ไม่ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนแปลงไปมากเพียงใด แต่คำกล่าวที่ว่า 'ห้องสมุดคือแหล่งเรียนรู้ที่ดีที่สุดในโลก' ก็ยังคงเป็นเรื่องจริงอยู่เสมอ แม้เราจะมีคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตสำหรับสืบค้นข้อมูล แต่เราก็ต้องยอมรับว่า ทุกอย่างที่อยู่ในหนังสือไม่สามารถบรรจุลงไปในโลกออนไลน์ได้หมดอย่างแน่นอน นั่นจึงทำให้ทุกวันนี้ยังคงมีตำราหายากอีกหลายเล่ม ที่คนทั่วโลกต่างแสวงหามาครอบครองเป็นสมบัติของตนเองรูปภาพโดย Christian Wiediger : Unsplashอันที่จริงคำว่า ห้องสมุด ในภาษาไทย ช่างขัดแย้งกับลักษณะของสถานที่เสียเหลือเกิน ชื่อว่าห้องสมุด แต่บางครั้งเรากลับไม่พบสมุดสักเล่ม จะมีก็แต่หนังสือเป็นตั้ง ๆ ที่อ่านเท่าไรก็อ่านไม่หมด แต่ที่เราเห็นว่าห้องสมุดแต่ละแห่งในบ้านเรามีหนังสือจำนวนมากแล้ว ก็ยังเทียบไม่ได้กับห้องสมุดอีกหลายแห่งบนโลกนี้ ที่รวบรวมหนังสือทั้งเก่าและใหม่มาไว้ที่เดียวกัน จนทำให้ห้องสมุดแบบไทย ๆ ดูเป็นสถานที่ที่ไม่เป็นห้องสมุดสมชื่อเอาเสียเลยหลายคนสงสัยว่าทำไมห้องสมุดของไทยไม่เน้นหนังสือ ความจริงต้องย้อนไปไกลเช่นกัน ด้วยความที่ห้องสมุดไทยกับห้องสมุดเทศมีที่มาต่างกัน ห้องสมุดในโลกตะวันตกนั้น กำเนิดขึ้นก่อนบ้านเราเป็นเวลายาวนาน รับแนวคิดมาโดยตรงจากอารยธรรมโบราณที่รุ่งเรือง แนวคิดการสร้างห้องสมุดในโลกตะวันตก ได้มาจากห้องสมุดแห่งแรกของโลกคือ ห้องสมุดอเล็กซานเดรีย ตั้งอยู่ที่เมืองอเล็กซานเดรีย ประเทศอียิปต์รูปภาพโดย Iva Rainha : Unsplashต้องค่อย ๆ จินตนาการต่อไปจากหลักฐานที่ปรากฎให้เห็นในปัจจุบัน ไม่ใช่ว่าห้องสมุดอเล็กซานเดรียจะเก็บหนังสือไว้เป็นเล่ม ๆ เพราะแน่นอนว่าการพิมพ์โดยใช้เครื่องพิมพ์ยังไม่เกิดขึ้น แต่ก็ต้องยอมรับว่าอียิปต์เป็นอารยธรรมที่เริ่มมีเทคโนโลยีการเขียน มีอักษรใช้เป็นของตัวเอง ประกอบกับการผลิตกระดาษกำลังเป็นเรื่องใหม่ของสังคมมนุษย์ จึงเริ่มมีการบันทึกเรื่องราวจัดเก็บไว้เป็นคลังข้อมูล มีบรรณารักษ์ มีพื้นที่จัดเก็บพวกโบราณวัตถุ มีพื้นที่สำหรับถกเถียงข้อมูล บรรยากาศห้องสมุดในยุคนั้นจึงไม่เงียบเชียบเหมือนทุกวันนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่นักปรัชญาหลายคนได้บรรยายเอาไว้ในหนังสือของพวกเขาห้องสมุดอเล็กซานเดรียถูกทำลายครั้งแรกด้วยฝีมือของจูเลียส ซีซาร์ แห่งกรุงโรมัน ในยุคการปกครองของพระนางคลีโอพัตรา ส่วนครั้งที่สองถูกสั่งทำลายโดยพระสันตปาปา ธีโอฟีลุส เนื่องจากห้องสมุดถูกใช้เป็นแหล่งซ่องสุมของพวกนอกรีต ในแวดวงประวัติศาสตร์รู้กันดีว่า การเผาห้องสมุดอเล็กซานเดรียถือเป็นการทำลายภูมิปัญญาของมนุษยชาติ หลายประเทศในโลกตะวันตกจึงพยายามฟื้นฟูบรรยากาศของห้องสมุดแห่งนี้เอาไว้ในปัจจุบันรูปภาพโดย J Zamora : Unsplashย้อนกลับมาที่บ้านเรา ห้องสมุดแบบไทยไม่ได้รับแนวคิดมาจากห้องสมุดอเล็กซานเดรีย ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นคลังความรู้ของมวลมนุษยชาติ แต่ห้องสมุดบ้านเราพัฒนามาจากหอพระไตรปิฎกที่ตั้งอยู่ตามวัดวาอาราม หลายคนคงพอจะเห็นภาพ คนที่สามารถใช้พื้นที่หอพระไตรปิฎกได้ คงมีแต่พระสงฆ์กับคนที่บวชเรียน หนังสือที่เก็บไว้มีประเภทเดียวคือพระไตรปิฎก จึงไม่ต้องพูดถึงบรรยากาศที่ออกจะเงีบบเชียบเหมือนห้องพระ ไม่มีพื้นที่ให้มานั่งถกเถียงกันแบบห้องสมุดของตะวันตกรูปภาพโดย Gunnar Ridderström : Unsplashนี่จึงอาจจะเป็นที่มาของปัญหาที่ว่าคนไทยอ่านหนังสือน้อย เพราะความจริงแล้วทรัพยากรที่เรามีอาจไม่เพียงพอต่อความต้องการ อีกทั้งห้องสมุดส่วนใหญ่มีขนาดเล็ก ขาดพื้นที่ที่เปิดกว้าง และบรรยากาศไม่เอื้ออำนวยให้เราสามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้มากพอ ว่ากันตามความจริง ทั้งประเทศมีห้องสมุดที่ดูจะมีพื้นที่ใช้สอยครบครันตามหลักห้องสมุดที่ดีอยู่เพียงที่เดียว แต่จำนวนหนังสือก็ไม่ได้มีมากพอต่อความต้องการ จึงยังเป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญที่ขัดขวางการเรียนรู้ของคนไทยในยุคปัจจุบันรูปภาพหน้าปกโดย Guillaume Henrotte : Unsplash