รีเซต

จับตา "โควิดสายพันธุ์อินเดีย" ไทยติดแล้ว 230 ราย ห่วงแพร่เร็วกว่าสายพันธุ์อังกฤษ 40%

จับตา "โควิดสายพันธุ์อินเดีย" ไทยติดแล้ว 230 ราย ห่วงแพร่เร็วกว่าสายพันธุ์อังกฤษ 40%
TNN ช่อง16
7 มิถุนายน 2564 ( 15:37 )
335
จับตา "โควิดสายพันธุ์อินเดีย" ไทยติดแล้ว 230 ราย ห่วงแพร่เร็วกว่าสายพันธุ์อังกฤษ 40%

วันนี้ (7 มิ.ย.64) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุว่า สายพันธุ์โควิด-19 ที่พบขณะนี้ในไทย ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์อังกฤษ หรือ อัลฟ่า ขณะที่ สายพันธุ์อินเดีย หรือ เดลต้า เริ่มเพิ่มขึ้น ส่วนสายพันธุ์แอฟริกาใต้ หรือ เบต้า ยังพบแค่ในพื้นที่ จ.นราธิวาส เท่านั้น  

ทั้งนี้ ได้มีการตรวจเชื้อไวรัส SARS-Cov-2 ในช่วงการระบาดระลอกหลัง พบว่า เป็นสายพันธุ์เดิมจำนวนเล็กน้อย แต่มี 3,964 ราย หรือ ร้อยละ 90 พบเป็นสายพันธุ์อังกฤษ B.1.1.7 หรือ อัลฟ่า ถือว่าตอนนี้สายพันธุ์อังกฤษครองเมือง ขณะเดียวกันพบสายพันธุ์อินเดีย 2 จำนวน 235 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 6 ในพื้นที่ 10 จังหวัด ได้แก่ กทม. 206 ราย นนทบุรี 2 ราย พิษณุโลก 2 ราย สระบุรี 2 ราย อุดรธานี 17 ราย นครราชสีมา 2 ราย อุบลราชธานี 1 ราย บุรีรัมย์ 1 ราย ร้อยเอ็ด 1 ราย และสมุทรสงคราม 1 ราย 

ส่วนสายพันธุ์แอฟริกาใต้ B.1.351 หรือ เบต้า จุดเริ่มต้นการพบนั้น มาจากผู้ติดเชื้อที่ข้ามจากมาเลเซียเข้ามาทางภาคใต้ของประเทศไทย ในปัจจุบันพบมีผู้ติดเชื้อแล้ว 26 ราย โดยยังคงเจอใน จ.นราธิวาส และจนถึงขณะนี้ยังไม่มีการพบข้ามจังหวัด 

ขณะที่ สายพันธุ์ B.1.524 คือ สายพันธุ์จากประเทศเพื่อนบ้าน พบ 10 ราย แต่ไม่น่ากังวล 


สำหรับการเฝ้าระวังสายพันธุ์อินเดีย พบว่า มีการกระจายตัวไปในหลายประเทศ ส่วนที่พบในกทม. มีความใกล้เคียงกับสายพันธุ์ที่พบในนราธิวาส ประเทศมาเลเซีย และบังคลาเทศ โดยสายพันธุ์อินเดียที่พบในไทย คาดว่ามีความเชื่อมโยงกับสายพันธุ์อินเดียในมาเลเซียและบังคลาเทศ เช่นกัน

สายพันธุ์แอฟริกาใต้ ที่พบใน จ.นราธิวาส มีความใกล้เคียงกับสายพันธุ์แอฟริกาที่พบจากผู้ติดเชื้อในสถานกักกันของประเทศไทย และพบในประเทศมาเลเซีย โดยสายพันธุ์แอฟริกาที่พบในไทย คาดว่ามีความเชื่อมโยงกับสายพันธุ์แอฟริกาในประเทศมาเลเซีย 

ทั้งนี้ พบว่า วัคซีนยังคงมีประสิทธิภาพครอบคลุมสายพันธุ์อังกฤษและอินเดียอยู่ ส่วนสายพันธุ์แอฟริกาใต้พบว่า ประสิทธิภาพวัคซีนลดลง ซึ่งต้องจับตาเฝ้าระวังต่อไป 


