป็นแบบนั้นเราคงไม่เห็นมนุษย์ตรรกะวิบัติในสังคมหรอก 5555+เคยไหมเห็นคนตอบคำถามแล้ว ต้องอุทานว่า “นี่มันคำตอบอะไรฟะ” โอเค ทุกคนอาจจะตอบคำถามเหล่านี้ได้ แต่ตอบคำถามได้ดีไหมมันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง การเรียนปรัชญาเป็นการสอนให้เราคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลและวิพากษ์เป็น เพื่อนำไปสู่คำตอบที่ตรงประเด็นกับสิ่งสิ่งนั้น ในเอกนี้เราจะดูที่ข้ออ้างหรือเหตุผลมากกว่าจะไปดูที่ข้อสรุป อาจารย์ในเอกนี้จะเป็นเหมือนผู้ที่คอยทำให้เราโต้เถียงโดยอยู่ในร่องในรอย ไม่ให้ใช้ตรรกะผิดพลาด ช่วยประเมินความสมเหตุสมผลของคำตอบ และเป็นผู้ชี้นำมากกว่าจะบังคับให้เราเชื่อตาม สิ่งที่ฉันเรียนรู้จากการทำปรัชญาบ่อยๆ คือ ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ก็เหมือนกล้ามเนื้อส่วนอื่นๆ ในร่างกาย ถ้าทำมันซ้ำๆ ความคิดของเราจะเฉียบคมขึ้นเอง Skill ทักษะที่จะต้องได้ใช้แน่ๆถ้าจะเลือกเอกนี้ก็เตรียมใจได้เลย1.การโต้ตอบในคลาสการมีจุดยืนเป็นของตัวเองเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว แต่เมื่ออยู่ในห้องเรียนปรัชญาการโต้แย้งของแต่ละชุดความคิดในห้องเรียนเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ และนี่เป็นความสนุกอย่างหนึ่งในการเรียนปรัชญา เราจะเปิดโลกการเข้าใจคนอื่น หรือแม้แต่กุมขมับกับความคิดบางอย่าง ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องปกติในห้องเรียนปรัชญา และอาจารย์ก็จะเรียกร้องให้เราแสดงเหตุผลประกอบจุดยืนพร้อมกับตั้งคำถามต่างๆ อยู่ตลอดเวลา ไม่ต้องกลัวเวลาอาจารย์ถามในห้อง เพราะสิ่งที่เราเรียนมันอาจทำให้เกิดความสับสน (อย่างมาก) หรือบางครั้งมันอาจเป็นเรื่องนามธรรมจนยากที่จะเข้าใจ การถามเป็นการเช็กว่านักศึกษายังมีชีวิตรอดอยู่ เอ่ย! ฉันหมายถึงเช็ดความสามารถในการทำปรัชญาของเรา ไปพร้อมๆ กับความสามารถในการอธิบายสิ่งที่คิดอยู่ในหัวได้ 2.การเขียนบรรยาย ถ้าคิดว่าการเรียนเอกปรัชญาในมหาลัยคือการฝนคำตอบเหมือนตอนสอบเข้า ฝันไปเถอะ! คุณจะไม่ได้ฝนคำตอบในการเรียนวิชานี้เลย ชิ้นงานที่จะได้ทำส่งคือการเขียนเปเปอร์ และถ้ามีการสอบก็จะเป็นการเขียนงานเช่นกัน แต่นี่ไม่ใช่การสอบนักธรรม การเขียนแถเยอะๆ ไม่ได้หมายความว่าคุณจะได้คะแนนดีเสมอไป การเขียนให้ตรงประเด็นและตอบคำถามได้ครบถ้วน รวมไปถึงการเขียนให้ตรงใจคนตรวจข้อสอบที่มันงานศิลปะชัดๆ 3.การอ่านงานภาษาอังกฤษการอ่านงานในเอกนี้เป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ และงานปรัชญามักไม่ค่อยถูกตีพิมพ์ในไทยซักเท่าไหร่ สิ่งที่คุณจะได้เจอคือการอ่านงานภาษาอังกฤษไปอีกหลายปี ถ้าคุณรู้สึกว่าการอ่านบทความภาษาอังกฤษมันค่อนข้างยากแล้ว บทความปรัชญาที่ถูกเอามาใช้ค่อนข้างยากกว่านั้นอีกพอสมควร เพราะคำหลายคำที่นักปรัชญาใช้ มันไม่ได้มีความหมายตามที่คนทั่วไปเข้าใจ แม้แต่การใช้google translateก็ไม่ค่อยช่วยเท่าไหร่ แต่สิ่งเหล่านี้มันพัฒนาได้ การแปลงานบ่อยๆ จะช่วยให้ภาษาค่อยๆ ดีขึ้นเอง ไม่ต้องกลัวไป คุณจะไม่ใช่คนเดียวที่จะปวดหัวกับเปเปอร์ปรัชญาตรงหน้าแน่นอน เกือบทุกคนก็ปวดหัวกับการอ่านงานเหมือนกันในท้ายที่สุดแม้เด็กเอกปรัชญาจะถูกเหมารวมว่าเป็นพวกไม่เหมือนใครสักหน่อย เรามักคุยกันในประเด็นที่ชาวบ้านชาวช่องไม่ค่อยหยิบมาพูดคุย หรือแม้แต่ตั้งคำถามที่ดูไร้สาระสำหรับคนอื่นๆ และแน่นอนว่าการทำปรัชญาไม่ใช่ของชอบสำหรับคนทุกคน แต่ถ้าคุณเป็นคนที่ชอบตั้งคำถามกับความคิดหรือความเชื่อต่างๆ รักที่จะเรียนรู้ความคิดจากเพื่อนในห้อง อาจารย์ เหล่านักปรัชญาเก่งๆ รวมถึงรู้สึกว่ามันคุ้มค่าที่จะเรียนรู้แล้วละก็เอกปรัชญาจะเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่คุณไม่ควรมองข้ามมันไปเลยอ้างอิงภาพภาพปกโดย morhamedufmg จาก Pixabay ภาพ1โดย David จาก Pixabay ภาพ2โดย S K จาก Pixabay ภาพ3โดย StartupStockPhotos จาก Pixabay ภาพ4โดย Anja จาก Pixabay 7-11 Community ห้องลับเมาท์มอยของกินของใช้ในเซเว่น อะไรดีอะไรใหม่ ต้องรู้ ต้องคุย ต้องแชร์