'เศรษฐพงค์' เสนอใช้โดเมนไทย ป้องข้อมูลรั่วไหล ห่วงรัฐสภาใช้ระบบร่วมหน่วยงานอื่นอาจไม่ปลอดภัย
เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2563 พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย และรองประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กทธ.ดีอีเอส) ให้สัมภาษณ์ถึงการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ว่า ในสถานการณ์ปัจจุบันที่รูปแบบการทำงานเปลี่ยนไปหลังวิกฤตไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะหน่วยงานราชการที่ต้องปรับวิธีการทำงาน การเก็บข้อมูลและรูปแบบการสื่อสารใหม่ ให้เข้ากับสถานการณ์และโลกที่หมุนไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะล่าสุดที่สภาฯได้มีการผ่าน พ.ร.ก.ว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้เรายังมีปัญหาที่ยังเว็ปไซต์ที่มีชื่อโดเมนที่ไม่ได้ลงท้ายด้วย .ไทย หรือ .th เช่น .com .net ซึ่งตรงจุดนี้จะผูกกับกฎหมายประเทศอื่น เพราะเซิร์ฟเวอร์หรือโดเมนอยู่นอกประเทศไทย ดังนั้นหน่วยงานหรือบริษัทของรัฐ ควรจะต้องใช้โดเมนที่ลงท้ายด้วย .ไทย หรือ .th รวมทั้งต้องมีการใช้งาน Domain Name System Security (DNSSEC) เพื่อป้องกันการแอบแก้ไขข้อมูลชื่อโดเมน และใช้บริการเครื่องแม่ข่ายสืบค้นชื่อโดเมน (DNS Resolver) ที่ให้บริการโดยหน่วยงานของไทย เพื่อลดความเสี่ยงเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหลให้กับผู้บริการต่างประเทศ และลดการพึ่งพาเครื่องแม่ข่ายของต่างประเทศ
“ทุกวันนี้มีภัยคุกคามทางโลกไซเบอร์อยู่บ่อยครั้ง มีแฮกเกอร์เกิดขึ้นมากมาย ดังนั้นเราควรจะมีกระบวนการป้องกันข้อมูล รวมทั้งเว็ปไซต์ต่างๆ โดยเฉพาะหน่วยงานของภาครัฐที่มีความสำคัญ รัฐสภาก็เช่นกัน ควรมีระบบ Data center และ Data Recovery เป็นของตนเอง ไม่ควรร่วมใช้กับหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ เพราะสภาเป็นหน่วยงานนิติบัญญัติ ที่มีชั้นความลับเฉพาะด้านการตรวจสอบการบริหารภาครัฐ จึงควรมีการแยกข้อมูลเฉพาะจากหน่วยงานของฝ่ายบริหารของรัฐทั่วๆ ไป ทั้งนี้ ประเทศไทยควรมีการวิจัยและพัฒนาโดเมนและเซิร์ฟเวอร์เป็นของตัวเอง เพราะนอกจากจะสามารถตรวจสอบไอพีของผู้กระทำผิดได้อย่างรวดเร็วแล้ว ยังสามารถใช้กฎหมายของไทยในการดำเนินการกับผู้กระทำผิดได้ แต่ทั้งนี้การบริหารและการจัดการที่เหมาะสมจะต้องควบคู่ไปกับกฎหมายสิทธิ และกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลด้วย ซึ่งเราจะนำประเด็นดังกล่าวทั้งหมด เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมกมธ.ดีอีเอส ต่อไป ว่าจะมีแนวทางดำเนินการได้อย่างไรบ้าง” พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าว