ขณะที่ ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า การถอดรหัสพันธุกรรมเชื้อไวรัสโควิด-19 เพื่อประโยชน์ในการควบคุมการแพร่ระบาด อีกทั้ง เพื่อการรักษาด้วย เช่น การตรวจเจอสายพันธุ์แอฟริกาในพื้นที่ตากใบ จ.นราธิวาส เพื่อทราบเส้นทางของการแพร่ระบาด และกำหนดเป้าหมายในการควบคุมโรคได้อย่างถูกต้อง โดยพบว่าในพื้นที่ดังกล่าว ส่วนน้อยที่จะเป็นสายพันธุ์อังกฤษ จากการสอบถามในพื้นที่ ทำให้ทราบว่าการกระจายของเชื้อสายพันธุ์แอฟริกาจะสู้สายพันธุ์อังกฤษไม่ได้ เป็นลักษณะแบบค่อยเป็นค่อยไป ทำให้สามารถควบคุมได้ 


ส่วนสายพันธุ์ลูกผสม หรือ ไฮบริด ที่พึ่งมีการรายงานข่าวก่อนหน้านี้ เบื้องต้นยังไม่มีความชัดเจน แต่ประเทศไทยได้มีการเฝ้าระวังด้วย อย่างไรก็ตาม ย้ำว่า "ในประเทศไทยยังไม่พบสายพันธุ์ลูกผสม" 

แต่ที่ต้องเฝ้าระวังและน่ากังวล คือ สายพันธุ์อินเดีย 1 และอินเดีย 2 หรือ เดลต้า เนื่องจากพบว่า มีการแพร่ระบาดเร็วกว่าสายพันธุ์อังกฤษมาก จากข้อมูลในประเทศอังกฤษ พบว่า ในบางเมืองสายพันธุ์อินเดีย 2 หรือ เดลต้า มีการแพร่ระบาดได้รวดเร็วกว่า 40% ขณะที่ ในอนาคตมองว่า โควิด-19 สายพันธุ์อังกฤษจะถูกแทนที่ด้วยสายพันธุ์อินเดีย 2 หรือ เดลต้า 

ที่ผ่านมา ตั้งแต่มีการแพร่ระบาดมีการถอดรหัสพันธุกรรมมาอย่างต่อเนื่อง โดยมี 9 สายพันธุ์หลักที่พบและมีการเฝ้าระวัง 

ขณะเดียวกันก็พบสายพันธุ์ท้องถิ่นอีก 3 ตัว ในไทย คือ B.136.16 สายพันธุ์ที่พบใน สมุทรสาคร ปทุมธานี สายพันธุ์นี้ส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการ B.1524 สายพันธุ์ประจำถิ่นมาเลเซีย และ A.6 สายพันธุ์ที่พบในช่วงการแพร่ระบาดสนามมวย โดยสายพันธุ์นี้ไม่พบการระบาดแล้ว

สำหรับประเทศไทยการระบาดระลอก 3 จะเห็นว่าแต่ละสายพันธุ์ที่ถูกพบ จะมีการดูแลที่แตกต่างกัน เช่น การให้ยา 

ทั้งนี้ การถอดรหัสจีโนมมีหลายวิธี ราคาก็จะแตกต่างไปด้วยขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีในการใช้ตรวจ โดยยังไม่จำเป็นถึงขั้นที่ห้องปฏิบัติการทั่วประเทศจะต้องมีการตรวจจีโนม เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง 

ด้าน ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ไวรัสทุกชนิดมีการพัฒนาสายพันธุ์ตามธรรมชาติเพื่อความอยู่รอด จะมีระยะเวลาประมาณ 6 เดือน จากนั้นก็จะมีการกลายพันธุ์ใหม่เข้ามาเรื่อยๆ โดยลักษณะตอนนี้ ตามธรรมชาติของไวรัส พบว่า สายพันธุ์อังกฤษมีลักษณะการแพร่ระบาดได้เร็ว จึงทำให้คลองพื้นที่การแพร่ระบาดอยู่ขณะนี้ ส่วนสายพันธุ์แอฟริกาใต้มีลักษณะการแพร่ระบาดช้า แต่มีผลกับประสิทธิภาพของวัคซีนที่ลดลง จึงเป็นสายพันธุ์ที่ต้องมีการเฝ้าระวัง 

แต่โดยภาพรวมทั้งหมด พบว่า การกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส โควิด-19 มีน้อยกว่าการกลายพันธุ์ของไข้หวัดใหญ่ถึง 5 เท่าและจากลักษณะการกลายพันธุ์ พบว่ามีแนวโน้มที่ทุกการกลายพันธุ์ก่อให้เกิดความรุนแรงของโรคลดลง ซึ่งในอนาคตลักษณะของโรคจะเปรียบเทียบเหมือนไข้หวัดชนิดหนึ่ง.


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง