รีเซต

หมู-ผัก-ไข่แพง ดันเงินเฟ้อธ.ค.64 พุ่ง 2.17% คาดปี’65 แตะ 1.5% จับตาโอมิครอนระบาดทุบภาคผลิต

หมู-ผัก-ไข่แพง ดันเงินเฟ้อธ.ค.64 พุ่ง 2.17% คาดปี’65 แตะ 1.5% จับตาโอมิครอนระบาดทุบภาคผลิต
ข่าวสด
5 มกราคม 2565 ( 15:20 )
52
หมู-ผัก-ไข่แพง ดันเงินเฟ้อธ.ค.64 พุ่ง 2.17% คาดปี’65 แตะ 1.5% จับตาโอมิครอนระบาดทุบภาคผลิต

หมู-ผัก-ไข่แพง ดันเงินเฟ้อ - นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงดัชนีราคาผู้บริโภค หรือเงินเฟ้อทั่วไป เดือนธ.ค. 2564 ว่า เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้น 2.17% เป็นการสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้า ที่สูงขึ้น 2.71% จากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศที่สูงน้อยกว่าที่ควรจะเป็น เนื่องจากมาตรการตรึงราคาน้ำมันของภาครัฐ

 

ขณะที่สินค้าในกลุ่มอาหารสด อาทิ ผักสด ยังอยู่ในระดับสูงกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื้อสุกร และไข่ไก่ ปรับสูงขึ้นตามต้นทุนการเลี้ยง โดยเฉพาะราคาเนื้อสุกรปรับเพิ่มตามค่าบริหารจัดการโรคระบาดในสุกร นอกจากนี้ ปริมาณผลผลิตลดลง เนื่องจากผู้ประกอบการรายย่อยลดปริมาณการเลี้ยงสุกร รวมทั้ง น้ำมันพืช กับข้าวสำเร็จรูปและข้าวราดแกง ราคาปรับสูงขึ้นตามต้นทุนและวัตถุดิบ

 

อย่างไรก็ตาม ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว ผลไม้สด เสื้อผ้า ค่าเช่าบ้าน ค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมการศึกษายังคงปรับลดลง ส่วนสินค้าอื่นๆ อาทิ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด และของใช้ส่วนบุคคลยังเคลื่อนไหวในทิศทางที่ปกติ สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจและปริมาณผลผลิต

 

นายรณรงค์ กล่าวอีกว่า เงินเฟ้อที่สูงขึ้นในเดือนนี้ สอดคล้องกับเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจสำคัญหลายตัว ด้านอุปสงค์ ได้แก่ ยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ทั้งการจัดเก็บจากการใช้จ่ายภายในประเทศและจากการนำเข้า รวมทั้งการส่งออกสินค้าที่ยังคงขยายตัวได้ดีและต่อเนื่อง ด้านอุปทาน ได้แก่ อัตราการใช้กำลังการผลิต และดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่ยังคงขยายตัวได้ดี

 

ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก ในเดือนนี้ทรงตัวที่ 0.29% เมื่อเทียบกับปีก่อน เท่ากับเดือนก่อนเงินเฟ้อทั่วไป เมื่อเทียบกับเดือนพ.ย. 2564 ลดลง 0.38% ไตรมาสที่ 4 ปี 2564 เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้น 2.42% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า สูงขึ้น 1.80% และเฉลี่ยทั้งปี 2564 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้น 1.23%

 

นายรณรงค์ กล่าวอีกว่า สำหรับสถานการณ์เงินเฟ้อปี 2564 เงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2564 สูงขึ้น 1.23% ใกล้เคียงกับที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่าจะขยายตัวในช่วง 0.8-1.2% และเงินเฟ้อพื้นฐาน (ไม่รวมอาหารสดและพลังงาน) สูงขึ้น 0.23% ซึ่งขยายตัวเท่ากับปีก่อน

 

ส่วนแนวโน้มเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2565 คาดว่าจะมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการท่องเที่ยว การส่งออกสินค้า การผลิต รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในรูปแบบต่างๆ ส่งผลดีต่อรายได้และกำลังซื้อของประชาชน สำหรับอุปทานที่ส่งผลต่อเงินเฟ้อ ได้แก่ แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิต การขนส่ง เงินบาทที่อ่อนค่าลง และการขาดแคลนแรงงาน ส่งผลต่อภาคการผลิตและสินค้าในหมวดอื่นๆ

 

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยและแนวโน้มเหล่านี้ยังมีความเสี่ยงและมีโอกาสผันผวน รวมถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของไทยอาจจะได้รับแรงกดดันจากโควิด-19 ซึ่งจะกดดันให้เงินเฟ้อของไทยขยายตัวได้อย่างจำกัด

 

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อในปี 2565 ยังคงคาดการณ์เดิมคืออยู่ในช่วง 0.7-2.4% ค่ากลางที่ 1.5% ซึ่งเป็นอัตราที่น่าจะสอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจและช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างเหมาะสม

 

อย่างไรก็ตาม สนค. ก็จะติดตามสถานการณ์ต่างๆ อย่างใกล้ชิดหากมีการเปลี่ยนแปลงปัจจัยอย่างเห็นได้ชัดก็จะประเมินตัวเลขทั้งปีอีกครั้ง ซึ่งก็ยอมรับว่าสถานการณ์ต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปจากปีที่ผ่านมามาก โดยเฉพาะการระบาดของโอมิครอนที่แม้จะมีคนเชื้อเยอะแต่อัตราการเสียชีวิตต่ำ ซึ่งทางสาธารณสุขอาจไม่น่าเป็นห่วงแต่ทางเศรษฐกิจก็ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบเป็นรายเดือนเพราะอาจส่งผลต่อการเคลื่อนย้ายแรงงาน การหยุดชะงักของการผลิตหากมีแรงงานติดเชื้อเป็นจำนวนมาก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง